เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ทนายคลายทุกข์โดยทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความอาวุโส
บทความวันที่ 30 พ.ย. 2559, 00:00
มีผู้อ่านทั้งหมด 5312 ครั้ง
กฎหมายจราจรกับรถจักรยานยนต์
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ทนายคลายทุกข์โดยทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความอาวุโส ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในรายการต่างคนต่างคิด ทางอัมรินทร์ทีวี ช่อง 34 ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ ต้องขับชิดซ้ายเท่านั้น ตามมาตรา 35 และถ้าฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามมาตรา 157 ปรับ 400 – 1,000 บาท ถ้าเป็นทางหลวงในต่างจังหวัดต้องวิ่งบนไหล่ทางเท่านั้น การจะวิ่งขวาได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถเดินรถในช่องทางซ้ายเท่านั้น และต้องกลับเข้าด้านซ้ายเหมือนเดิม มิฉะนั้นจะถูกจับปรับ นอกจากนี้เจ้าพนักงานจราจรในกรุงเทพมหานคร หมายถึง ผู้บังคับการตำรวจนครบาล มีอำนาจออกข้อบังคับจราจรตามมาตรา 139 หากผู้ใดฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามมาตรา 154 ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท ซึ่งที่ผ่านมาผู้บัญชาการตำรวจนครบาล โดยรองผู้บังคับบัญชาตำรวจนครบาลดูแลงานจราจร ได้ออกข้อบังคับจราจรเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ฉบับถาวร ห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพาน 39 สะพาน 5 อุโมงค์ทางลอดในกรุงเทพมหานคร โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ได้สร้างไว้รองรับรถจักรยานยนต์ซึ่งมีความเร็วต่ำ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร รถจักรยานยนต์จึงไม่สามารถขึ้นสะพานหรือลอดอุโมงค์ได้ ตำรวจจราจรขับขี่รถจักรยานยนต์มีไฟวับวาบ เป็นรถฉุกเฉินไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เพราะเป็นรถฉุกเฉินตามมาตรา 4 (19) ประกอบมาตรา 75 จึงขับรถย้อนศรได้ เพราะเป็นสิทธิของตำรวจจราจรที่กฎหมายกำหนดไว้
ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1.รถฉุกเฉิน
มาตรา 4 (19) “รถฉุกเฉิน” หมายความว่า รถดับเพลิงและรถพยาบาลของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรถอื่นที่ได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่จะกำหนดให้
ตำรวจจราจรไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
มาตรา 4 (37) “เจ้าพนักงานจราจร” หมายความว่า ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานจราจร
มาตรา 75 ในขณะที่ผู้ขับขี่ขับรถฉุกเฉินไปปฏิบัติหน้าที่ ผู้ขับขี่มีสิทธิดังนี้
(1) ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้
(2) หยุดรถหรือจอดรถ ณ ที่ห้ามจอด
(3) ขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้
(4) ขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใด ๆ ที่ให้รถหยุด แต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควร
(5) ไม่ต้องปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือข้อบังคับการจราจรเกี่ยวกับช่องเดินรถ ทิศทางของการขับรถหรือการเลี้ยวรถที่กำหนดไว้
ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี
[คำว่า “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2559]
2.เจ้าพนักงานจราจร
มาตรา 4 (37) “เจ้าพนักงานจราจร” หมายความว่า ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานจราจร
มาตรา 35 อำนาจของเจ้าพนักงานจราจร ในการออกข้อบังคับจราจร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมอบหมายให้รองผู้บัญชาตำรวจนครบาลดูแลงานจราจร โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 7 กันยายน 2555 ให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร
มาตรา 139 ในทางสายใดหรือเฉพาะทางตอนใดที่เจ้าพนักงานจราจรเห็นว่าถ้าได้ออกประกาศข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการจราจรแล้วจะเป็นการปลอดภัย และสะดวกในการจราจร ให้เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจออกประกาศข้อบังคับ หรือระเบียบดังต่อไปนี้
(1) ห้ามรถทุกชนิดหรือบางชนิดเดิน
(2) ห้ามหยุดหรือจอด
(3) ห้ามเลี้ยวรถ กลับรถ หรือถอยหลังรถ
(4) กำหนดให้รถเดินได้ทางเดียว
(5) กำหนดระยะเวลาจอดรถในทางแคบหรือที่คับขัน
(6) กำหนดอัตราความเร็วของรถในทางภายในอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
(7) กำหนดช่องหรือแนวทางเดินรถขึ้นและล่อง
(8) กำหนดทางเดินรถทางเอกและทางเดินรถทางโท
(9) กำหนดการจอดรถหรือที่จอดพักรถ
(10) กำหนดระเบียบการใช้ทางหรือช่องเดินรถสำหรับรถบางประเภท
(11) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการใช้รถโรงเรียน
(12) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถจักรยาน
(13) ควบคุมขบวนแห่หรือการชุมนุมสาธารณะ
(14) ควบคุมหรือห้ามเลี้ยวรถในทางร่วมทางแยก
(15) ขีดเส้นหรือทำเครื่องหมายจราจรบนผิวทาง หรือติดตั้งสัญญาณจราจร หรือเครื่องหมายจราจร
(16) กำหนดระยะทางตอนใดให้ขับรถล้ำเข้าไปในเส้นกึ่งกลางของทางที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนดไว้ได้
(17) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการจอดรถที่ชำรุด หักพัง ตลอดจนรถที่ซ่อมแซมในทาง
(18) กำหนดระเบียบการข้ามทางของคนเดินเท้าบนทางที่ไม่มีทางข้าม
(19) กำหนดการใช้โคมไฟ
(20) กำหนดการใช้เสียงสัญญาณ
(21) กำหนดระเบียบการอนุญาตและการใช้รถที่มีล้อหรือส่วนที่สัมผัสกับผิวทางไม่ใช่ยาง
ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 1,000 บาท
มาตรา 154 ผู้ใด
(2) ฝ่าฝืนคำสั่ง ข้อบังคับ หรือระเบียบของเจ้าพนักงานจราจรตามมาตรา 139
ถ้าไม่เป็นความผิดที่กำหนดโทษไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษปรับครั้งละไม่เกินหนึ่งพันบาท
รถจักรยานยนต์ต้องขับรถในช่องทางเดินรถด้านซ้ายสุดเท่านั้น
มาตรา 35 รถที่มีความเร็วช้าหรือรถที่มีความเร็วต่ำกว่าความเร็วของรถคันอื่นที่ขับในทิศทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้ายเท่าที่จะกระทำได้
ผู้ขับขี่รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร รถจักรยานยนต์ในทางเดินรถซึ่งได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป หรือได้จัดช่องเดินรถประจำทางด้านซ้ายไว้โดยเฉพาะ ต้องขับรถในช่องเดินรถด้านซ้ายสุดหรือใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทาง แล้วแต่กรณี
ความในวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
บทลงโทษหากรถจักรยานยนต์ขับรถในช่องทางเดินรถด้านขวา
มาตรา 157 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 มาตรา 43 (3) (4) (6) (7) หรือ (9) มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 47 มาตรา 48 มาตรา 53 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 125 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท
ชมรมจักรยานยนต์ปลดแอกสองล้อมีข้อเสนอดังนี้
1.ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติอนุญาตให้รถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานและลอดอุโมงค์ได้
2.ให้แก้กฎหมายให้รถจักรยานยนต์วิ่งขวาได้
สรุป ปัจจุบันรถจักรยานยนต์ยังต้องวิ่งในช่องทางเดินรถด้านซ้ายเหมือนเดิม และยังไม่สามารถขึ้นสะพานหรือลอดอุโมงค์ในเขตกรุงเทพมหานครได้จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมาย