ผลทางกฎหมายกรณีแยกกันอยู่โดยไม่สมัครใจ
ดิฉันกับสามีจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย มีบุตร 1 คน อายุ 19 ปี 8 เดือน เมื่อปี 2555 ทราบว่าสามีมีเมียน้อย ได้กู้เงินสหกรณ์เพื่อส่งเสียเลี้ยงดูเมียน้อยไปหลายแสนบาท ดิฉันจึงดึงบัญชีเงินเดือนสามีมาดูแล ในช่วงเวลาดังกล่าวสามีหาเหตุขอหย่ากับดิฉันอยู่เนืองๆ แต่ดิฉันไม่หย่าให้ กอปรกับสามีไม่มีเหตุฟ้องอย่าดิฉันได้ จึงอยู่ร่วมบ้านเดียวกันเรื่อยมา โดยที่สามีก็ส่งเสียเลี้ยงดูดิฉันและลูกตามปกติ
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา สหกรณ์ออมทรัพย์ที่สามีทำงานอยู่ ได้แจ้งดิฉันว่าสามีได้กู้เงินเพิ่มอีกจำนวนหนึ่งโดยที่ดิฉันไม่ทราบ เมื่อดิฉันสอบถามสามีบอกว่าต้องใช้เงินจำนวนดังกล่าววิ่งเรื่องเพื่อขอย้ายกลับไปอยู่บ้านเพื่อดูแลพ่อแม่สามีที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นการขอย้ายอย่างเร่งด่วน แต่ดิฉันก็ขัดไม่ได้เพราะสามีอ้างว่าอยากกลับไปเลี้ยงดูพ่อแม่ ดิฉันจึงได้สอบถามสามีเกี่ยวกับภาระหนี้สินเกี่ยวกับการผ่อนชำระบ้านและภาระการส่งเสียเลี้ยงดูลูกที่กำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัย สามีแจ้งว่าจะรับผิดชอบส่งเสียเลี้ยงดู แต่ฟังดูไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้ ดิฉันอยากสอบถามปัญหาดังนี้
- กรณีที่สามีย้ายกลับไปภูมิลำเนาเร่งด่วนและไปไกลจากจังหวัดที่ดิฉันกับลูกอยู่มาก เจตนาของสามีที่บอกกับดิฉันคืออยากกลับไปดูแลพ่อแม่ที่ชรา ดิฉันพอรับได้ แต่ดิฉันเกรงว่าสามีมีเจตนาย้ายไปไกลเพื่อเป็นการแยกกันอยู่กับดิฉัน หากแยกกันอยู่โดยที่ดิฉันไม่สมัครใจเช่นนี้ ดิฉันเกรงว่าเมื่อเวลานานไป สามีจะใช้เหตุการขอหย่าเนื่องจากแยกกันอยู่เกิน 5 ปีได้หรือไม่ หากดิฉันจะแสดงเจตนาว่าดิฉันไม่สมัครใจที่จะแยกกันอยู่กับสามีดิฉันจะทำอย่างไรเพื่อจะมีผลตามกฎหมายในวันข้างหน้า
- กรณีที่สามีย้ายที่ทำงานไปต่างจังหวัด หากสามีไม่ส่งเสียเลี้ยงดูดิฉัน ตลอดจนไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูก และไม่ส่งเสียค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูลูก ตามที่ได้ตกลงกับดิฉันไว้แล้ว โดยอ้างว่าลูกมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ทั้งๆ ที่ลูกยังเรียนหนังสืออยู่ ดิฉันจะทำสัญญาผูกมัดให้เขาทำตามข้อตกลงส่งเสียเลี้ยงดูดิฉันและลูกได้หรือไม่ หากต้องทำสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าว จะทำให้ถูกแบบและมีผลบังคับในอนาคตได้นั้นต้องทำตามแบบและทำได้ที่ไหนอย่างไร และผลของการทำสัญญาให้สามีส่งเสียเลี้ยงดูในระหว่างที่เขาย้ายไปต่างจังหวัด สามีจะยกขึ้นเป็นข้ออ้างได้หรือไม่ว่าดิฉันยินยอมแยกกันอยู่โดยสมัครใจ
อยากให้อาจารย์แนะนำแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจนด้วย จักเป็นพระคุณยิ่งค่ะ
คำแนะนำสำนักงานทนายความ ทนายคลายทุกข์
1.พฤติการณ์ที่สามีย้ายกลับไปภูมิลำเนาเพื่อดูแลบิดามารดา ไม่ใช่กรณีที่สามีและท่านสมัครใจแยกกันอยู่ที่เป็นเหตุให้สามีอ้างฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 1516 (4/2) ได้เพราะเหตุหย่าที่สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ด้วยเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี ต้องเกิดจากความสมัครใจโดยแท้จริงของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่สมัครใจแต่ฝ่ายเดียว
2.ท่านและสามีชอบที่จะทำหลักฐานข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาตามสมควรแก่บุตรเป็นหนังสือได้ อันมีลักษณะเป็นการทำสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกเพื่อให้มีผลบังคับผูกพันเรียกร้องบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 374 ทั้งนี้ สามารถทำสัญญาดังกล่าวได้ระหว่างกันเอง ไม่จำต้องทำต่อหน้านายทะเบียน