การย่นหรือขยายเวลาตามกำหนด|การย่นหรือขยายเวลาตามกำหนด

การย่นหรือขยายเวลาตามกำหนด

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

การย่นหรือขยายเวลาตามกำหนด

คู่ความที่ต้องการขยายอุทธรณ์ฎีกาขยายเวลา

บทความวันที่ 8 ธ.ค. 2554, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 26794 ครั้ง


การย่นหรือขยายเวลาตามกำหนด

           คู่ความที่ต้องการขยายอุทธรณ์ฎีกาขยายเวลายื่นคำให้การขยายเวลาในการขอพิจารณาคดีใหม่ หรือในการขอขยายเวลาเพื่อขอความเห็นจากหน่วยงานจะต้องคำนึงถึงกฎหมายในแต่ละหน่วยงานว่า มีการกำหนดเงื่อนเวลาไว้อย่างไร  การขอขยายระยะเวลาจะต้องยื่นก่อนวันสิ้นสุด ถ้าพ้นกำหนดเวลาสิ้นสุดไปแล้ว จะขอขยายได้ ต้องเป็นเหตุสุดวิสัย มีความจำเป็นไม่อาจขอขยายได้ ก่อนระยะเวลาสิ้นสุดเท่านั้น

ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 23 
เมื่อศาลเห็นสมควรหรือมีคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้หรือตามที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในกฎหมายอื่น เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้นแต่การขยายหรือย่นเวลาเช่นว่านี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย

มาตรา 79  ถ้าการส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นไม่สามารถจะทำได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน ศาลอาจสั่งให้ส่งโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือปิดคำคู่ความหรือเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของคู่ความหรือบุคคลผู้มีชื่อระบุไว้ในคำคู่ความหรือเอกสาร หรือมอบหมายคำคู่ความหรือเอกสารไว้แก่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในท้องถิ่นหรือเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วปิดประกาศแสดงการที่ได้มอบหมายดังกล่าวแล้วนั้นไว้ดังกล่าวมาข้างต้น หรือลงโฆษณาหรือทำวิธีอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควร
การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยวิธีอื่นแทนนั้น ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันหรือระยะเวลานานกว่านั้นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ได้ล่วงพ้นไปแล้วนับตั้งแต่เวลาที่คำคู่ความหรือเอกสารหรือประกาศแสดงการมอบหมายนั้นได้ปิดไว้ หรือการโฆษณาหรือวิธีอื่นใดตามที่ศาลสั่งนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว

มาตรา 177  เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน
ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น
จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก
ให้ศาลตรวจดูคำให้การนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้คืนไปหรือสั่งไม่รับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ ให้ใช้บังคับแก่บุคคลภายนอกที่ถูกเรียกเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (3) โดยอนุโลม

มาตรา 199จัตวา  คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทนจะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว ในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น
คำขอตามวรรคหนึ่งให้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดยื่นคำให้การและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้า ให้แสดงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย

มาตรา 229  การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นสำเนาอุทธรณ์ต่อศาล เพื่อส่งให้แก่จำเลยอุทธรณ์ (คือฝ่ายโจทก์หรือจำเลยความเดิมซึ่งเป็นฝ่ายที่มิได้อุทธรณ์ความนั้น) ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 235 และ 236

มาตรา 296 จัตวา ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารยังไม่ออกไปตามคำบังคับของศาล ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติดังต่อไปนี้
(3) ปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 8 
คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น

1. กำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5294/2547 (การแสดงอำนาจพิเศษในคดีขับไล่)

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลย ปรากฏว่าคดีก่อนโจทก์ได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยขอให้ขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินซึ่งเป็นแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีนี้โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ผู้ร้องและบิดาผู้ร้องเช่าจากผู้แทนโจทก์ ผู้ร้องให้การต่อสู้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยการครอบครองทำประโยชน์ด้วยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปัจจุบัน ผู้ร้องและบิดาผู้ร้องไม่เคยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ตามที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานไว้ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของผู้ร้องและพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด คำพิพากษาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์และผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคำวินิจฉัยของคำพิพากษาดังกล่าวได้ ที่ผู้ร้องมิได้ฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาให้ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องในคดีก่อนด้วยก็มีผลเพียงว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง ศาลก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เท่านั้น แต่หากผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยฟ้องแย้งเข้ามาในคดี นอกจากศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้วก็ยังจะต้องมีคำพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามฟ้องแย้งด้วย เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้ร้องและตามคำคัดค้านของโจทก์คดีนี้เพียงพอแก่การวินิจฉัยคำร้องของผู้ร้องได้เช่นนี้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะนำข้อเท็จจริงดังกล่าวในคดีก่อนซึ่งผูกพันโจทก์และผู้ร้องมาฟังในคดีนี้เพื่อวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเดียวกันได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดไต่สวนพยานแล้ววินิจฉัยว่าผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลย โดยหยิบยกคำพิพากษาในคดีดังกล่าวมาเป็นข้อวินิจฉัยในคดีนี้โดยมิได้มีการไต่สวน จึงชอบแล้ว

2. กำหนดเวลาตามที่ศาลกำหนด
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 18 ให้ศาลมีอำนาจที่จะตรวจคำคู่ความที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลได้รับไว้เพื่อยื่นต่อศาล หรือส่งให้แก่คู่ความ หรือบุคคลใด ๆ
ถ้าศาลเห็นว่าคำคู่ความที่ได้ยื่นไว้ดังกล่าวแล้วนั้น อ่านไม่ออกหรืออ่านไม่เข้าใจหรือเขียนฟุ่มเฟือยเกินไป หรือไม่มีรายการ ไม่มีลายมือชื่อ ไม่แนบเอกสารต่าง ๆ ตามที่กฎหมายต้องการ หรือมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกต้องครบถ้วน ศาลจะมีคำสั่งให้คืนคำคู่ความนั้นไปให้ทำมาใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติม หรือชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วน ภายในระยะเวลาและกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตลอดจนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ ถ้ามิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลในระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ก็ให้มีคำสั่งไม่รับคำคู่ความนั้น
ถ้าศาลเห็นว่าคำคู่ความที่ได้นำมายื่นดังกล่าวข้างต้น มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายที่บังคับไว้ นอกจากที่กล่าวมาในวรรคก่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเห็นว่าสิทธิของคู่ความหรือบุคคลซึ่งยื่นคำคู่ความนั้นได้ถูกจำกัดห้ามโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาล ก็ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความนั้นไปเพื่อยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ
ถ้าไม่มีข้อขัดข้องดังกล่าวแล้ว ก็ให้ศาลจดแจ้งแสดงการรับคำคู่ความนั้นไว้บนคำคู่ความนั้นเองหรือในที่อื่น
คำสั่งของศาลที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรานี้ ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา227, 228 และ 247

3. ระยะเวลาที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาในกฎหมายอื่น (ไม่ใช่อายุความ)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5521/2534
กำหนดเวลาให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30(2)เป็นการกำหนดเวลาให้ฟ้องคดีมิใช่เป็นอายุความในการเรียกร้องสิทธิใด ๆ และถึงแม้ไม่ได้เป็นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ แต่เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง อันกำหนดไว้ในป.รัษฎากร ศาลมีอำนาจขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวได้ ก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จำเลยฟ้องโจทก์ให้ชำระหนี้ภาษีอากรกรณีเดียวกันนั้นศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า การประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง ขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า การประเมินชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งโจทก์จะต้องอุทธรณ์ต่อศาลใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ แต่ขณะที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น คดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ยังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จึงไม่อาจยื่นฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ อีกทั้งโจทก์ก็ยังไม่มีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลเพราะในขณะนั้นคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางยังมีผลผูกพันคู่ความอยู่พฤติการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่โจทก์ไม่อาจขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ต่อศาลก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยที่ศาลพึงขยายระยะเวลาให้โจทก์ได้ เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 42(9) นั้น ต้องเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแสดงว่าต้องพิจารณาเจตนาของผู้ได้มาในขณะได้มาว่าเป็นการได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรหรือไม่การที่ จ. ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 แล้วทิ้งไว้นานจนถึงปี พ.ศ. 2523 จึงได้ขายไปโดยไม่ปรากฏว่า จ. ได้ปรับปรุงสภาพที่ดินให้ดีขึ้นอันเป็นปกติวิสัยของผู้ที่มีเจตนามุ่งในทางการค้าหรือหากำไรพึงกระทำและเหตุที่ จ. ซื้อที่ดินมาก็เพื่อหักหนี้ที่สามีของผู้ขายค้างชำระอยู่ส่วนหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า จ. ซื้อที่ดินมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เมื่อขายที่ดินแปลงดังกล่าวไปย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ในส่วนนี้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2548
กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน เป็นกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี ถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง กำหนดเวลาดังกล่าวแม้เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 (2) แห่ง ป.รัษฎากรฯ แต่ก็เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ใน ป.รัษฎากรฯ ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับฯ เป็นเพียงระเบียบที่กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินถือปฏิบัติไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องถือตามระเบียบดังกล่าว ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินงดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้เองในกรณีที่มีเหตุสมควรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอีกด้วย
กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ โจทก์ต้องสืบพยานให้เห็นว่ากรณีของโจทก์มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับเพราะเหตุใด เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์

4. คู่ความอาจย่นหรือขยายได้  แต่ต้องมีพฤติการณ์พิเศษ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2752/2548 
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2545 แต่วันครบกำหนดฎีกาตรงกับวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2545 จำเลยจึงมีสิทธิยื่นฎีกาในวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2545 และแม้จำเลยยื่นคำแถลงขอถ่ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 และได้รับเอกสารที่ขอถ่ายในวันที่ 27 มิถุนายน 2545 ก็ตาม แต่เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับเอกสารที่ขอถ่ายจนถึงวันที่จำเลยมีสิทธิยื่นฎีกาแล้วปรากฏว่ายังมีเวลาเหลืออยู่อีก 18 วัน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะทำคำฟ้องฎีกายื่นต่อศาลได้ทัน ที่จำเลยอ้างเหตุในการขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาว่า ทนายจำเลยได้ศึกษาข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์แล้วปรากฏว่ามีหลายประเด็นที่แตกต่างไปจากข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นซึ่งทนายจำเลยต้องทำรายงานเสนอคณะกรรมการบริษัทจำเลยพิจารณาอนุมัติยื่นฎีกา ระยะเวลาที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอที่คณะกรรมการบริษัทจำเลยจะพิจารณาอนุมัติยื่นฎีกาและทนายจำเลยไม่สามารถจัดทำฎีกายื่นต่อศาลได้ทันนั้น ก็ไม่ปรากฏว่านับแต่วันที่จำเลยได้รับเอกสารที่ขอถ่ายจนถึงวันที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาคือวันที่ 8 กรกฎาคม 2545 ทนายจำเลยได้ดำเนินการไปถึงไหน เรื่องอยู่ในขั้นตอนใด และมีข้อขัดข้องอย่างไรที่ทำให้ทนายจำเลยไม่สามารถยื่นฎีกาภายในเวลาที่ยังเหลืออยู่อีก 6 วันได้ทัน ถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2509
'เหตุสุดวิสัย' ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา23 หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งได้มิได้หมายถึงว่า'พฤติการณ์พิเศษที่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาไม่อาจกระทำได้ภายในกำหนดนั้นต้องเป็นเหตุสุดวิสัยเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 23 จึงไม่จำต้องเป็นเหตุอันเกิดจากภัยธรรมชาติซึ่งไม่มีใครอาจป้องกันได้ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 หากมีพฤติการณ์นอกเหนือที่ศาลไม่อาจมีคำสั่งขยายเวลาให้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาย่อมนับได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยการสั่งขยายเวลาศาลมีอำนาจสั่งเองได้ โดยคู่ความไม่ต้องร้องขอ
ระยะเวลา 14 วันที่กำหนดให้ลูกหนี้ของบุคคลผู้ล้มละลายปฏิเสธหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 119 นั้นศาลอาจสั่งขยายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 และการที่เจ้าหนี้ปฏิเสธหนี้ส่งทางไปรษณีย์ถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ช้าไป 1 วันนั้น ก็ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะสั่งขยายเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2535
เหตุสุดวิสัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือเหตุที่คู่ความไม่สามารถมีคำขอขึ้นมาก่อนกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ การที่ทนายจำเลยหลงลืมไม่ได้ยื่นใบแต่งทนายความพร้อมกับคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดนั้น เป็นเพราะทนายจำเลยขาดความรอบคอบหรือไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามมาตราดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2489
การสั่งขยายระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ จะสั่งได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และสั่งก่อนสิ้นระยะเวลา เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย
การที่ผู้อุทธรณ์ไม่วางเงินค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียแทนอีกฝ่ายหนึ่ง ในอายุความอุทธรณ์โดยไม่รู้เท่าถึงการนั้น ไม่นับว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะสั่งขยายเวลาวางเงินได้
ศาลสั่งรับอุทธรณ์ไว้แล้ว แต่ผู้อุทธรณ์วางเงินค่าธรรมเนียมที่จะใช้แทนอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อพ้นอายุอุทธรณ์ก็ถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2497
จำเลยฎีกาเมื่อความเพิ่งปรากฏว่าโจทก์ตายก่อนฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และไม่มีผู้ใดขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ ทั้งจำเลยก็ไม่ขอให้เรียกผู้ใดเข้ามาเป็นคู่ความแทนจนเวลาล่วงเลยเกิน 1 ปีแล้วดังนี้ กรณีมีพฤติการณ์พิเศษประกอบด้วยข้อเท็จจริง เพิ่งจะปรากฏขึ้น ณบัดนี้ ศาลฎีกามีอำนาจสั่งขยายระยะเวลาเพื่อจำเลย จัดหาตัวผู้รับมรดกความโจทก์ได้ตามความในมาตรา 23

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2522/2531
ในคดีก่อนโจทก์แถลงถึงเหตุผลของการถอนฟ้องว่า ตอนออกจากงานโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยเป็นค่าชดเชยตามระเบียบแล้ว เมื่อทราบจากคำให้การจำเลยว่า จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวเป็นค่าชดเชย จึงไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไป ขอถอนฟ้อง คำแถลงดังกล่าวมีข้อความไม่ชัดแจ้ง หรือแปลได้ว่าโจทก์สละสิทธิที่จะเรียกร้องในมูลกรณีเดียวกันนั้นกับจำเลยอีกในภายหลัง เป็นแต่เพียงโจทก์เชื่อตามคำให้การของจำเลยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย จึงขอถอนฟ้องเท่านั้นโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้ใหม่
จำเลยวางระเบียบการจ่ายเงินทดแทนให้พนักงานและคนงานประจำที่ลาออกจากหน้าที่การงาน หรือถูกเลิกจ้าง ต่อมาได้เปลี่ยนคำว่าเงินทดแทนเป็นค่าชดเชย แม้จะเปลี่ยนคำให้ตรงกับคำในกฎหมายแต่หลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยของจำเลยก็ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ไปตามระเบียบของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นเงินสงเคราะห์เพื่อตอนแทนการทำงานของพนักงานหรือลูกจ้างที่ทำงานตลอดมาจนออกจากงานหรือลาออกเอง หรือถึงแก่ความตายดังนี้เงินดังกล่าวไม่ใช่ค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานข้อ 47 ของประกาศกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดให้จ่ายแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2532
ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่ม โจทก์ไม่ได้นำมาชำระภายในกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความวันรุ่งขึ้นโจทก์ยื่นคำร้องอ้างเหตุที่ไม่นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมมาชำระตาม คำสั่งศาลว่าเนื่องจากฝนตก หนักการจราจรติดขัดมาก ได้ โทรศัพท์แจ้งเหตุขัดข้องให้พนักงานรับฟ้องทราบเมื่อเวลา 15 นาฬิกา และเดินทางมาถึง ศาลเมื่อเวลา 17 นาฬิกาพนักงานศาลไม่ยอมรับค่าฤชาธรรมเนียม อ้างว่าศาลปิดทำการแล้วโจทก์มิได้จงใจทิ้งฟ้อง เป็นเหตุสุดวิสัย ขอให้ศาลไต่สวนอนุญาตให้โจทก์วางเงินค่าธรรมเนียมและดำเนิน กระบวนพิจารณาต่อไป ดังนี้แม้ศาลชั้นต้นจะได้ สั่งจำหน่ายคดีโดย เห็นว่าโจทก์ทิ้งฟ้องไปแล้วก็ตามแต่ เมื่อโจทก์มายื่นคำร้องแสดงเหตุอันสมควร ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะทำการไต่สวนคำร้อง ของ โจทก์เพื่อทราบข้อเท็จจริง และถ้า เห็นว่าโจทก์มีพฤติการณ์พิเศษและเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนคำสั่งที่สั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและให้จำหน่ายคดีจากสารบบความนั้นเสียได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และขยายระยะเวลาให้แก่โจทก์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23. (วินิจฉัยโดย ที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2532)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2536
ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาและค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ เพราะวางเมื่อพ้นกำหนดฎีกา เป็นคำสั่งเกี่ยวกับการขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หาใช่การสั่งเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว ก็ชอบที่จะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ไปตามลำดับชั้นศาล ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจจำเลยที่ 1ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวโดยตรงต่อศาลฎีกาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2536
ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาและค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ เพราะวางเมื่อพ้นกำหนดฎีกา เป็นคำสั่งเกี่ยวกับการขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หาใช่การสั่งเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว ก็ชอบที่จะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ไปตามลำดับชั้นศาล ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจจำเลยที่ 1ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวโดยตรงต่อศาลฎีกาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3062/2544
จำเลยต้องขังในเรือนจำในระหว่างพิจารณามาตลอดและยังไม่ได้รับอนุญาตให้คัดสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาต่อศาลชั้นต้นจำเลยย่อมไม่อาจทราบเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์โดยละเอียดถี่ถ้วนในข้อที่จำเลยอุทธรณ์คัดค้านว่า ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากสำนวนความเป็นเหตุให้ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลยในสถานหนักจำเลยจึงไม่อาจจัดทำฎีกาได้ กรณีถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่มีเหตุสมควรขยายระยะเวลาฎีกาให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 371/2545
จำเลยปล่อยเวลาล่วงเลยไปถึง 25 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้วจึงไปขอถ่ายสำเนาคำพิพากษา แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้เอาใจใส่ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงไม่ใช่กรณีมีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยตามกฎหมายที่จะอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้
เมื่อทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์เวลา 15.35 นาฬิกา เจ้าพนักงานศาลก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปตามระบบงานที่เป็นอยู่ แต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าในแต่ละวันมีคู่ความหรือประชาชนไปติดต่อกับเจ้าพนักงานศาลเป็นจำนวนมากไม่ได้มีเฉพาะจำเลยเพียงคนเดียว ซึ่งทนายจำเลยก็น่าจะรู้ดี ฉะนั้นการที่เจ้าพนักงานศาลนำคำร้องดังกล่าวเสนอต่อศาลและศาลมีคำสั่งในวันรุ่งขึ้นจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดระบุว่าศาลต้องมีคำสั่งคำร้องในวันที่คู่ความยื่นคำร้องแต่อย่างใดด้วยสาเหตุที่ทำให้จำเลยเสียสิทธิในการยื่นอุทธรณ์มาจากจำเลยและทนายจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ได้เอาใจใส่รีบยื่นคำแถลงขอถ่ายเอกสารเสียแต่เนิ่น และเมื่อยื่นแล้วก็ไม่ได้เอาใจใส่ประการใด ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันถัดจากวันครบกำหนดอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385/2545
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยทั้งสองไปแล้วทางแก้คือจำเลยทั้งสองต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์และนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาล และนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการดังกล่าวจนพ้นกำหนดระยะเวลา คดีย่อมถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง จำเลยทั้งสองไม่อาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในการวางเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา 229 ได้อีก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์และรับฎีกาของจำเลยทั้งสองมาและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยเรื่องการขอขยายระยะเวลาให้จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5923/2545
ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 4 นำพยานเข้าสืบเป็นลำดับสุดท้าย จำเลยที่ 4นำพยานเข้าสืบได้ 1 ปาก แล้วแถลงว่ายังติดใจสืบอีกเพียง 1 ปาก ขอเลื่อนคดีไปสืบพยานปากนี้ในนัดหน้า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 4 ในวันที่ 19ธันวาคม 2540 เวลา 8.30 นาฬิกา แต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 4 ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นจึงถือว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีพยานมาสืบให้งดสืบพยานจำเลยที่ 4 คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณา นับเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามลำดับขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพราะจำเลยที่ 4 เป็นคู่ความที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเป็นลำดับสุดท้าย เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่มีพยานมาสืบแล้วต้องถือว่าคดีเสร็จการพิจารณา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 37 และมาตรา 133 วางหลักไว้ว่า ศาลจะต้องทำการนั่งพิจารณาต่อเนื่องกันไปจนกว่าจะเสร็จการพิจารณาและพิพากษาคดี โดยให้ศาลมีคำพิพากษาในวันที่เสร็จสิ้นการพิจารณา ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 19 ธันวาคม 2540 ว่าคดีเสร็จการพิจารณาและรอฟังคำพิพากษา และในวันดังกล่าวศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาชี้ขาดคดีย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันที่ 19 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นเสร็จการพิจารณาถือว่าจำเลยที่ 4 ได้ทราบคำพิพากษาตั้งแต่วันนั้น จำเลยที่ 4 จึงชอบที่จะต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 19 มกราคม 2541 หรือยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นกำหนดเวลา หากยื่นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 จำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2541 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 4เพิ่งทราบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อปลายเดือนมกราคม 2541 ซึ่งล่วงเลยเวลาที่จำเลยที่ 4 จะยื่นอุทธรณ์ได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวเป็นความบกพร่องของจำเลยที่ 4 เอง ไม่อาจถือว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยได้ ส่วนการที่จำเลยที่ 4 อ้างว่า เมื่อทราบคำพิพากษาแล้วได้ไปติดต่อขอคัดสำนวน กว่าจะคัดได้ก็ถึงเดือนมีนาคม2541 นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยที่ 4 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 19 มกราคม 2541

ตัวอย่างแนววินิจฉัยของศาลฎีกาเกี่ยวกับการย่นหรือขยายเวลาตามกฎหมายเพิ่มเติม

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 2

อ่านแนวฎีกาแล้ว คนที่เป็นทนายความ ถ้าพลาดตายอย่างเดียวครับ (ผมก็เป็นทนายความนะครับ)  

ลองพิจารณาดูคำพิ.ษ ศฎ. ที่บอกว่า ผู้อุทธรณ์ไม่วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไปวางเมื่อพ้นกำหนดเวลาวาง เป็นอุทธรณ์ไม่ชอบ 

อย่างนี้เป็นไงครับ จะออกทางไหนล่ะ (จบชีวิต) แต่ถ้าศาลพลาดก็เพิกถอนคำสั่งที่พลาดแล้วสั่งใหม่ตามมาตรา 27 เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แล้วสั่งใหม่แค่นั้น 

คนเรานะครับ บางทีก็ไม่ได้รู้ไปหมดทุกอย่าง การตีความอย่างนี้ อืม ผมมองว่ามันไม่ค่อยจะแฟร์เลยครับ 

แล้วก็ดูฏีกาอีกเรื่องนะครับ ที่บอกว่านับแต่วันที่จำเลยได้รับเอกสารที่ขอถ่าย จนถึงวันที่จำเลยมีสิทธิยื่นฎีกา ปรากฏว่ามีระยะเวลาเหลืออยู่.....วัน กี่วันก็แล้วแต่ อยู่ในวิสัยที่จะทำฎีกาได้ทัน ถามหน่อยครับว่า ทนายจำเลยก็ดี จำเลยเองก็ดี แม้กระทั่งท่านผู้อ่านก็ดี เคยมั้ยครับที่บางช่วงชีวิต บางช่วงเวลา มันโคตรยุ่งเลย ข้างบนก็บีบ ข้างล่างก็แตะ เราก็ทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด เสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้หยุดกับเค้าหรอก คนที่เค้ามีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบหลายอย่าง มันก็ต้องมีหลุดกันบ้าง ทำไม่ทันหรอก ไอ้การให้เหตุผลมันก็ดูดี แต่ความเป็นจริงแล้ว ดูใจแคบจัง ตอนเขียนน่ะคำนึงถึงตรงด้านนี้ของเค้าหรือไม่ ก็นึกว่าเค้าเป็นคนทำงานดูซิ ควรจะให้เวลาเค้าหน่อยมั้ย มันจะเสียความยุติธรรมมั้ย ถ้าขยายระยะเวลาให้เค้า มันจะเป็นไรไป มันจะเสียความยุติธรรมเหรอ ตีความอย่างนี้ นึกถึงอนาคตของทนายความหรือไม่ ลูกความจะมองเค้ายังงัย ครอบครัวเค้าจะเป็นยังงัย (เจอมากับตัวครับ)     

โดยคุณ จุ๊บ 23 มิ.ย. 2560, 07:31

ความคิดเห็นที่ 1

 แล้วถ้าครบกำหนดระยะอุทธรณ์แล้วต้องการขยายอุทธรณ์เพิ่มให้นับกี่วัน และนับตั้งแต่วันที่ขอยื่นอุทธรณ์ หรือป่าวค่ะ รบกวนหน่อยนะต่ะ

โดยคุณ แตงโม 24 ต.ค. 2559, 15:42

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก