แจ้งความเท็จ ร้องเรียนเท็จ
วันนี้ทนายคลายทุกข์ขอนำเสนอเกี่ยวกับการแจ้งความเท็จและการร้องเรียนเท็จ เพื่อดำเนินคดีทางวินัยกับข้าราชการ การร้องเรียนหรือการแจ้งความต้องร้องเรียนตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎหรือมีอยู่จริง หากบิดเบือน ใส่ร้าย ปั้นแต่ง เพื่อต้องการให้บุคคลอื่นเสียหาย ผู้แจ้งมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ จึงต้องระมัดระวังในการแจ้งความหรือร้องเรียน ต้องกระทำโดยสุจริต
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
1.มอบอำนาจให้ผู้อื่นแจ้งความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9556/2558
การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ ป.พ.พ. มาตรา 1145 และมาตรา 1146 กำหนดว่าจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการลงมติพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการประชุมใหญ่โดยมีคำบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษ และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องจัดให้ไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ และเหตุที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องนำเรื่องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก กรณีที่จำต้องใช้เอกสารยืนยันภูมิลำเนาคือ สำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคลเป็นพยานหลักฐานที่มีการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งกิจการของบริษัท บ. ก็มิได้เป็นเพียงนิติบุคคลที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวข้องแต่เฉพาะบุคคลในเครือญาติของจำเลย หากแต่ต้องติดต่อกับนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นด้วย จำเลยจะอ้างความเคยชิน และความไว้วางใจระหว่างเครือญาติของจำเลยมาเป็นข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้
การที่จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และแจ้งย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท บ. ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยอ้างว่าจำเลยได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2552 โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งมอบให้ผู้ถือหุ้น และที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจากเดิมที่ตั้งอยู่กรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดราชบุรีโดยไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267
2.ร้องเรียนวินัยเป็นเท็จ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2530
ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรและผู้บัญชาการตำรวจภูธรต่างมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการทางวินัยต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ฉะนั้น หากข้อความในหนังสือที่จำเลยร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ดังกล่าวเป็นเท็จ จำเลยย่อมมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137(อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2518)
การที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173,174 ผู้แจ้งจะต้องมีเจตนาที่จะให้เจ้าพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษในทางอาญา แต่การที่จำเลยทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์นั้นเห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ มิได้เจตนาที่จะให้ดำเนินการเอาความผิดแก่โจทก์ในคดีอาญาการกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173,174.
3. แจ้งความเท็จต้องเป็นการแจ้งความในข้อเท็จจริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2465/2555
จำเลยแจ้งข้อเท็จจริงโดยเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทกับ ส. มีการชำระเงินค้างชำระจำนวนเท่าใด จนกระทั่งในวันเกิดเหตุจำเลยได้นำรถยนต์ไปพบโจทก์และ ส. เพื่อทำความตกลงกันและ ส. ได้ยึดรถยนต์คันดังกล่าวไว้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นความจริงที่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างยอมรับมิได้มีข้อความใดที่จำเลยกล่าวอ้างอันเป็นเท็จหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจึงตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะการแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะไม่ได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ตามที่จำเลยแจ้งก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ และถึงแม้จำเลยจะแจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ และส. ในข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์ ก็น่าเชื่อว่าเป็นการที่จำเลยกล่าวอ้างไปตามความเข้าใจของตน ส่วนการกระทำตามที่จำเลยแจ้งจะเป็นความผิดดังกล่าวหรือไม่เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานใด
4. ความเท็จต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือปัจจุบัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2550/2529
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ได้ความว่าการที่จำเลยไปแจ้งว่าชายคนที่ไปร้านของจำเลยคือโจทก์นั้นก็เป็นการแจ้งไปตามคำบอกเล่าของเด็กที่อยู่ในร้านโจทก์มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงให้ปรากฏในคำฟ้องว่าเด็กในร้านมิได้บอกกับจำเลยเช่นนั้นอันจะทำให้เห็นว่าข้อที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นเท็จเมื่อฟังไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นเท็จแล้วการแจ้งความของจำเลยก็ไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา137.