คดีซินแสโชกุนหลอกลวงประชาชน (ทัวร์ญี่ปุ่น)
1.คดีดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์สำหรับพี่น้องประชาชนที่ใช้บริการทัวร์ราคาถูก เพราะของดีราคาถูกไม่มี มีแต่เรื่องหลอกลวงทั้งนั้น ดังนั้นพี่น้องประชาชนจึงต้องระมัดระวัง
2.เมื่อถูกหลอกลวงประชาชนก็ต้องรีบแจ้งความและรีบกระจายข่าวทางโซเชี่ยลมีเดียเพื่อให้เป็นข่าวใหญ่ คดีนี้ถือว่าทำถูกต้องแล้ว
3.ถ้าเป็นข่าวใหญ่ตำรวจจะเร่งดำเนินคดีทันที แต่ถ้าไม่เป็นข่าวคดีก็อาจจะไม่มีความคืบหน้า
4.เมื่อถูกจับก็จะถูกดำเนินคดีฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343 และข้อหาดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายฟอกเงินอีกส่วนหนึ่ง
5.การหลอกลวงประชาชน แนวคำพิพากษาของศาลฎีกา ถือว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต้องลงโทษทุกกรรมเรียงกระทงลงโทษ เท่ากับจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวง อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 870/2549
6.ท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินคดีสอบถามได้ที่ทนายคลายทุกข์ 081-6161425,02-9485700
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“ความผิดมูลฐาน” หมายความว่า
(3) ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
มาตรา 5 ผู้ใด
(1) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ
(2) กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
(3) ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะที่ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สินนั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน
มาตรา 6 ผู้ใดกระทำความผิดฐานฟอกเงิน แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักรผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ถ้าปรากฏว่า
(1) ผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
(2) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าว และได้กระทำโดยประสงค์ให้ความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักร หรือรัฐบาลไทยเป็นผู้เสียหาย หรือ
(3) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าว และการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐที่การกระทำเกิดขึ้นในเขตอำนาจของรัฐนั้น หากผู้นั้นได้ปรากฏตัวอยู่ในราชอาณาจักรและมิได้มีการส่งตัวผู้นั้นออกไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 7 ในความผิดฐานฟอกเงิน ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
(1) สนับสนุนการกระทำความผิดหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด
(2) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่ หรือวัตถุใด ๆ หรือกระทำการใด ๆ เพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ หรือเพื่อให้ได้รับประโยชน์ในการกระทำความผิด
ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้น เพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
มาตรา 8 ผู้ใดพยายามกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ
มาตรา 49 ภายใต้บังคับมาตรา 48 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้เลขาธิการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว
ในกรณีที่พนักงานอัยการเห็นว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์พอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนตกเป็นของแผ่นดินได้ ให้พนักงานอัยการรีบแจ้งให้เลขาธิการทราบเพื่อดำเนินการต่อไป โดยให้ระบุข้อที่ไม่สมบูรณ์นั้นให้ครบถ้วนในคราวเดียวกัน
ให้เลขาธิการรีบดำเนินการตามวรรคสองแล้วส่งเรื่องเพิ่มเติมไปให้พนักงานอัยการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง หากพนักงานอัยการยังเห็นว่าไม่มีเหตุพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนตกเป็นของแผ่นดิน ให้พนักงานอัยการรีบแจ้งให้เลขาธิการทราบเพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่ได้รับเรื่องจากเลขาธิการ และเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเป็นประการใดให้พนักงานอัยการและเลขาธิการปฏิบัติตามนั้น หากคณะกรรมการมิได้วินิจฉัยชี้ขาดภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ปฏิบัติตามความเห็นของพนักงานอัยการ
เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดไม่ให้ยื่นคำร้องหรือไม่วินิจฉัยชี้ขาดภายในกำหนดระยะเวลาและได้ปฏิบัติตามความเห็นของพนักงานอัยการตามวรรคสามแล้ว ให้เรื่องนั้นเป็นที่สุด และห้ามมิให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับบุคคลนั้นในทรัพย์สินเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญ ซึ่งน่าจะทำให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของบุคคลนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ และในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าไม่มีผู้ใดขอรับคืนทรัพย์สินดังกล่าวภายในสองปีนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดไม่ให้ยื่นคำร้องหรือไม่วินิจฉัยชี้ขาดภายในกำหนดระยะเวลา ให้สำนักงานดำเนินการนำทรัพย์สินนั้นส่งเข้ากองทุนและในกรณีที่มีผู้มาขอรับคืนโดยใช้สิทธิขอรับคืนตามกฎหมายอื่นซึ่งสามารถทำได้ถึงแม้จะเกินกว่ากำหนดสองปี ให้สำนักงานส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้มาขอรับคืน หากไม่อาจส่งคืนทรัพย์สินได้ให้คืนเป็นเงินจากกองทุนแทน หากยังไม่มีผู้มารับคืนเมื่อล่วงพ้นห้าปี ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของกองทุน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ การเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินหรือเงินในระหว่างที่ยังไม่มีผู้มารับคืน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
เมื่อศาลรับคำร้องที่พนักงานอัยการยื่นต่อศาลแล้ว ให้ศาลสั่งให้ปิดประกาศไว้ที่ศาลนั้น และประกาศอย่างน้อยสองวันติดต่อกันในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นเพื่อให้ผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอก่อนศาลมีคำสั่งกับให้ศาลสั่งให้ส่งสำเนาประกาศไปยังเลขาธิการเพื่อปิดประกาศไว้ที่สำนักงานและสถานีตำรวจท้องที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่และถ้ามีหลักฐานแสดงว่าผู้ใดอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน ก็ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งให้ผู้นั้นทราบ เพื่อใช้สิทธิดังกล่าว การแจ้งนั้นให้แจ้งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ครั้งหลังสุดของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏในหลักฐาน
ในกรณีตามวรรคหนึ่งถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ให้เลขาธิการขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินด้วยในคราวเดียวกันและเมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้ให้ผู้เสียหายตามวรรคนี้แล้ว ให้สำนักงานดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลโดยเร็ว
มาตรา 60 ผู้ใดกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 61 นิติบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 7 มาตรา 8 หรือมาตรา 9 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
ในกรณีที่การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งของนิติบุคคลเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2549 (ฉ้อโกงประชาชนเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ)
การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไม่จำเป็นที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยที่ 1 แสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แต่เป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยที่ 1 กู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ดังนั้นการที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยที่ 1 รับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย
ฎีกาคดีฟอกเงิน
1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6602/2550
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ให้คำจำกัดความคำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ไว้แล้ว ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจึงมิได้หมายความว่า ต้องเป็นทรัพย์สินในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้กระทำผิดและถูกลงโทษเท่านั้น เพียงแต่หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น หรือเป็นทรัพย์สินอื่นที่ได้มาจากกการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าวหรือเป็นดอกผลของทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าว ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดแล้ว
ทรัพย์สินรายการที่ (1) ถึง (13) และ (17) ถึง (23) เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานมาก่อนต้องบังคับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคสอง คือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้
ทรัพย์สินรายการที่ (14) ถึง (16) และ (24) ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งมิได้เป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานมาก่อน เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลงโดยรับโอนมาจากผู้คัดค้านที่ 2 และมีอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 5 ชั้น ปลูกอยู่บนที่ดินต้องบังคับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 (2) คือ ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องแสดงให้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้รับโอนที่ดินทั้งสามแปลงโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนและเป็นเจ้าของอาคารดังกล่าว
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าวมิใช่ความรับผิดทางแพ่งตามความหมายของคำว่า "การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง" ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพียงแต่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้คัดค้านหรือจำเลยในคดีอาญาจะได้กระทำความผิดหรือศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหรือไม่ คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในกรณีที่ศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาจึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง บัญญัติให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ก็ถือว่าเป็นคดีแพ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้นไม่ชอบเพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง
2.คำพิพากษาฎีกาที่ 2770/2552
ตามมาตรา 5 (2) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ บัญญัติว่า "การกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน" ในข้อนี้แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำนวนเงิน 710,000 บาท ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความเพียงว่าเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 1 และตรวจค้นพบเงินจำนวนดังกล่าวบรรจุอยู่ในกล่องสุราที่จำเลยที่ 1 ถืออยู่ และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาของเงินจำนวนนี้ในลักษณะที่เป็นการฟอกเงิน กล่าวคือ ทำให้เงินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแปรสภาพเป็นเงินที่ได้มาโดยเสมือนหนึ่งถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานฟอกเงินตามฟ้อง
3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7290/2554
ความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 60 โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่า เงินของกลางเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำที่เป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ความผิดมูลฐานที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำของอะไรเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงศุลกากร จนเป็นเหตุให้มีเงินของกลางดังกล่าว การที่จำเลยจะนำเงินของกลางเพื่อออกนอกราชอาณาจักร จำเลยจะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เงินของกลางอาจเป็นเพียงของที่ใช้ในการกระทำความผิดฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเท่านั้น ไม่อยู่ในนิยามคำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามความในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
การซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเหตุให้ได้เงินของกลางมานั้น เป็นความผิดต่อกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉพาะ ไม่อยู่ในนิยาม "ความผิดมูลฐาน" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3
4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5289/2555
ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 และ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ตามที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ให้นิยามความผิดมูลฐานไว้ ไม่รวมถึงความผิดฐานเสพหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะในสภาพความผิด ผู้กระทำความผิดไม่ได้ทรัพย์สินใดจากการกระทำผิด จึงไม่มีเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่ศาลจะสั่งให้ทรัพย์สินของผู้นั้นตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อ บ. ถูกศาลอาญาพิพากษาว่า มีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษเพื่อเสพ มิใช่มีไว้เพื่อจำหน่าย บ. จึงมิใช่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐาน แม้ บ. จะเป็นสามีผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านก็ไม่ใช่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ส่วน ส. และ ว. พี่สาวผู้คัดค้าน ช. สามีของ ว. และ พ. หลานของผู้คัดค้านเคยต้องหาว่า ครอบครองเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายและความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ก็ตาม แต่การที่บุคคลดังกล่าวเป็นญาติของผู้คัดค้าน ผู้ร้องต้องนำสืบให้เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านด้วย จึงจะต้องด้วยบทสันนิษฐานตามมาตรา 51 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542