ขับรถแหกด่านชนตำรวจตาย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6576/2542
พฤติการณ์ของจำเลยที่ขับรถพุ่งเข้าชนสิบตำรวจตรีป.ขณะเข้าทำการตรวจค้น ขับรถด้วยความเร็วสูงสลับกับการห้ามล้อหลายครั้งในขณะที่สิบตำรวจตรีป.นอนคว่ำหน้าอยู่บนฝากระโปรงด้านหน้าของรถที่จำเลยขับเพื่อให้สิบตำรวจตรีป.ตกจากรถ ล้วนแต่ มุ่งประสงค์ที่จะให้สิบตำรวจตรีป. เป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งสิ้น เมื่อไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่
2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5785/2544
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุไปที่ห้องที่โจทก์เช่าเพื่อเป็นพยานรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ไปฝากเก็บไว้ที่สถานีตำรวจท้องที่ อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยสุจริตในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน โดยสำคัญผิดคิดว่ามีอำนาจที่จะกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีเจตนากระทำความผิดฐานบุกรุกโดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2) จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามมาตรา 362 เท่านั้น
3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 171/2556
การที่จำเลยนำบุตรที่เพิ่งคลอดออกจากโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลย่อมใช้ผ้าขนหนูห่อตัวเด็กให้อยู่แล้วเพื่อป้องกันแสงแดดและมลภาวะอากาศ โดยเว้นส่วนหน้าเพื่อที่เด็กจะได้มีอากาศหายใจ จึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะต้องเอาเด็กใส่กระเป๋าหิ้ว การที่จำเลยนำเด็กทารกเพิ่งคลอดใส่ในกระเป๋าหิ้ว เอาผ้านขนหนูห่อมิดทั้งตัว ปิดทับด้วยเสื้ออีกชั้นกับรูดชิปปิดกระเป๋าไว้ ทำให้อากาศไม่สามารถผ่านเข้าไปในกระเป๋า ซ้ำนำแผ่นพลาสเตอร์ปิดบริเวณปากและจมูก ย่อมเห็นเจตนาว่าจำเลยประสงค์จะให้เด็กถึงแก่ความตาย เมื่อเด็กไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9805/2554
การกระทำโดยเล็งเห็นผลนั้นหมายความว่า ผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ มิใช่เพียงเล็งเห็นว่าผลนั้นอาจเกิดขึ้นได้ ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย ขณะที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยทั้งสองประกบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 กระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายที่แขวนอยู่ที่กระจกรถจักรยานยนต์อย่างแรง ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยทั้งสองไม่อาจเล็งเห็นผลได้แน่นอนว่าการกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 จะทำให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับล้มลงเพราะรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายอาจจะล้มหรือไม่ล้มก็ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงวิธีการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น แม้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจะล้มลงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายอันเป็นผลมาจากแรงกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 ก็หาใช่จำเลยทั้งสองกระทำโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลอันถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายของกฎหมายแต่ประการใดไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามฟ้อง คงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดเท่านั้น
5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8882/2561
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา โดย พ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 1 ส่วน ข. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ท. และตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พ. และ ข. ผู้ตายทั้งสองได้ร่วมทำร้ายหรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาที่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกทำร้ายจำเลย แม้ผู้ตายทั้งสองจะอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเกิดความฮึกเหิมรุมทำร้ายจำเลยกับพวก หลังเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองไปกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกก็คงเป็นเพราะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน พฤติการณ์ของผู้ตายทั้งสองฟังไม่ได้ว่า ผู้ตายทั้งสองข่มเหงหรือร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยขับรถกระบะซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแรงประทะมากกว่ารถจักรยานยนต์หลายเท่าฝ่าเข้าไปหรือพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกโดยแรง แม้กระทำเพียงครั้งเดียวก็เห็นได้ว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า ทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกชนจะถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเจตนาที่จะกระทำต่อกลุ่มคนที่รุมทำร้ายจำเลย แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ผู้ตายทั้งสองโดยพลาดไป เมื่อผู้ตายทั้งสองมิได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยพลาด
6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1270/2526
จำเลยขับรถยนต์บรรทุกดินลูกรังสูงเกินกำหนด พอถึงจุดตรวจซึ่งมีแผงเหล็กเครื่องหมาย 'หยุด' ตั้งอยู่กลางถนนเจ้าพนักงานตำรวจได้เป่านกหวีดและให้สัญญาณให้จำเลยหยุดจำเลยกลัวถูกจับจึงไม่หยุดรถ แต่กลับเร่งเครื่องยนต์หลีกเครื่องหมายจราจรพุ่งเข้าใส่เจ้าพนักงานตำรวจที่ยืนอยู่ทางซ้าย 2-3 คน แต่เจ้าพนักงานตำรวจกระโดดหลบเสียทันดังนี้ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่า รถยนต์ที่จำเลยขับพุ่งเข้าใส่เช่นนั้นจะต้องชนเจ้าพนักงานตำรวจที่ยืนอยู่ในถนนถึงแก่ความตายได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289,80
7. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7513/2549
การที่จำเลยขับรถตรงไปทางเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่ใยดีว่ารถอาจชนเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นื ถือว่าจำเลยย่อมเล็งเห็นผลแล้วว่ารถยนต์คันที่จำเลยขับจะเฉลี่ยชนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
8.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3270/2552
ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นได้ว่า รถที่จำเลยที่ 1 ขับอาจเฉี่ยวชนผู้เสียหายให้ได้รับอันตรายแก่กายได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ ไม่เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่
คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อ แม้จะระบุคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษต่อก็เป็นคำขอที่ไม่มีข้อเท็จจริงในคำฟ้องเพราะคำฟ้องมิได้บรรยายไว้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อข้อความที่โจทก์ระบุมาในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องอื่นที่มิได้ระบุว่าขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในส่วนดังกล่าวเป็นเพียงคำอธิบายและเหตุผลของโจทก์ในการขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องไม่อาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายมาในคำฟ้องโจทก์แล้ว โจทก์จะขอให้ถือเอาคำขอท้ายฟ้องซึ่งมีข้อเท็จจริงนอกเหนือไปกว่าที่กล่าวไว้ในฟ้องไปนับโทษติดต่อกันเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้
9.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9693/2554
เมื่อสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้แล้ว ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปจับกุมจำเลยทั้งสาม โดยใช้รถยนต์ 2 คัน คันหนึ่งขับไปขวางหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เป็นคนขับ และรถยนต์อีกคันหนึ่งที่มีผู้เสียหายนั่งมาด้วยขับไปขวางทางด้านหลัง ผู้เสียหายลงจากรถยนต์มายืนด้านหลังรถยนต์ของจำเลยที่ 1 พร้อมพูดแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุมด้วยเสียงดัง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังพุ่งตรงไปทางผู้เสียหาย ผู้เสียหายกระโดดหลบ รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับชนทางด้านหน้าของรถยนต์ พันตำรวจโท ฉ. ที่ขวางอยู่ด้านหลังได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังดังกล่าวย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าหากผู้เสียหายไม่กระโดดหลบรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับอาจชนผู้เสียหายซึ่งยืนอยู่ทางด้านหลังในระยะห่างเพียง 5 เมตร ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 289 (2)
อ้างอิงหนังสือกฎหมายอาญาพิสดาร เล่ม 1 (ฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่ ปี 2567)โดยนายวิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์(ผู้พิพากษา)