เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับการฟ้องร้องค่าเสียหายในคดีละเมิด
บทความวันที่ 1 ธ.ค. 2559, 00:00
มีผู้อ่านทั้งหมด 4836 ครั้ง
การเรียกค่าเสียหายที่สูงเกินสมควร ทำได้หรือไม่
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับการฟ้องร้องค่าเสียหายในคดีละเมิด เช่น ฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง 50 ล้านบาท ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ 100 ล้านบาท มีท่านผู้อ่านหลายท่านสอบถามมายังผมว่า การเรียกค่าเสียหายจำนวนมากตามที่กล่าวมา ทำได้หรือไม่ตามกฎหมาย ผมขอชี้แจ้งว่ากฎหมายไทยเกี่ยวกับละเมิดไม่ได้กำหนดเพดานการเรียกค่าเสียหายไว้ว่าต้องเป็นจำนวนเท่าใด ดังนั้นผู้เสียหายจึงสามารถเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้ โดยไม่จำกัดจำนวน แต่มีข้อคิดสำหรับผู้เสียหายที่จะเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในคดีละเมิดดังนั้น
ประเด็นแรก ความเสีหยายต้องเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิด ถ้าไม่ผลโดยตรงจากการกระทำละเมิด เป็นเรื่องไกลเกินเหตุ ศาลจะไม่กำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ดังนั้นในเวลานำสืบผู้เสียหายต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่า ความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำละเมิดของจำเลย จึงจะถือว่าเป็นค่าเสียหายที่เรียกได้ตามกฎหมาย (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 1898/2518, ฎีกาที่ 945/2533, ฎีกาที่ 4018/2533, ฎีกาที่ 5934/2534)
ประเด็นที่สอง ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเรียกค่าเสียหายในคดีละเมิด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, มาตรา 438, มาตรา 223, มาตรา 442 ดังนั้นในการพิจารณาค่าเสียหายในคดีละเมิดจะต้องพิจารณาว่าผู้เสียหายมีส่วนผิดหรือมีส่วนในการยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยหรือไม่ เช่นในคดีอุบัติเหตุทางถนนต้องพิจารณาว่าต่างคนต่างประมาทหรือไม่ ถ้าผู้เสียหายและผู้กระทำละเมิดต่างคนต่างประมาท ค่าเสียหายที่ผู้เสียหายจะได้รับก็ต้องลดน้อยถอยลงเพราะตนเองมีส่วนประมาท (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกา 212-213/2525, ฎีกาที่ 14/2517)
ประเด็นที่สาม การกำหนดค่าเสียหายที่จะฟ้องร้องในคดีละเมิด เป็นจำนวนเท่าใดจึงจะเหมาะสม คำถามนี้ตอบยากมากครับ เพราะความเสียหายที่แต่ละคนได้รับนั้นต่างกัน เช่น ใบหน้าเสียโฉม ถ้าเป็นดาราหรือนางแบบที่ต้องใช้หน้าตาทำมาหากิน ทำให้สูญเสียรายได้จำนวนมาก ก็ถือว่าได้รับความเสียหายเป็นพิเศษมากกว่าชาวบ้านทั่วไป ที่ไม่ได้ใช้ใบหน้าทำมาหากิน ผู้เสียหายเป็นผู้มีการศึกษาสูง มีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต มีรายได้สูง เมื่อถึงแก่ความตายทำให้บิดามารดา บุพการี สามีภริยา ผู้สืบสันดานขาดไร้อุปการะมากกว่าผู้เสียหายที่ถึงแก่ความตายและไม่มีรายได้สูง รถยนต์ที่เสียหายถ้าเป็นรถจักรยานยนต์ความเสียหายก็น้อย แต่ถ้าเป็นรถเบ๊นท์มีราคาสูงกว่า ความเสียหายก็สูงตามไป ดังนั้น การจะกำหนดความเสียหายมากน้อยเพียงใด ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสียหายจริงครับ
ประเด็นที่สี่ หลักเกณฑ์การเรียกค่าเสียหายในกรณีเสียหายต่อร่างกาย อนามัย แต่ไม่ถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ความเสียหายอันตนต้องเสียไปตามมาตรา 444 วรรคแรก
- เสียความสามารถประกอบการงานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต มาตรา 444 วรรคแรก
- ค่าขาดการงานแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรม มาตรา 445
- ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน มาตรา 446 เช่น ทนทุกข์ทรมาน พิการ เจ็บปวด ทุกขเวทนา เป็นต้น
ประเด็นที่ห้า ค่าเสียหายในกรณีทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
-ค่าปลงศพ ตามมาตรา 443 วรรคแรก
-ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ มาตรา 443 วรรคแรก
-ค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย มาตรา 443 วรรคสอง
-ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนได้ มาตรา 443 วรรคสอง
-ค่าขาดไร้อุปการะ มาตรา 443 วรรคสาม
-ค่าขาดการงานในครัวเรือนและอุตสาหกรรม มาตรา 445
ประเด็นสุดท้าย ถ้าท่านฟ้องร้องเป็นคดีละเมิดการเรียกค่าเสียหายจำนวนสูงจะต้องเสียค่าขึ้นศาลในขณะยื่นฟ้องในอัตราร้อยละ 2 ของทุนทรัพย์ ยกเว้นเป็นคดีผู้บริโภค ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม ตามมาตรา 18 ของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค แต่ถ้าท่านเรียกค่าเสียหายเกินสมควรศาลจะสั่งให้ท่านชำระเงินค่าวางศาลในอัตราร้อยละ 2 ของส่วนที่เกินจริง ดังนั้นผู้เสียหายจึงควรเรียกค่าเสียหายในคดีละเมิดตามสมควร ไม่ควรเรียกสูงเกินควร เพราะจะต้องเสียเงินค่าวางศาลในจำนวนที่สูงมากนะครับ และการสืบพยานเพื่อพิสูจน์ความเสียหายนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีพยานหลักฐานมาประกอบให้ชัดแจ้งศาลจึงจะกำหนดค่าเสียหายให้ ส่วนที่เรามโนโซเชี่ยลแบบเลื่อนลอยโดยทั่วไปศาลมักจะไม่กำหนดค่าเสียหายให้นะครับ