ถูกทวงหนี้บัตรเครดิตของพี่ชาย
ช่วยด้วยค่ะ พอดีแม่อยู่บ้านคนเดียว แล้วมีคนโทรมาบอกว่าหนี้บัตรเครดิตของอีซี่บายที่พี่ชายไม่จ่ายเงิน ตอนนี้ศาลแขวงออกหมายจับแล้ว จะเอาตำรวจมายึดทรัพย์ที่บ้าน แม่ตกใจมากๆ เพราะหนี้ที่เกิดจากพี่ชาย แล้วพี่ชายขาดการติดต่อ เป็นเวลา 6 ปีแล้ว ทางบ้านไม่ทราบว่าพี่ชายไปอยู่ไหน แล้วแบบนี้ทางบ้านจะทำอย่างไรกับเจ้าหนี้ค่ะ เพราะทางบ้านไม่ทราบเรื่องหนี้สินที่พี่ชายไปทำไว้เลยค่ะ แล้วไม่สามารถตามหาตัวพี่ชายได้ โทรไปบริษัท เค้าบอกว่าพี่ชายลาออกจากงานไปแล้ว แล้วแบบนี้เจ้าหนี้บัตรเครดิตจะยึดทรัพย์ได้เปล่าค่ะ อีกอย่างพี่ชายไม่เคยมาอยู่บ้านเลย เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ก่อนหน้า 6 ปีที่ผ่านมา พี่ชายมีแต่โทรมา บางทีแวะมาเยี่ยมแม่เท่านั้น หลังจากนั้น 6 ปีมานี้ขาดการติดต่อไปโดยปริยายค่ะ พอดีทางบ้านไม่รู้เรื่องกฎหมาย แล้วไม่มีปัญญาไปตามใช้หนี้ให้ใครด้วย แม่แก่มากแล้ว อายุ 68 แล้วค่ะ มีก็แต่ดิฉันอยู่กับแม่และหลานอีกคนเท่านั้น
คำแนะนำทนายคลายทุกข์
หนี้สินของพี่ชายที่เป็นหนี้บัตรเครดิต เป็นคดีแพ่ง ไม่ติดคุกและตำรวจไม่สามารถออกหมายจับได้ การกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นการข่มขู่มากกว่า ส่วนทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของพี่ชาย เจ้าหนี้ไม่สามารถยึดได้ หากพี่ชายไม่มีทรัพย์สินก็ไม่สามารถยึดได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 283,มาตรา 285, มาตรา 286 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี ที่เจ้าหนี้สามารถสืบหาทรัพย์สินของพี่ชาย หากมีหมายศาลมาท่านไม่สามารถติดต่อพี่ชายได้ก็คงต้องให้ศาลตัดสินไป
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 283 ถ้าจะต้องยึดหรืออายัดและขายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามความในมาตราก่อน เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะยึดหรืออายัดหรือขายบรรดาทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 284 และ 288
ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดทรัพย์อันจะต้องยึดภายในเวลาอันควรต้องทำโดยปราศจากความระมัดระวังหรือโดยสมรู้เป็นใจกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลใดซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่จะต้องยึด หรือเพิกเฉยไม่กระทำการโดยเร็วตามสมควร เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ต้องเสียหายเพราะการนั้น อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ ถ้าศาลไต่สวนเป็นที่พอใจว่าข้ออ้างนั้นเป็นความจริง ก็ให้ศาลมีคำสั่งว่าเจ้าพนักงานผู้นั้นตกอยู่ในความรับผิด จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่เกินกว่าจำนวนตามคำพิพากษา ถ้าเจ้าพนักงานไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนตามคำสั่งของศาล ศาลอาจออกหมายบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของเจ้าพนักงานผู้นั้นได้ แต่ถ้าเจ้าพนักงานมีความสงสัยในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำชี้ดังกล่าวแล้ว ซึ่งบุคคลอื่นนอกจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดนั้นมีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียน เจ้าพนักงานนั้นชอบที่จะงดเว้นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น และร้องต่อศาลให้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อมิให้ตนต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวมาแล้ว
มาตรา 285 ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
(1) เครื่องนุ่งห่มหลับนอนหรือเครื่องใช้ในครัวเรือนหรือเครื่องใช้สอยส่วนตัวโดยประมาณรวมกันราคาไม่เกินห้าหมื่นบาท ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลจะกำหนดทรัพย์สินดังกล่าวที่มีราคาเกินห้าหมื่นบาท ให้เป็นทรัพย์สินที่ไม่ต้องอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามฐานะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(2)เครื่องมือหรือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพหรือประกอบวิชาชีพโดยประมาณรวมกันราคาไม่เกินหนึ่งแสนบาท แต่ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลขออนุญาตยึดหน่วงและใช้เครื่องมือหรือเครื่องใช้อันจำเป็นเพื่อดำเนินการเลี้ยงชีพหรือการประกอบวิชาชีพ อันมีราคาเกินกว่าจำนวนราคาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตภายในบังคับแห่งเงื่อนไขตามที่ศาลเห็นสมควร
(3) วัตถุ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่แทนหรือช่วยอวัยวะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(4) ทรัพย์สินอย่างใดที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย หรือตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันมีลักษณะเป็นของส่วนตัวโดยแท้ เช่นหนังสือสำหรับวงศ์ตระกูลโดยเฉพาะ จดหมายหรือสมุดบัญชีต่าง ๆ นั้น อาจยึดมาตรวจดูเพื่อประโยชน์แห่งการบังคับคดีได้ ถ้าจำเป็น แต่ห้ามมิให้เอาออกขายทอดตลาด
ประโยชน์แห่งข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้ขยายไปถึงทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง อันเป็นของภริยาหรือของบุตรผู้เยาว์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งทรัพย์สินเช่นว่านี้ตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเป็นทรัพย์สินที่อาจบังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้
คำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
มาตรา 286 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
(1) เบี้ยเลี้ยงชีพซึ่งกฎหมายกำหนดไว้และเงินรายได้เป็นคราว ๆ อันบุคคลภายนอกได้ยกให้เพื่อเลี้ยงชีพ เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาทหรือตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร
(2) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยราชการ และเงินสงเคราะห์ บำนาญ หรือบำเหน็จที่หน่วยราชการได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น
(3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (2) ที่นายจ้างจ่ายให้แก่บุคคลเหล่านั้น หรือคู่สมรส หรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท หรือตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร
(4) เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับอันเนื่องมาแต่ความตายของบุคคลอื่นเป็นจำนวนตามที่จำเป็นในการดำเนินการฌาปนกิจศพตามฐานะของผู้ตายที่ศาลเห็นสมควร ในกรณีที่ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินตาม (1) และ (3) ให้ศาลกำหนดให้ไม่น้อยกว่าอัตราเงินเดือนขั้นต่ำสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้นและไม่เกินอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้น โดยคำนึงถึงฐานะในทางครอบครัวของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและจำนวนบุพการีและผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย
ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจออกคำสั่งอายัดตามมาตรา 311 วรรคสอง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินตาม (1) (3) และ (4) และให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับแก่การกำหนดจำนวนเงินตาม (1) และ (3) โดยอนุโลม แต่ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการกำหนดจำนวนเงินเช่นว่านั้น เพื่อขอให้ศาลกำหนดจำนวนเงินใหม่ได้
ในกรณีที่พฤติการณ์แห่งการดำรงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เปลี่ยนแปลงไป บุคคลตามวรรคสามจะยื่นคำร้องให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดี แล้วแต่กรณี กำหนดจำนวนเงินตาม (1) และ (3) ใหม่ก็ได้
คำสั่งของศาลที่เกี่ยวกับการกำหนดจำนวนเงินตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด