การซื้อขายลิขสิทธิ์เด็ดขาด|การซื้อขายลิขสิทธิ์เด็ดขาด

การซื้อขายลิขสิทธิ์เด็ดขาด

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

การซื้อขายลิขสิทธิ์เด็ดขาด

  • Defalut Image

 ช่วงนี้มีข่าวนายห้างประจักษ์ชัย ไหทองคำ และอาม ชุติมา โต้เถียงกันเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายลิขสิทธิ์

บทความวันที่ 25 ต.ค. 2561, 09:51

มีผู้อ่านทั้งหมด 2108 ครั้ง


การซื้อขายลิขสิทธิ์เด็ดขาด

           ช่วงนี้มีข่าวนายห้างประจักษ์ชัย ไหทองคำ และอาม ชุติมา โต้เถียงกันเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายลิขสิทธิ์ และสิทธิ์ของนักแสดง ทนายคลายทุกข์จึงขอนำความรู้เกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายลิขสิทธิ์มานำเสนอ การซื้อขายลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต้องทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ และถ้าจะซื้อขายลิขสิทธิ์ทั้งหมด แบบเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ก็ต้องเขียนให้ชัดเจน ไม่ให้เป็นปัญหาต้องมาตีความกันในภายหลัง ส่วนเรื่องค่าตอบแทนนั้นก็ต้องตกลงกันให้ชัดเจน เพราะถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาซื้อขาย หากมีการซื้อขายลิขสิทธิ์ด้วยและมีข้อตกลงแบ่งผลกำไร ศาลฎีกาเคยตัดสินว่าไม่ใช่การซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่อาจจะเป็นการซื้อขายเฉพาะคราว ลองศึกษาฎีกาข้างล่างนี้  
ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7328/2544 (สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาสำเร็จรูป แต่ไม่กรอกสาระสำคัญในสัญญา)

                แม้สัญญาพิพาทที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ร่วมกันจัดทำขึ้นจะระบุว่าเป็น "สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลง" ก็ตาม แต่การซื้อขายนั้นราคาของทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาอย่างหนึ่ง สัญญาพิพาทเป็นแบบพิมพ์สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงที่โจทก์พิมพ์สำเร็จไว้แล้วเพื่อนำมากรอกข้อความตามที่ตกลงกันเท่านั้น ซึ่งนอกจากไม่ได้กรอกข้อความในช่องวันเดือนปีที่ทำสัญญาแล้ว ในช่องราคาที่ตกลงซื้อขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงต่าง ๆ รวมทั้งเพลงพิพาทที่ ป. ผู้จดการห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์เบิกความว่า ตกลงกันเป็นเงิน 200,000บาทนั้น ก็มิได้ระบุจำนวนเงินไว้ ยิ่งกว่านั้นสัญญาพิพาทยังมีข้อความหมายเหตุไว้ท้ายสัญญาว่า "เพลงสุรพล สมบัติเจริญ ร้องไว้ขอให้เป็นสุรชัย สมบัติเจริญ ร้องแต่ถ้าหากว่าจะนำไปให้นักร้องอื่นร้อง ทางห้างจะมีการขอกันในกรณีพิเศษเป็นลายลักษณ์อักษร" โดยมีลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 ลงกำกับไว้ ซึ่งความหมายของข้อความตามหมายเหตุดังกล่าวย่อมเห็นได้ชัดว่า โจทก์ยังมิได้มีลิขสิทธิ์ในงานเพลงรวมทั้งเพลงพิพาทที่โจทก์อ้างว่าได้ตกลงซื้อขายลิขสิทธิ์กันแล้วตามบัญชีรายชื่อเพลงแนบท้ายสัญญาพิพาทในฐานะเป็นผู้รับโอนลิขสิทธิ์แต่อย่างใดเพราะหากมีการซื้อขายลิขสิทธิ์กันแล้วตามสัญญาพิพาท โจทก์ก็ย่อมได้สิทธิในงานเพลงนั้นทั้งหมด ไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องไปตกลงขอใช้สิทธิในลิขสิทธิ์จากจำเลยที่ 3 เป็นกรณีพิเศษกันอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7713/2540 (ซื้อขายลิขสิทธิ์แต่มีการกำหนดเรื่องส่วนแบ่งกำไรกัน แสดงว่าไม่ได้ซื้อขายโอนสิทธิเด็ดขาด)
              หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ.กับเรื่อง ก. มีหมายเหตุต่อท้ายสัญญาไว้ว่า "ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่สามารถที่จะสร้างภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ได้ ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะขายบทประพันธ์ทั้งสองเรื่องนี้ให้แก่ผู้อื่นได้ แต่จะต้องแบ่งส่วนแบ่งผลกำไรในการซื้อขายบทประพันธ์ให้แก่ผู้ซื้อครึ่งหนึ่ง ผลกำไรในที่นี้หมายถึงเงินซึ่งหักออกจากต้นทุนของผู้ซื้อเสียก่อน" เช่นนี้แสดงว่าโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาซื้อและขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องดังกล่าวในลักษณะโอนลิขสิทธิ์เด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไป หากแต่เป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์เป็นการเฉพาะคราวเพื่อให้โจทก์ที่ 1 นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ และนำไปออกรายการวิทยุและโทรทัศน์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่โจทก์ที่ 1 ได้นำนวนิยายเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายเผยแพร่แล้ว สิทธิในนวนิยายของโจทก์ที่ 1 ในนวนิยายเรื่องดังกล่าวจึงเป็นอันระงับไป โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะโอนสิทธิหรืออนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดนำนวนิยายเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ต่อหรือซ้ำได้อีก จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 2 นำบทประพันธ์นวนิยายเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์โทรทัศน์หรือเทปบันทึกเสียงได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4076/2533 (วินิจฉัยว่าไม่เคยขายลิขสิทธิ์)
             จำเลยทั้งสองซื้อภาพพิพาทไปจากโจทก์ทั้งสอง โดยโจทก์ทั้งสองไม่เคยขายลิขสิทธิ์ภาพพิพาทให้จำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองนำภาพพิพาทที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสองไปพิมพ์บัตรอวยพรปีใหม่จำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสองถือว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5941/2541 (ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นการโอนทั้งหมดและเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์) 
              เมื่อสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์บทเพลงพิพาทของโจทก์ทำขึ้นในระหว่างที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นในระหว่างนั้นกรณีต้องบังคับตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ดังกล่าว ข้อความตามสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงที่พิพาทที่ทำขึ้นในระหว่างที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ใช้บังคับระบุว่า ผู้ประพันธ์ตกลงโอนขายและห้างตกลงซื้อลิขสิทธิ์เพลงตามที่ระบุในสัญญา การโอนขายนี้จึงเป็นการโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมดและเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์และบทเพลงพิพาทเป็นงานดนตรีกรรม ซึ่งไม่ต้องบังคับตามมาตรา 18 และมาตรา 19 ข้อสัญญาดังกล่าว จึงมีความหมายว่า เป็นการโอนลิขสิทธิ์ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 วรรคแรกเมื่อปรากฏว่าขณะพิจารณาคดีนี้ ค.ผู้สร้างสรรค์บทเพลงพิพาทยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมมีลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับดังกล่าวนี้ได้ โจทก์ซื้อลิขสิทธิ์บทเพลงพิพาทรวมกับบทเพลงอื่นจากด.ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ แต่เหตุที่จำเลยนำบทเพลงพิพาทไปบันทึกเสียงเนื่องจากจำเลยเข้าใจว่าตนมีสิทธิในลิขสิทธิ์เพลงพิพาทดีกว่าโจทก์ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนากระทำผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2525 (ในสัญญาไม่ปรากฏข้อความโอนลิขสิทธิ์ชัดเจน)
                โจทก์ร่วมซื้อฟิล์มภาพยนตร์เรื่องหนึ่งจาก ว.ซึ่งซื้อมาจากอ. ผู้สร้างสรรค์อีกทอดหนึ่ง โดยในสัญญาไม่ปรากฏข้อความที่แสดงให้เห็นว่า อ.ได้โอนขายลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้นให้ว. โจทก์ร่วมจึงมิใช่เจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้รับโอนลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์เรื่องนั้น ดังนั้นเมื่อจำเลยนำฟิล์มภาพยนตร์อีกก๊อปปี้หนึ่งเรื่องเดียวกันให้เช่าและมีผู้นำออกฉายจึงมิได้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2219/2531 (ซื้อขายกันในราคาถูก น่าเชื่อว่าขายเป็นภาพๆไป ไม่ใช่โอนลิขสิทธิ์ทั้งหมด)
               โจทก์ร่วมขายภาพวาดสีน้ำมันขนาด 12 นิ้วฟุตคูณ 15 นิ้วฟุตอันเป็นงานจิตรกรรมซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ราคาเพียงภาพละ 300 บาท ให้ อ. และ ม. ดังนี้ เชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมขายภาพดังกล่าวเป็นภาพ ๆ ไป หาได้ขายลิขสิทธิ์ในภาพให้ไปด้วยไม่ ถ้าโจทก์ร่วมอนุญาตให้นำภาพดังกล่าวไปพิมพ์ได้ก็จะต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้เมื่อจำเลยที่ 1ที่ 2 ได้ทำซ้ำซึ่งภาพวาดนั้นเป็นบัตรอวยพร ปีใหม่ออกจำหน่ายแก่ประชาชนโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วม จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม
การซื้อขายลิขสิทธิ์มีข้อกฎหมายที่ซับซ้อนพอสมควร ก่อนทำการซื้อขายควรมีที่ปรึกษากฎหมายให้คำแนะนำนะครับ 
 

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก