คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจในบทบรรณาธิการ หนังสือรวมคำบรรยาย ภาคสอง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2562 เล่มที่ 8|คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจในบทบรรณาธิการ หนังสือรวมคำบรรยาย ภาคสอง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2562 เล่มที่ 8

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจในบทบรรณาธิการ หนังสือรวมคำบรรยาย ภาคสอง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2562 เล่มที่ 8

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจในบทบรรณาธิการ หนังสือรวมคำบรรยาย ภาคสอง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2562 เล่มที่ 8

  • Defalut Image

1.บทบัญญัติให้ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง

บทความวันที่ 7 ส.ค. 2562, 10:17

มีผู้อ่านทั้งหมด 1277 ครั้ง


คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจในบทบรรณาธิการ หนังสือรวมคำบรรยาย ภาคสอง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2562 เล่มที่ 8

1.บทบัญญัติให้ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง เป็นบทบัญญัติในการเริ่มต้นพิจารณาคดีของศาลเพื่อให้จำเลยเข้าใจฟ้องและสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และถูกต้อง มิใช่หมายความรวมถึงการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ 801/2558

ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง เป็นบทบัญญัติในการเริ่มต้นพิจารณาคดีของศาลเพื่อให้จำเลยเข้าใจฟ้องและสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และถูกต้อง มิใช่หมายความรวมถึงการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบด้วย การที่จำเลยจะถูกเพิ่มโทษหรือไม่เป็นคนละส่วนกับกรณีความผิดที่จำเลยถูกฟ้อง ดังนั้นแม้ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบถามว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขคดีแดงที่ 1390/2544 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษตามคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์หรือไม่ก็ไม่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจาณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบ ทั้งข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏ เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 เดือน 12 วัน โจทก์ย่อมแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอสืบพยานในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์มิได้แถลงต่อศาลเพื่อขอสืบพยานในข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ

2.คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โจทก์ต้องฟ้องคดีแพ่งมาพร้อมกับคดีอาญาตั้งแต่แรก โจทก์จะยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องให้จำเลยรับผิดคดีในส่วนแพ่งหลังจากศาลมีคำสั่งประทับฟ้องคดีอาญาแล้วไม่ได้ ซึ่งถือเป็นการกล่าวอ้างความรับผิดทางแพ่งของจำเลยขึ้นมาใหม่  โจทก์จะมาขอเพิ่มเติมฟ้องเช่นนี้ไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 11066/2558

ขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ โจทก์ยื่นคำฟ้องเฉพาะคดีอาญาโดยขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 91,352,353 เท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา หลังจากนั้นศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ไปได้ 5 ปาก ก่อนสืบพยานโจทก์ที่เหลือและพยานจำเลย โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะโจทก์ต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัท บ. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. และ ท. จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน 190,642.19 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยและมีคำขอให้จำเลยใช้เงินจำนวน 190,642.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะคืนเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมฟ้องเฉพาะคดีในส่วนแพ่ง ซึ่งคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น หมายถึงคดีที่การกระทำผิดอาญานั้นก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องทางแพ่งติดมาด้วย ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีส่วนอาญาแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องและหมายเรียกจำเลยแก้คดี ย่อมเป็นการสั่งรับฟ้องคดีส่วนอาญาและคำฟ้องคดีส่วนแพ่งด้วย โดยไม่จำต้องสั่งรับฟ้องคดีส่วนแพ่งอีก ดังนี้ ในการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โจทก์จึงต้องฟ้องคดีแพ่งมาพร้อมกับคดีอาญาตั้งแต่แรก แต่คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเฉพาะคดีในส่วนอาญาจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องและจำเลยให้การต่อสู้คดีแล้ว โจทก์จึงยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องให้จำเลยรับผิดคดีในส่วนแพ่ง ซึ่งการขอเพิ่มเติมฟ้องตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 164 ประกอบ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 นั้น ฟ้องเดิมจะต้องสมบูรณ์อยู่แล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเฉพาะคดีอาญาแล้วต่อมาได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องโดยขอให้จำเลยรับผิดในทางแพ่งโดยอ้างว่าโจทก์ต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัท บ. ห้างหุ่นส่วนจำกัด ห. และ ท. จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน 190,642.19 บาท  พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ดังนี้คำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างความรับผิดทางแพ่งของจำเลยขึ้นมาใหม่ โจทก์จะมาขอเพิ่มเติมฟ้องเช่นนี้ไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องและรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ

3.การนัดสอบคำให้การจำเลยเป็นการนัดพิจารณาคดีซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องมาศาลในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วแต่ไม่มาศาลตามกำหนดนัดสอบคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 181 ประกอบมาตรา 166
คำพิพากษาฎีกาที่ 7846/2559

การสอบคำให้การจำเลยตาม ป.วิ.อ.มาตรา 172 วรรคสอง เป็นการพิจารณาคดีอย่างหนึ่งโดยกฎหมายกำหนดให้โจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยต้องมาอยู่ต่อหน้าศาลพร้อมกันและให้ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามจำเลยว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่และจะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง เมื่อจำเลยให้การอย่างไรก็ให้ศาลจดไว้ ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ โจทก์ยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องแถลงให้ศาลทราบว่ายังประสงค์จะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่ การนัดสอบคำให้การจำเลยจึงเป็นการนัดพิจารณาคดีซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องมาศาลในวันดังกล่าว แม้ในคำสั่งศาลชั้นต้นจะไม่ได้กำหนดเวลาไว้ก็ตาม แต่โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องมาศาลตามเวลาที่ศาลเปิดทำการตามปกติเพื่อให้การพิจารณาคดีของศาลดำเนินไปได้โดยรวดเร็วสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งศาลชั้นต้นได้ให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์โทรศัพท์ติดต่อไปที่สำนักงานของโจทก์เพื่อแจ้งให้โจทก์มาศาลอีกครั้งหนึ่งแล้ว แต่ศาลรออยู่จนกระทั่งเวลา 16.30 น. โจทก์ก็ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ดังนี้เมื่อโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วแต่ไม่มาศาลตามกำหนดนัดสอบคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 181 ประกอบมาตรา 166

4.เอกสารที่ทนายจำเลยใช้ประกอบการถามค้านพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง พยานที่โจทก์ได้ตรวจดูและรับรองความถูกต้องบางส่วน จำเลยชอบที่จะส่งศาลประกอบการถามค้านได้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่จำเลยนำพยานเข้าสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
คำพิพากษาฎีกาที่ 6638/2559

ส่วนที่โจทก์ฎีกาอีกว่า จำเลยไม่มีอำนาจนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และไม่มีสิทธิที่จะอ้างพยานหลักฐานใดๆโดยเฉพาะพยานเอกสารที่โจทก์ไม่อาจซักค้านได้ การที่ศาลรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า เอกสารที่ทนายจำเลยใช้ประกอบการถามค้านพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง พยานที่โจทก์ได้ตรวจดูและรับรองความถูกต้องบางส่วน ทั้งเป็นเอกสารราชการที่มีเจ้าหน้าที่รับรองความถูก ต้องแล้ว จำเลยชอบที่จะส่งศาลประกอบการถามค้านได้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่จำเลยนำพยานเข้าสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ดังนี้ศาลย่อมรับฟังประกอบการพิจารณาได้

ที่มา : หนังสือรวมคำบรรยาย ภาคสอง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2562 เล่มที่ 8

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก