แนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย
1.เหตุผลในการออกแนวปฏิบัติ
เนื่องจากปรากฎว่าประชาชนที่เป็นหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลได้รับความเดือดร้อนจากการติดตามทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในหลายลักษณะ ทั้งในกรณีที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเป็นผู้ติดตามทวงถามหนี้เอง และในกรณีที่มีการว่าจ้างบุคคลภายนอกเป็นผู้ติดตามทวงถามหนี้ ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกแนวปฏิบัติฉบับนี้ เพื่อให้การติดตามทวงถามหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้ประเภทใดนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วหรือไม่ มีมาตรฐานเดียวกันและไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน
การออกแนวปฏิบัติฉบับนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากหลักเกณฑ์เดิม กล่าวคือ ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ควรติดต่อกับลูกหนี้ในช่วงเวลาที่กำหนด มีการแสดงตนเมื่อติดตามทวงถามนี้ มีระบบการเก็บเงินและการเก็บรักษาความลับของลูกหนี้ ตลอดจนกำหนดวิธีการและภาษาที่ใช้ในการติดตามทวงถามหนี้ทีเหมาะสม นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้บริการผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจยังคงมีความรับผิดชอบต่อลูกหนี้และบุคคลภายนอก เสมือนเป็นผู้ดำเนินการเอง และควรมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ที่เหมาะสมและแจ้งให้ลูกหนี้ได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจควรมีนโยบาย ขั้นตอนในการรับและจัดการเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้ของลูกหนี้ที่เหมาะสมด้วย
2.ขอบเขตการบังคับใช้
แนวปฏิบัติฉบับนี้ใช้บังคับกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ทุกแห่ง
3.ประกาศและหนังสือเวียนที่ยกเลิก
ให้ยกเลิกหนังสือที่ ธปท. ฝนส.(21) ว.1796/2550 ลงวันที่ 14 กันยายน 2550 เรื่อง แนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้
4.เนื้อหา
4.1ในแนวปฏิบัติฉบับนี้
“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
4.2เนื้อหาสาระ
ในการดำเนินการติดตามทวงถามหนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจถือปฏิบัติหรือดูแลผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ถือปฏิบัติ ดังนี้
4.2.1แนวปฏิบัติทั่วไปในการติดตามทวงถามหนี้กับลูกหนี้
(1)เวลาและความถี่ในการติดต่อเพื่อการติดตามทวงถามหนี้
ในการติดต่อลูกหนี้เพื่อติดตามทวงถามหนี้ ให้ดำเนินการภายในเวลา 08.00 น. ถึง 20.00 น. ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ ให้ดำเนินการภายในเวลา 08.00 น. ถึง 18.00 น. ทั้งนี้ โดยมีความถื่ในการติดตามที่เหมาะสม
(2)การแสดงตัวเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดตามทวงถามหนี้
ให้ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้แสดงตัวต่อลูกหนี้ โดยแจ้งชื่อและวัตถุประสงค์ในการติดต่อให้ลูกหนี้ได้รับทราบอย่างถูกต้องเหมาะสม และในกรณีที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ติดต่อกับลูกหนี้โดยตรง (face to face) ให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้แสดงเอกสารซึ่งแสดงให้เห็นว่าตนได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบธุรกิจให้ติดตามทวงถามหนี้แทนด้วย
(3)วิธีการเรียกเก็บหนี้
(3.1) ไม่ให้เรียกเก็บหนี้จากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เช่น ญาติพี่ น้องหรือเพื่อนร่วมงาน เว้นแต่ได้รับการยินยอมจากลูกหนี้หรือเป็นสิทธิตามกฎหมาย
(3.2) ไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อนให้ลูกหนี้ชำระหนี้ เช่น ทำร้ายร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้
(3.3) ไม่ปลอมแปลง บิดเบือนข้อมูล เอกสารหรือแสดงท่าทางอันทำให้ลูกหนี้สำคัญผิด เช่น
(3.3.1) ไม่ปลอมแปลงหรือบิดเบือนว่าเป็นบุคคลอื่น หรือใช้ชื่ออื่นนอกเหนือจากชื่อจริง รวมถึงไม่ปลอมแปลงหรือบิดเบือนข้อมูลในการแสดงตัวหรืออำนาจหน้าที่ของผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ ไม่ใช้สัญลักษณ์หรือแสดงท่าทางเพื่อทำให้ลูกหนี้สำคัญผิดว่า มาจากหน่วยงานของรัฐ หรือบริษัทข้อมูลเครดิต
(3.3.2) ไม่ปลอมแปลง หรือบิดเบือนเพื่อให้ลูกหนี้สำคัญผิดว่าเอกสารเรียกเก็บหนี้ หรือเอกสารที่ใช้ในการติดต่อกับลูกหนี้นั้น ออกหรือได้รับอนุญาตหรือการรับรองจากหน่วยงานของรัฐหรือบริษัทข้อมูลเครดิต หรือทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดในสาระสำคัญทางกฎหมายของเอกสารดังกล่าว
(3.3.3) ไม่ปลอมแปลง บิดเบือน หรือแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับยอดหนี้เกินกว่าที่มีอยู่ตามกฎหมาย เช่น ประเภท จำนวน สถานะปัจจุบัน หรือค่าธรรมเนียมจากการเรียกเก็บหนี้ เป็นต้น หรือแสดงท่าทางอื่นใดอันเป็นเท็จเพื่อให้ลูกหนี้สำคัญผิดในการชำระหนี้
(3.4) ไม่ข่มขู่ หรือคุกคามในลักษณะที่ผิดกฎหมาย เช่น
(3.4.1) ข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย ทรัพย์สินหรือชื่อเสียงของลูกหนี้หรือของบุคคลอื่น หรือข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องด้วยความอันเป็นเท็จว่าลูกหนี้กระทำผิดกฎหมายหากไม่ชำระหนี้
(3.4.2) ข่มขู่ว่าจะเพิ่มค่าธรรมเนียมทนายความ ค่าสืบสวนค่าบริการในการติดตามทวงถามหนี้ ค่าบริการทางการเงิน หรือค่าธรรมเนียมอื่นใดซึ่งไม่สามารถเรียกเก็บได้จริงตามกฎหมาย
(3.4.3) ข่มขู่ว่าจะกระทำการใด ๆ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจและผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ไม่เจตนาที่จะกระทำหรือไม่สามารถกระทำได้จริงตามกฎหมาย
(3.4.4) ข่มขู่ว่าจะปลอมแปลงหรือเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับยอดหนี้ของลูกหนี้อันเป็นเท็จหรือข้อมูลอื่นเพื่อทำลายชื่อเสียงของลูกหนี้
(3.5) ไม่รบกวน หรือรังควานลูกหนี้โดยไม่มีเหตุอันสมควร เช่น
(3.5.1) การติดต่อทางโทรศัพท์หลายครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือทำให้โทรศัพท์ดังอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ลูกหนี้หรือบุคคลอื่นเกิดความรำคาญ
(3.5.2) การติดต่อด้วยโทรศัพท์กับลูกหนี้หรือบุคคลอื่นโดยไม่เปิดเผยชื่อ
(3.6) ไม่ใช้ภาษาหยาบคาย ข่มขู่ ดูหมิ่นหรือส่อให้เห็นถึงผลกระทบที่มีลักษณะเป็นการข่มขู่ลูกหนี้หรือผู้ทีเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ หรือทำให้ลูกหนี้สำคัญผิดว่าลูกหนี้ได้กระทำสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรมอันดีงาม
(4) การเก็บรักษาความลับของลูกหนี้
ให้ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ใช้ความระมัดระวังเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในการเก็บรักษาความลับของลูกหนี้ และไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ของลูกหนี้ระหว่างการติดต่อกับบุคคลอื่น เว้นแต่ได้รับการยินยอมจากลูกหนี้ เช่น
(4.1) ไม่เปิดเผยข้อความ หรือสัญลักษณ์ที่แสดงให้ทราบว่าลูกหนี้มีหนี้สิน ซึ่งมีเจตนาให้เข้าถึงได้เป็นการทั่วไปและทำให้ลูกหนี้เกิดความอับอาย เช่น การใช้ไปรษณียบัตร หรือโทรสาร
ทั้งนี้ในการติดต่อทางจดหมาย บริเวณด้านนอกซองจดหมายไม่ควรระบุข้อความหรือสัญลักษณ์อื่นใดอันแสดงให้ทราบว่าลูกหนี้มีหนี้สิน นอกเหนือจากที่อยู่และชื่อของผู้เรียกเก็บหนี้
(4.2) ในการติดต่อกับนายจ้างของลูกหนี้ ให้ติดต่อโดยมีความถี่ที่เหมาะสมเพื่อยืนยันการจ้างงานหรือที่อยู่ของลูกหนี้เท่านั้น กล่าวคือ สอบถามได้เฉพาะว่าลูกหนี้เป็นพนักงานอยู่หรือไม่ และต้องไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สินของลูกหนี้
(4.3) ในการติดต่อกับบุคคลในครอบครัวของลูกหนี้ ให้ติดต่อโดยมีความถี่และในสถานที่ที่เหมาะสม และต้องไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สินของลูกหนี้
(4.4) ไม่ควรติดต่อบุคคลอื่นเพื่อติดตามทวงถามหนี้นอกเหนือจากบุคคลที่กล่าวไว้ตามข้อ (4.2) และ (4.3) เว้นแต่เป็นการติดต่อเพื่อสอบถามที่อยู่ของลูกหนี้หรือได้รับคำยินยอมจากลูกหนี้
(5) การรับเงินจากลูกหนี้
ให้ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้มีระบบและหลักฐานการรับเงินจากลูกหนี้ทีเหมาะสมและมีผลในทางกฎหมาย
4.2.2การว่าจ้างผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้เรียกเก็บหนี้แทน
(1)การว่าจ้างผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้
(1.1)ในการใช้บริการผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องรับผิดชอบต่อลูกหนี้และบุคคลภายนอกเสมือนผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ดำเนินการเอง และต้องจัดให้มีการทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งดูแลการปฏิบัติงานของผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับที่ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการเอง
(1.2)ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบตั้งแต่ในเวลาที่ลูกหนี้ขอกู้เงินว่าจะใช้บริการบุคคลอื่นในการติดตามทวงถามหนี้รวมถึงระบุค่าใช้จ่ายที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว
(2)การคัดเลือกผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้
ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาเลือกผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ที่มีลักษณะการจัดตั้งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน และพิจารณาถึงประวัติของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน รวมถึงผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน และผู้จัดการ สถานะทางการเงิน ระบบการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของพนักงาน ระบบการเก็บรักษาความลับของลูกหนี้ตลอดจนเยี่ยมชมที่ทำการของผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ เป็นต้น รวมทั้งจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ว่าเป็นไปตามแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการพิจารณาต่อสัญญาการว่าจ้างบริการของผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้
ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจติดตามดูแลผลการดำเนินงานของผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้อย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ
(3)การให้ข้อมูลกับลูกหนี้
ในขั้นตอนติดตามทวงถามหนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งหรือดูแลให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้แจ้งให้ลูกหนี้ทราบล่วงหน้าถึงการมอบหมายให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้เป็นผู้ดำเนินการแทนและต้องจัดส่งเอกสารยืนยันยอดหนี้ให้กับลูกหนี้ ที่มีรายละเอียดอย่างน้อยดังนี้
(3.1) จำนวนเงินและระยะเวลาที่ค้างชำระ
(3.2) หมายเลขโทรศัพท์เพื่อใช้การติดต่อทีเกี่ยวข้องกับการชำระหนี้
(3.3) ค่าใช้จ่ายในการเรียกเก็บหนี้ (ถ้ามี)
(3.4) สิทธิ วิธี และสถานที่ในการร้องเรียนของลูกหนี้
(3.5) สิทธิของลูกหนี้ในการเลือกชำระหนี้กับผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งก็ได้ ในกรณีที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ได้รับจ้างจากผู้ประกอบธุรกิจหลายรายให้เรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้รายเดียวกัน (ถ้ามี)
4.2.3 การจัดระบบในการรับติดต่อและรับข้อร้องเรียนจากลูกหนี้
(1) ให้ผู้ประกอบธุรกิจมีนโยบาย ขั้นตอนในการรับและจัดการเรื่องร้องเรียนทีเกี่ยวข้องกับการติดตามทวงถามหนี้ของลูกหนี้ที่เหมาะสม ตลอดจนจัดให้มีการนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงได้รับทราบเป็นระยะ
(2) ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดระบบให้ลูกหนี้ติดต่อและร้องเรียนได้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อรองรับประเด็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
5. วันเริ่มต้นบังคับใช้
แนวปฏิบัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป