จำคุกแสนปีคดีแชร์ลูกโซ่
เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2556 มีข่าวใหญ่สะท้านวงการขายตรง ตลาดแบบตรง กรณีบริษัท บลิชเชอร์ อินเตอร์ กรุ๊พ จำกัด กับพวกรวม 5 คน ถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2537 ใช้เวลาสืบพยานทั้งโจทก์และจำเลยเป็นเวลานาน เนื่องจากมีพยานโจทก์และพยานจำเลยจำนวนมาก เอกสารนับหมื่นแผ่น จึงใช้เวลานานถึง 14 ปี จนต่อมาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2551 ศาลอาญารัชดา ได้มีคำพิพากษาให้ผู้บริหารของบริษัท บลิชเชอร์ อินเตอร์ กรุ๊พ จำกัด คือจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 จำคุกรวม 24,189 กระทง ให้จำคุกคนละกระทงละ 5 ปี รวมทุกกระทงเป็น 120,945 ปี แต่ความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี จึงให้จำคุกจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ ย.14433/2544 ของศาลนี้ด้วย ส่วนคำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ด้วย
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2556 ศาลอุทธรณ์ใช้เวลาประมาณ 5 ปี พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอาญา มีผู้อ่านหลายท่านที่ทำงานอยู่กับบริษัทขายตรง และบุคคลทั่วไปที่สนใจข่าวดังกล่าว สอบถามมาว่า ทำไมศาลจำคุกมากจังถึงหนึ่งแสนปีเศษ และจะติดคุกกันอย่างไร ผมในฐานะเป็นทนายความ และเป็นทนายความของจำเลยในคดีนี้ โดยทำคดีดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน จึงรู้รายละเอียดเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงขอให้ความรู้เกี่ยวกับคดีแชร์ลูกโซ่เป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. คำนิยามของคำว่า “กู้ยืมเงินและผลประโยชน์ตอบแทน” ตามพระราช
กำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 พ.ศ.2534 พบว่า บทนิยามคำว่ากู้ยืมเงิน หมายความรวมถึง ผลประโยชน์อื่นใด การรับเข้าเป็นสมาชิก หรือการรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนหรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงินนั้น แม้บทบัญญัติของพระราชกำหนดดังกล่าว จะมิได้กำหนดการกระทำผิดที่แจ้งชัดอย่างในกรณีพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ก็มิได้หมายความว่า หากการกระทำเข้าองค์ประกอบทั้งตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ และพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรงฯ จะลงโทษตามพระราชกำหนดมิได้ กรณีก็เป็นเช่นเดียวกับการกระทำที่เป็นทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง และเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมาตรา 5 ได้ด้วย และกรณีก็หาใช่การใช้บทบัญญัติของพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ลงโทษจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ในฐานะบทกฎหมายกำหนดใกล้เคียงอย่างยิ่งตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างไม่ ข้อต่อสู้ในข้อกฎหมายข้อนี้ของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่4 ฟังไม่ขึ้น
2. ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 12/2555 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2555
วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 54 เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลโดยไม่ปรากฎว่ามีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ดังนั้น พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 15 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้เป็นนิติบุคคล กรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ซึ่งมีลักษณะเดียวกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 54 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจนำมาอ้างเพื่อให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ต้องรับโทษด้วย
3. การกระทำของจำเลยในคดีนี้ เกิดขึ้นแก่บุคคลแต่ละคน ซึ่งได้รับความ
เสียหายในเวลาแตกต่างกัน จำนวน 24,189 คน จึงเป็นความผิด 24,189 กรรมต่างกันได้
4. ประเด็นเกี่ยวกับผู้เสียหายโดยนิตินัย เนื่องจากความผิดในคดีนี้คือข้อหา
ฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ.มาตรา 343 วรรคหนึ่ง และพรก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน การดำเนินคดีอาญา จึงไม่ต้องมีการร้องทุกข์ของผู้เสียหายทั้ง 24,189 คน (ถึงแม้ไม่ร้องทุกข์ก็ดำเนินคดีได้) ทำให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ต้องถูกจำคุกนับแสนปี
5. เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่า จะสันนิษฐานให้บุคคลใดมี
ความผิดทางอาญาโดยมิได้กระทำความผิดหรือไม่ได้มีเจตนากระทำความผิดร่วมกับนิติบุคคลจึงไม่อาจนำมาตรา 15 ของพรก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน มาบังคับกับจำเลยในคดีนี้ได้ (การที่บุคคลใดจะต้องรับโทษทางอาญาจะต้องกระทำโดยเจตนา จะใช้กฎหมายเป็นข้อสันนิษฐานว่าทำผิดโดยไม่ได้กระทำความผิดไม่ได้)
คดีนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับธุรกิจขายตรงทั้งหลายที่มุ่งเน้นการหาสมาชิกมากกว่าขายสินค้าหรือให้บริการให้ดูคดีนี้ไว้ เพราะท่านอาจติดคุกนับแสนปีเหมือนคดีนี้ก็ได้นะครับ ทางที่ดีกลับใจทำการค้าแบบสุจริตจะปลอดภัยกว่านะครับ