แจ้งความโฉนดหาย ผิดฐานแจ้งความเท็จ
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1807/2531
บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการมอบอำนาจให้ ส. ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ขออายัดที่ดินหลายโฉนดของโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์เป็นลูกหนี้จำเลย ทั้งๆ ที่ศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าโจทก์มิได้เป็นลูกหนี้จำเลย จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน แม้ต่อมากรมที่ดินจะเห็นว่าจำเลยมิได้มีส่วนได้เสียจึงไม่รับอายัด ก็เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และประชาชนแล้ว จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,267,83
การกระทำของนิติบุคคลย่อมแสดงให้ปรากฏโดยการกระทำของผู้แทนนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันกระทำการเพื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็ต้องร่วมรับผิดในการกระทำนั้นด้วย.
2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2530
ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 กำหนดให้เฉพาะแต่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้น เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อปรากฏว่า อ. เป็นเพียงปลัดอำเภอและมิได้เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอ แม้นายอำเภอจะมีคำสั่งแต่งตั้งให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชน อ. ก็มีฐานะเป็นเพียงผู้ทำการแทนนายอำเภอเท่านั้น หาใช่เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวไม่อ. จึงไม่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ดังนั้นการที่จำเลยยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ.จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 มาตรา 17 แต่การที่อ. ทำการแทนนายอำเภอดังกล่าวนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่า อ. มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ ดังนั้น การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ.และอ. จดข้อความที่แจ้งลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 แล้ว.
3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2528
การที่จำเลยเป็นคนสัญชาติญวนไม่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หลังหนึ่งเลยแล้วไปแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมทะเบียน จดข้อความเท็จลงในทะเบียนบ้านอีกหลังหนึ่งว่าจำเลยเป็นคนสัญชาติไทย ย้ายมาจากบ้านที่จำเลยไม่เคยมีชื่ออยู่นั้นการกระทำของจำเลย ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบังอาจแจ้งความเท็จต่อนายทะเบียนเขตดุสิตว่า จำเลยมีสัญชาติไทย ขอทำบัตรประชาชนคนไทยและนายทะเบียนเขตดุสิต ได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลยอันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ สำหรับใช้เป็นหลักฐานยืนยันตัวบุคคลและสัญชาติ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายแก่นายทะเบียนเขตดุสิตนั้น เมื่อปรากฏว่าบัตรประจำตัวประชาชน ที่เจ้าพนักงานออกให้นั้น ไม่มีการจดข้อความเท็จที่ว่าจำเลยมีสัญชาติไทย ลงไว้กรณีจึงไม่ครบองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 จำเลยคงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ แก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 เท่านั้น
การที่จำเลยซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหาว่าเป็นคนญวนอพยพ หนีจากเขตควบคุมให้การปฏิเสธพร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูนั้นเป็นการปฏิเสธในฐานะผู้ต้องหาแม้ข้อความ ที่จำเลยให้การนั้นจะเป็นเท็จก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา137 และจะเอาผิดแก่จำเลยฐานใช้ หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงาน จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ก็ไม่ได้อีกเช่นกัน
4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6099/2531
ข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้อง มิใช่เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวเมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว ผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจะเป็นผู้ใดหามีความสำคัญไม่ พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 จำเลยกรอกใบสมัครเพื่อสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าจำเลยจบการศึกษาประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย ความจริงแล้วจำเลยไม่ได้จบการศึกษาชั้นดังกล่าว อันเป็นการแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานผู้รับสมัครเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137กับแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือตามแผนการศึกษาของชาติในความหมายของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 19(1)ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2523 มาตรา 6 นั้น หมายถึงหลักสูตรหรือแผนการศึกษาของชาติในขณะที่ผู้นั้นสอบไล่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้เมื่อปรากฏว่าจำเลยสอบไล่ได้ตามหลักสูตรประโยคมัธยมวิสามัญศึกษาตอนปลายมัธยมปีที่ 6 ในปี พ.ศ. 2503 ซึ่งขณะนั้นแผนการศึกษาของชาติที่ใช้บังคับอยู่คือแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2494 สำหรับชั้นมัธยมศึกษาแยกออกเป็น 3 สาย ในสาย ข. มัธยมวิสามัญศึกษาซึ่งมีชั้นมัธยมวิสามัญตอนปลายเพียงแค่มัธยมปีที่ 6 เท่านั้น จึงถือว่าจำเลยสอบไล่ได้ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามแผนการศึกษาของชาติพ.ศ. 2494 แล้ว จำเลยจึงเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 19(1) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ที่แก้ไขแล้ว การที่จำเลยสมัครรับเลือกรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้จะกรอกคุณสมบัติทางการศึกษาลงในใบสมัครไม่ตรงต่อความจริง ก็ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 26 การที่จำเลยกระทำผิดโดยแจ้งคุณสมบัติทางการศึกษาเป็นเท็จเป็นเพราะจำเลยเข้าใจผิดว่าตนไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งความจริงแล้วจำเลยมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย เมื่อคำนึงถึงสภาพความผิดและพฤติการณ์สิ่งแวดล้อมแล้ว สมควรรอการลงโทษไว้
5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6470/2559
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงจะขายที่ดินให้แก่โจทก์และโจทก์ได้ชำระเงินค่าที่ดินบางส่วนแล้ว โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยินยอมให้โจทก์ยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นหลักประกัน โจทก์ในฐานะผู้จะซื้อย่อมมีสิทธิที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 รับชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือและให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจและแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จในคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินว่าต้นฉบับโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 สูญหาย จนกระทั่งเจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการกระทบต่อสิทธิของโจทก์ในการที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินที่โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกันตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน อีกทั้งหากจำเลยที่ 1 นำใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โจทก์ก็อาจไม่สามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ ดังนั้น แม้การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานและรัฐเป็นผู้เสียหายก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษจากการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) จึงมีอำนาจฟ้อง
#ปรึกษาคดี โทร.02-9485700, 081-6161425, 081-8217470, 081-6252161