ศาลลงโทษจำคุก5พันปี "แชร์ก๋วยเตี๋ยว"
วันนี้ทนายคลายทุกข์ขอนำข่าวจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด เกี่ยวกับเรื่องการลงโทษจำคุกผู้บริหารแชร์ก๋วยเตี๋ยว 5,270 ปี รายละเอียดข่าวอยู่ด้านล่างนี้
เนื้อหาข่าวจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด
ศาลลงโทษผู้บริหาร แฟรนไชส์ลวงเหยื่อ โกงเงินกว่า200ล้าน
ศาลพิพากษาจำคุกผู้บริหารแชร์ก๋วยเตี๋ยว 5,270 ปี ลงโทษรวมทั้งหมด 1,254 กระทง แต่จำเลยสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง และตามกฎหมายให้ลงโทษในคดีจำคุกสูงสุด เหลือจำคุก 20 ปี ส่วนผู้บริหารอื่นๆ อีก 6 คนอยู่ระหว่างสู้คดี ดีเอสไอเผยจำเลยที่ถูกลงโทษเป็นคนเดียวที่สารภาพ ส่วนคนอื่นๆ ขอต่อสู้ในชั้นศาล เป็นคดีแชร์ลูกโซ่ชวนลงทุนเปิดรถเข็นก๋วยเตี๋ยวแต่ไม่ต้องขายเองแค่รอเงินปันผลซึ่งจ่ายกว่า 100% ในเวลา 10 เดือน มีเหยื่อหลงเชื่อจำนวนมากวงเงินหลายร้อยล้านบาท แฉดีเอสไอจับตาคดีลักษณะคล้ายๆ กันอีกกว่า 10 คดีอยู่ระหว่างตรวจสอบพร้อมเตือนประชาชนลงทุนอย่างระมัดระวัง
เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินคดีนายเสริมศักดิ์ อุ่นน้อย ผู้ต้องหาคดีแชร์ก๋วยเตี๋ยวว่า ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกนายเสริมศักดิ์ จำเลยที่ 1 ซึ่งให้การรับสารภาพ และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และลงโทษทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมาย ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน จึงมีคำสั่งให้ลงโทษในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน รวม 1,254 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวมโทษจำคุก 5,270 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 2,635 ปี แต่จำเลยกระทำความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี จำนวน 2 กระทง จึงเหลือโทษจำคุกจำเลย 20 ปี และให้จำเลยคืนเงินต้นแก่ผู้กู้ยืมเงินหรือผู้เสียหายแต่ละรายตามจำนวนผู้เสียหายแต่ละรายที่ได้นำมาให้จำเลยกับพวกกู้ยืมเงินไปแล้วแต่ยังไม่ได้คืน พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่คืนเงินสดของกลางเฉลี่ยให้แก่ผู้เสียหายทั้งหมด
พ.อ.ปิยะวัฒก์กล่าวต่อว่า คดีนี้มีผู้ต้องหา 7 คน แต่มีนายเสริมศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้บริหารเพียงคนเดียวที่ให้การรับสารภาพ ส่วนคนอื่นๆ อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยผู้ต้องหาคดีดังกล่าวมีพฤติการณ์เปิดบริษัท สยามฟู้ดซ์ แฟรน ไชส์ จำกัด กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือ "แชร์ลูกโซ่" ด้วยการโฆษณาชักชวนประชาชนผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต วิทยุ และออกบูธตามห้างสรรพสินค้า และออกรายการทีวี แนะนำการประกอบอาชีพ ชักจูงให้ประชาชนนำเงินไปลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ของบริษัท โดยทำรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยว สมาชิกไม่ต้องรับรถเข็นไปเปิดขายเอง บริษัทอ้างว่าจ้างคนขายให้ผู้ลงทุนเพียงรอรับเงินปันผลเท่านั้น ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อตัดสินใจนำเงินไปร่วมลงทุนเป็นจำนวนนับพันราย ด้วยการให้เลือกลงทุนได้ 2 แผน แผนที่ 1 สมาชิกต้องจ่ายเงิน 45,000 บาท เพื่อซื้อหุ้นรถเข็นหนึ่งคัน โดยจะได้รับผลตอบแทน 10,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 10 เดือน รวม 100,000 บาท
"หากลงทุน 45,000 บาท จะได้กำไร 55,000 บาท ส่วนแผนที่ 2 สมาชิกต้องจ่ายเงิน 35,000 บาท เพื่อซื้อหุ้นรถเข็นหนึ่งคัน โดยจะได้รับผลตอบแทน 7,500 บาท/เดือน เป็นเวลา 10 เดือน เท่ากับว่า ลงทุน 35,000 บาท จะได้กำไร 75,000 บาท ซึ่งเป็นการเสนอให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินกำหนด คดีนี้มีประชาชนได้รับความเสียหายมูลค่า 223 ล้านบาท" ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ กล่าว
ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ กล่าวอีกว่า อยากเตือนให้ประชาชนระมัดระวังในกรณีที่มีบุคคลมาชักชวนให้นำเงินไปลงทุนหรือสมัครเป็นสมาชิกในลักษณะของการบังคับให้เสียค่าสมาชิกและซื้อสินค้า โดยเฉพาะการมุ่งเน้นในเรื่องของรายได้หรือผลประโยชน์ตอบแทนที่มาจากการหาสมาชิกเข้าร่วมเครือข่ายขยายองค์กรด้วยการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนที่สูงมากๆ เป็นหลัก โดยมิได้มุ่งเน้นในเรื่องของการนำสินค้าไปแพร่กระจายสู่ผู้บริโภคหรือที่มักจะแนะนำว่าไม่ต้องรักษายอดขาย ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งดีเอสไอที่ฮอตไลน์หมายเลข 1202
พ.อ.ปิยะวัฒก์กล่าวอีกว่า ขอเตือนบริษัทหรือบุคคลที่กำลังประกอบธุรกิจอันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ให้ยุติการกระทำดังกล่าว เพราะอาจจะถูกดำเนินคดีทั้งคดีอาญา คดีฟอกเงิน และคดีล้มละลาย รวมทั้งผู้ที่กระทำตนเป็นแม่ทีมหรือแม่ข่ายที่ไปชักชวนประชาชนเข้าร่วมเป็นเครือข่ายขยายองค์กรด้วย และขณะนี้มีการแจ้งเบาะแสที่ดีเอสไอแล้วกว่า 10 เรื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังอยู่ระหว่างสืบสวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวจากwww.khaosod.co.th