เมื่อข้าราชการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างโดยร่วมมือกับเอกชนที่นำสินค้ามาขายให้กับหน่วยงานของรัฐ
บทความวันที่ 10 ก.พ. 2560, 00:00
มีผู้อ่านทั้งหมด 5289 ครั้ง
การริบทรัพย์คดีฟอกเงินกับการเรียกค่าเสียหายของหน่วยงานของรัฐเป็นคนละเรื่องกัน
เมื่อข้าราชการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างโดยร่วมมือกับเอกชนที่นำสินค้ามาขายให้กับหน่วยงานของรัฐ เมื่อถูกจับได้ว่าทุจริตจะต้องถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงินโดยพนักงานอัยการ จะยื่นคำร้องต่อศาลให้ริบทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และยังจะต้องติดคุกติดตารางอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้จะต้องถูกหน่วยงานต้นสังกัดฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดอีกส่วนหนึ่งรับรอง จนยิ่งกว่าขอทานแน่ ปัจจุบันศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานไว้แล้วตามฎีกาข้างล่างนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3900/2559
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับ ว. ซึ่งรับราชการในตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา ศ.และ พ. กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยร่วมกันทุจริตคอร์รัปชั่นในการที่โจทก์ดำเนินการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะโดยนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก.) ซึ่งมีราคาไร่ละ 50,000 บาท มาขายให้แก่โจทก์ในราคาไร่ละ 668,000 บาท เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามจำนวนส่วนต่างราคาที่ดินเนื้อที่ 140 ไร่ เป็นเงิน 86,520,000 บาท และขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เป็นการฟ้องว่าจำเลยทั้งสองจงใจทำละเมิดด้วยการร่วมกันกับพวกทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 86,520,000 บาท อันเป็นการฟ้องละเมิด ไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผิดสัญญาซื้อขายที่ดินในฐานะคู่สัญญากับโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาซื้อขายที่ดินมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นพิพาทว่าสัญญาซื้อขายที่ดินตาหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ระหว่างโจทก์กับนาย พ. เป็นโมฆะ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยปัญหานี้มา ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง(เดิม)
การขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3(5) และมาตรา 49 สำหรับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มุ่งประสงค์ที่จะให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นตกเป็นของแผ่นดินซึ่งเป็นมาตรการสกัดกั้นมิให้ผู้กระทำความผิดสามารถนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก เป็นคนละเรื่องกับค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ที่กำหนดให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด เพียงแต่ในการวินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงจากราคาที่ดินและผลกำไรที่ฝ่ายผู้ขายสมควรได้รับเพื่อนำมาคำนวณจำนวนเงินที่โจทก์ต้องซื้อที่ดินสูงเกินไปและกำหนดค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงจากราคาที่ดินและผลกำไรที่ฝ่ายผู้ขายสมควรได้รับเพื่อนำมาคำนวณจำนวนเงินที่โจทก์ต้องซื้อที่ดินสูงเกินไปและกำหนดเป็นค่าเสียหายเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่าย เพราะโจทก์ต้องเสียเงินซื้อที่ดินสูงเกินไปเท่าไรก็ย่อมต้องได้รับชดใช้ค่าเสียหายคืนจากจำเลยทั้งสองเท่านั้น คดีนี้จึงหาใช่เป็นมูลคดีความเดียวกันกับการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตกเป็นของแผ่นดินไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ (ที่มา : ย่อคำพิพากษาฎีกาโดย เนติบัณฑิตยสภา)
ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 438 ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“ความผิดมูลฐาน” หมายความว่า
(5) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
มาตรา 49 ภายใต้บังคับมาตรา 48 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้เลขาธิการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว