ความรับผิดของผู้ขนส่งของทางทะเล|ความรับผิดของผู้ขนส่งของทางทะเล

ความรับผิดของผู้ขนส่งของทางทะเล

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

ความรับผิดของผู้ขนส่งของทางทะเล

ผู้ขนส่งของทางทะเล ส่งมอบสินค้าให้ผู้สั่งซื้อ ซึ่งมิใช่ผู้รับตราส่ง ถือว่าเป็นการส่งมอบที่มิชอบด้วยกฎหมาย

บทความวันที่ 25 พ.ย. 2554, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 12863 ครั้ง


ผู้ขนส่งของทางทะเล ส่งมอบสินค้าให้ผู้สั่งซื้อ  ซึ่งมิใช่ผู้รับตราส่ง  ถือว่าเป็นการส่งมอบที่มิชอบด้วยกฎหมาย

 

ตัวบทกฎหมายอ้างอิง

พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534

          มาตรา 3  ในพระราชบัญญัตินี้
         “ผู้ขนส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ โดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ

          มาตรา 28 เมื่อได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้แล้ว ผู้รับตราส่งจะเรียกให้ส่งมอบของได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่งนั้นแก่ผู้ขนส่งหรือให้ประกันตามควร

          มาตรา 39  ภายใต้บังคับมาตรา 51 มาตรา 52 มาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 55 มาตรา 56 และมาตรา 58 ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของ สูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบชักช้า ถ้าเหตุแห่งการสูญหาย เสียหาย หรือการส่งมอบชักช้านั้นได้เกิดขึ้นในระหว่างที่ของดังกล่าวอยู่ในความดูแลของตน
          เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของนั้นไว้จากผู้ส่งของ หรือตัวแทนผู้ส่งของหรือจากเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าต้นทางที่บรรทุกของลงเรือกำหนดให้ผู้ส่งของต้องมอบของที่จะขนส่งไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าวจนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้น ณ ท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 40

          มาตรา 43  แม้ว่าผู้ขนส่งจะได้มอบหมายให้ผู้ขนส่งอื่นทำการขนส่งของที่ตนรับขน ผู้ขนส่งก็ยังคงต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งของนั้น และจะต้องรับผิดเพื่อการกระทำของผู้ขนส่งอื่นรวมทั้งลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งอื่น ซึ่งได้กระทำไปภายในทางการที่จ้าง หรือภายในขอบอำนาจของการเป็นตัวแทนนั้นด้วย

          มาตรา 46  ภายใต้บังคับมาตรา 47 และมาตรา 48 สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของ หรือถ้าไม่มีการส่งมอบนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดส่งมอบตามมาตรา 41 (1)หรือนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดเวลาอันสมควรตามมาตรา 41 (2)ให้เป็นอันขาดอายุความ

          มาตรา 58  ภายใต้บังคับมาตรา 60 ในกรณีที่ของซึ่งผู้ขนส่งได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งหรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น แล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า
           ในกรณีที่คำนวณราคาของที่สูญหายหรือเสียหายได้ตามมาตรา 61 และปรากฏว่า ราคาของนั้นต่ำกว่าที่จำกัดความรับผิดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเอาตามราคาที่คำนวณได้นั้น
          ในกรณีที่มีการส่งมอบของชักช้า ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงสองเท่าครึ่งของค่าระวางแห่งของเฉพาะที่ส่งมอบชักช้า แต่รวมกันต้องไม่เกินค่าระวางทั้งหมดตามสัญญารับขนของทางทะเล
          ในกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดทั้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสามโดยมีหน่วยการขนส่งเดียวกันเป็นมูลแห่งความรับผิด ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 447/2521
     จำเลยตัวแทนของบริษัท บี. ซึ่งมีภูมิลำเนาในต่างประเทศรับจ้างขนส่งสินค้าของโจทก์ทางทะเล เพื่อส่งให้แก่บริษัท เอ. ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในใบตราส่งระบุให้ธนาคาร เอ็ม. เป็นผู้รับใบตราส่งเมื่อสินค้าไปถึงท่าเรือปลายทางบริษัท บี. ได้มอบสินค้าให้แก่ตัวแทนบริษัท เอ. ไปโดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่ง และบริษัท เอ. ก็มิใช่ผู้รับใบตราส่งหรือผู้ทรงใบตราส่ง เช่นนี้ แม้ผู้รับสินค้าจะได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาค้ำประกันในการรับสินค้าไป การส่งมอบสินค้าดังกล่าวของบริษัท บี.ก็ยังเป็นการไม่ชอบและเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์
เมื่อตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศมิได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งหรือทรงใบตราส่งโดยชอบ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศย่อมต้องรับผิดตามสัญญารับขนแต่ลำพังตนเอง
กฎหมายและกฎข้อบังคับของประเทศไทยว่าด้วยการรับขนของทางทะเลยังไม่มีการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีผิดสัญญารับขนทางทะเลจึงใช้อายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2541
     บรรดาหน้าที่และความรับผิดอันเกิดจากการซื้อขายสินค้ามีผลบังคับระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายกับบริษัทอ. ซึ่งเป็นผู้ซื้อ หามีผลใด ๆ เกี่ยวข้องถึงจำเลยซึ่ง เป็นผู้รับขนไม่ โจทก์จำเลยทำสัญญารับขนของกันเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2534 ซึ่งขณะนั้น พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 ยังมิได้ใช้บังคับ กรณีจำต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1มาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม มาตรา 4 ซึ่งมาตรา 612 และ 613 ได้บัญญัติ ถึงรูปแบบและเหตุที่ต้องทำใบกำกับของและใบตราส่งไว้ทั้งนี้ หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่บังคับให้ต้องทำใบกำกับของและใบตราส่งเสมอไป แต่หากเมื่อใดที่มีการทำใบตราส่งให้แก่กันแล้วจะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะอย่างชัดแจ้งว่า ผู้ขนส่งกับผู้รับตราส่งจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อกันจึงจะรับของไปได้ ซึ่งจะเป็นไปตาม มาตรา 615 ที่บัญญัติว่า ถ้าได้ทำใบตราส่งให้แก่กันท่านว่าของนั้นจะรับมอบเอาไปได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่งหรือเมื่อผู้รับตราส่งให้ประกันตามควร ดังนั้น เมื่อจำเลยได้ออกใบตราส่งให้แก่โจทก์ และจำเลยได้ส่งสินค้ารายนี้ให้แก่บริษัทอ.แล้วโดยบริษัทอ.ไม่ได้เวนคืนใบตราส่งให้แก่จำเลย หรือให้ประกันตามควร อีกทั้งไม่มีคำสั่งของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง เมื่อจำเลยกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 615จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ส่งสินค้าเรียกให้จำเลยผู้รับขนรับผิด เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขน ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่บริษัทอ.ผู้ซื้อโดยที่บริษัทดังกล่าวไม่ได้เวนคืนใบตราส่ง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะคู่สัญญาให้ใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์มิได้ฟ้องในข้อความรับผิดของจำเลยในการที่ของสูญหายหรือบุบสลาย หรือส่งล่าช้า แต่เป็นการฟ้องว่าจำเลย ปฏิบัติผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหายกรณีไม่อยู่ภายใต้บังคับกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624แต่มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5736/2544

     โจทก์ผู้รับตราส่งฟ้องจำเลยผู้ขนส่งให้รับผิด เนื่องจากจำเลยมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534และสัญญารับขนของทางทะเลที่จะต้องนำสินค้าที่รับขนไปส่งมอบให้แก่โจทก์และรับเวนคืนใบตราส่ง แต่จำเลยไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ กลับส่งมอบให้ผู้ซื้อโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่ง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขนของทางทะเล แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะกล่าวอ้างมูลละเมิดมาด้วย แต่เมื่อจำเลยผิดสัญญารับขนของทางทะเลและโจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายอันเกิดจากมูลผิดสัญญาได้ จึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3959/2545
    พฤติกรรมของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่เข้าเป็นตัวการในการทำสัญญาขนส่งกับผู้ส่งด้วยตนเองในการจัดการขนส่งต่อเนื่องจากลานวางตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบังจนถึงลานวางตู้สินค้าท่าเรือซานเตา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น เข้าลักษณะเป็นผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ที่บัญญัติไว้ว่า"ผู้ขนส่ง" หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเล เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติโดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่ามีการขนส่งหลายช่วง และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งช่วงสุดท้ายแต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดเพื่อการกระทำของผู้ขนส่งอื่น ตามพระราชบัญญัติรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 43 หากผู้ขนส่งอื่นประพฤติผิดสัญญาขนส่ง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ขนส่งอื่นมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่จำเลยที่ 1โดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่งอันเป็นการประพฤติผิดบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 และ 28 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับชำระราคาสินค้าที่ขนส่ง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในเที่ยวที่ตนรับขนส่งแก่โจทก์นับแต่วันผิดสัญญาเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2546
     จำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งและได้ทำสัญญารับขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์แทนผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ มิใช่เป็นเพียงนายหน้าในการรับจองระวางเรือจำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 แม้จำเลยจะไม่ใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นเมื่อผู้ขนส่งผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้ถึงเมืองปลายทางแต่ปล่อยให้สินค้าไปตกค้างระหว่างทางเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการที่สินค้าตกค้างที่เมืองท่าดูไบและค่าระวางการขนส่งจากเมืองท่าดูไบไปยังเมืองท่าปลายทางตูนิส จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2535 มาตรา 58 ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ของซึ่งผู้ขนส่งได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายเท่านั้น แต่กรณีที่ผู้ขนส่งผิดสัญญาไม่ส่งของไปยังเมืองท่าปลายทางตามสัญญามิใช่เป็นกรณีของสูญหายหรือเสียหาย จึงไม่อาจนำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งมาใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7633/2547
     จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญาตามป.พ.พ. มาตรา 824 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นบริษัทในเครือเดียวกับจำเลยที่ 1 มีกรรมการของบริษัท จำนวนและรายชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้เป็นบุคคลชุดเดียวกัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลและทำกิจกรรมแยกต่างหากจากกันโดยจำเลยที่ 1 รับผิดชอบเกี่ยวกับการขนส่งไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนจำเลยที่ 2 รับผิดชอบเกี่ยวกับการขนส่งในทวีปเอเชีย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงนามในใบตราส่งแทนจำเลยที่ 3 ไว้ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลร่วมกับจำเลยทที่ 3
ใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 3 ออกให้แก่โจทก์ระบุว่า ผู้รับตราส่งคือตามคำสั่งธนาคาร ค. จึงเป็นเงื่อนไขในสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 รับที่จะส่งมอบสินค้าของโจทก์ให้แก่ธนาคาร ค. หรือตามคำสั่งของธนาคาร ค. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งต่อเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนใบตราส่งแล้ว บริษัทผู้ซื้อจะเรียกให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบสินค้าให้แก่ตนได้ต่อเมื่อบริษัทผู้ซื้อได้ชำระราคาสินค้าให้แก่ธนาคาร ค. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง และธนาคาร ค. สลักหลังโอนส่งมอบใบตราส่งให้แก่บริษัทผู้ซื้อ เพื่อบริษัทผู้ซื้อจะได้นำใบตราส่งมาเป็นหลักฐานแลกรับเอาสินค้าจากจำเลยที่ 3 อันเป็นวิธีปฏิบัติในการชำระราคาสินค้าในการซื้อขายระหว่างประเทศ การที่จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าของโจทก์ให้แก่บริษัทผู้ซื้อโดยมิได้รับเวนคืนใบตราส่ง ย่อมเป็นการไม่ชอบและเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องร่วมกันชำระราคาสินค้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1

 เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

โดยคุณ นิ 18 พ.ย. 2559, 00:39

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก