ข้อกฎหมายที่ควรรู้เกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินต้องถูกริบรถตกเป็นของแผ่นดิน
รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติทางหลวงพ.ศ 2535 มาตรา 61 วรรค 1 มีบทลงโทษตาม มาตรา 73/2 จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วจะต้องถูกริบรถให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 33 เพราะเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด เมื่อศาลสั่งริบรถแล้วรถบรรทุก จะตกเป็นของแผ่นดินตามปอ. มาตรา 35 เมื่อคดีถึงที่สุด มาตรา 36 เจ้าของที่แท้จริง มีสิทธิขอคืนได้แต่ต้องไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 6260/2562) แต่คดีแบบนี้สามารถวิ่งเต้นได้ ต้องระวังการวิ่งเต้นเพราะรถบรรทุกราคา 3 ล้านกว่าบาท ติดตามกันต่อไปว่าจะมีการวิ่งเต้นล้มคดีหรือไม่ จากทนายเดชา สอบถามข้อกฎหมาย 02-948-5700
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6260/2562
ผู้ร้องมีรถบรรทุกของกลางไว้เพื่อประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางการเกษตร การที่ผู้ร้องกำชับจำเลยมิให้นำรถไปใช้ผิดกฎหมายหรือบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นเพียงวิธีการควบคุมเบื้องต้นและเป็นเรื่องภายในระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเท่านั้น แต่ผู้ร้องยังมีหน้าที่ตรวจตราโดยหาวิธีอื่นมาควบคุมมิให้จำเลยบรรทุกน้ำหนักเกินอีกด้วย และแม้จะฟังได้ว่ามีการนำรถบรรทุกของกลางไปตรวจชั่งน้ำหนักจริงก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างให้จำเลยไปตรวจชั่งน้ำหนักที่สถานที่ตรวจชั่งน้ำหนักของเอกชนซึ่งมีมาตรฐานแตกต่างกับทางราชการจนทำให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกินไปถึง 800 กิโลกรัมนั้น ส่อแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องปล่อยปละละเลยจนจำเลยขับรถบรรทุกของกลางบรรทุกมันสำปะหลังน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย
พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535
มาตรา 61 เพื่อรักษาทางหลวง ผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามใช้ยานพาหนะบนทางหลวงโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย
ประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงตามวรรคหนึ่งต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมทางหลวง สำหรับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน หรือได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมทางหลวงชนบทสำหรับทางหลวงชนบท หรือได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับทางหลวงท้องถิ่น
ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุเกิดขึ้นทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงหรือไม่ปลอดภัยแก่การจราจรในทางหลวง ให้เจ้าพนักงานซึ่งผู้อำนวยการทางหลวงแต่งตั้งให้ควบคุมทางหลวงมีอำนาจประกาศห้ามใช้ยานพาหนะบนทางหลวงนั้นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้ปิดประกาศนั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ บริเวณที่มีเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุเกิดขึ้นนั้น
มาตรา 73/2 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 59 วรรคหนึ่ง หรือฝ่าฝืนประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง หรือประกาศของเจ้าพนักงานซึ่งผู้อำนวยการทางหลวงแต่งตั้งให้ควบคุมทางหลวงตามมาตรา 61 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 33 ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
(1) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ
(2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด
เว้นแต่ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
มาตรา 36 ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานแต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด
#ปรึกษาคดี โทร.02-9485700, 081-8217470, 081-6252161