ฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ ติดคุกแน่นอน ไม่รอการลงโทษ|ฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ ติดคุกแน่นอน ไม่รอการลงโทษ

ฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ ติดคุกแน่นอน ไม่รอการลงโทษ

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

ฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ ติดคุกแน่นอน ไม่รอการลงโทษ

  • Defalut Image

การที่จำเลยนำความเท็จมาฟ้องโจทก์และเบิกความเท็จนั้น ก็โดยเจตนาให้โจทก์ต้องโทษทางอาญา

บทความวันที่ 17 ก.ค. 2563, 11:38

มีผู้อ่านทั้งหมด 3564 ครั้ง


ฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ ติดคุกแน่นอน ไม่รอการลงโทษ

               การที่จำเลยนำความเท็จมาฟ้องโจทก์และเบิกความเท็จนั้น ก็โดยเจตนาให้โจทก์ต้องโทษทางอาญา หากศาลเชื่อว่าเป็นความจริงดังคำฟ้องและคำเบิกความของจำเลยแล้ว โจทก์อาจถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกได้ ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุก

1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2614/2562
            การที่จำเลยที่ 1 เบิกความอันเป็นเท็จสองครั้งในคดีเดียวกัน คือในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และชั้นพิจารณา แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราว แต่ก็เป็นการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกันประโยคเดียวกัน มูลเหตุเดียวกันมากล่าวอีกครั้ง โดยมีเจตนาให้โจทก์ต้องโทษในคดีเดียวกันเท่านั้น จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท หาได้เป็นความผิดต่างกรรมไม่
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2562)

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 175, 177

ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฟ้องเท็จ จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานร่วมกันเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา เป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายบทเดียวกัน แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 14,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และปรับ 24,000 บาท จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 14,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด เดอะ วอเตอร์ฟอร์ด พาร์ค คอนโดมิเนียม จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการบริษัทวี. พี. แอสเซ็ทส์ จำกัด และบริษัทพาร์คฮิลล์เรียลตี้ จำกัด ผู้ก่อตั้งโครงการเดอะ วอเตอร์ฟอร์ด พาร์ค คอนโดมิเนียม และเป็นเจ้าของรวมของอาคารชุด เดอะ วอเตอร์ฟอร์ด พาร์ค คอนโดมิเนียม มีนางสาวเปล่งศรี เป็นประธานคณะกรรมการบริหารนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2555 โจทก์ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 นายภูริชญ์ และนางสาวเปล่งศรี ได้พูดคุยเรื่องที่จำเลยที่ 1 เสนอปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ส่วนกลางของอาคารชุดดังกล่าว หลังจากนั้นได้พุดคุยเรื่องห้องน้ำบริเวณชั้นล็อบบี้และพื้นที่ส่วนกลาง โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้โต้เถียงกันหลายเรื่อง นางสาวเปล่งศรีจึงให้ยุติการประชุม ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทและดูหมิ่นซึ่งหน้าต่อศาลแขวงพระนครใต้ เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.4897/2556 และจำเลยที่ 1 และที่ 3 เบิกความเป็นพยานในคดีดังกล่าว ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเท็จและจำเลยที่ 1 และที่ 3 เบิกความเท็จในคดีก่อน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า มูลเหตุคดีนี้มาจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.4897/2556 ของศาลแขวงพระนครใต้ ซึ่งคดีถึงที่สุด ในคดีดังกล่าวโจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ฟ้องจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ว่า จำเลยได้ดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้าและใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ ต่อหน้าโจทก์ นางเปล่งศรี นายภูริชญ์ นายเอกสิทธิ์และนางอังสนาซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยจำเลยกล่าวถ้อยคำใส่ความโจทก์ว่า "โจทก์เป็นคนโกหก" "โจทก์เป็นคนคดโกง" "โจทก์เป็นคนไม่ดี" "สาปแช่งโจทก์ให้ไฟไหม้" "ชื่อเสียงโจทก์เหม็นเน่า" "โจทก์ไม่จ่ายค่าส่วนกลาง" จำเลยให้การปฏิเสธ ปัญหาที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคือจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า จำเลยได้กล่าวถ้อยคำใส่ความโจทก์ว่าโจทก์เป็นคนโกหก เป็นคนคดโกง เป็นคนไม่ดี สาปแช่งโจทก์ให้ไฟไหม้ ชื่อเสียงโจทก์เหม็นเน่า โจทก์ไม่จ่ายค่าส่วนกลาง ส่วนจำเลยเบิกความว่า จำเลยไม่เคยพูดถ้อยคำที่โจทก์อ้างว่า จำเลยกล่าวดูหมิ่นและหมิ่นประมาทโจทก์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจึงมาจากพยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบว่า จำเลยไม่ได้พูดถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหา มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบว่า จำเลยพูดถ้อยคำดูหมิ่นและหมิ่นประมาทโจทก์ อันเป็นการวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยไม่ได้พูดถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหา เมื่อคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้พูดถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหาในฟ้องดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีดังกล่าวจึงเป็นการเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่า กระทำความผิดอาญาและการที่โจทก์กับนางอังสนา (จำเลยที่ 3 ในคดีนี้) เบิกความว่าจำเลยพูดถ้อยคำตามที่โจทก์กล่าวหาในคดีดังกล่าวก็เป็นการเบิกความอันเป็นเท็จซึ่งเป็นข้อสำคัญในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงกระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคดีนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 1 เบิกความอันเป็นเท็จในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและในชั้นพิจารณานั้น เป็นความผิดต่างกรรมหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 เบิกความสองครั้งในคดีเดียวกันคือ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณา แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราว แต่ก็เป็นการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกัน ประโยคเดียวกัน มูลเหตุเดียวกันมากล่าวอีกครั้ง โดยมีเจตนาให้โจทก์ต้องโทษในคดีเดียวกันเท่านั้น จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 นำเอาความเท็จมาฟ้องว่า โจทก์กระทำความผิดอาญา และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เบิกความเท็จในคดีดังกล่าว แสดงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ประสงค์จะใช้ศาลเป็นเครื่องมือลงโทษโจทก์ที่ไม่ได้กระทำความผิดจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษ มาตรา 175 และมาตรา 177 โดยให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3

พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 (เดิม) ประกอบมาตรา 83, มาตรา 177 วรรคสอง (เดิม) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฟ้องเท็จ จำคุก 6 เดือน ฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา จำคุก 8 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 14 เดือน จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง จำคุก 8 เดือน

2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3963/2543
           การที่โจทก์ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาทให้แก่จำเลยนั้น เป็นการออกเช็คเพื่อค้ำประกันเงินกู้ที่โจทก์กู้ไปจากจำเลยจำนวน120,000 บาทเมื่อจำเลยนำเช็คพิพาทฉบับดังกล่าวไปฟ้องกล่าวหาว่าโจทก์ออกเช็คให้แก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา 4 จึงเป็นการฟ้องคดีอาญาต่อศาลว่าโจทก์กระทำความผิดการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ
          จำเลยเบิกความในการพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้นยืนยันตามฟ้องว่าเช็คพิพาทตามที่จำเลยฟ้องเป็นเช็คที่โจทก์ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ออกเช็คพิพาทให้จำเลยยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่โจทก์มีอยู่ต่อจำเลย คำเบิกความของจำเลยย่อมเป็นความเท็จและเป็นข้อสาระสำคัญในคดี เพราะถ้าศาลชั้นต้นฟังว่าเช็คพิพาทโจทก์ออกให้จำเลยเพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ ศาลชั้นต้นก็อาจพิพากษาลงโทษจำคุกโจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จ
         การที่จำเลยฟ้องเท็จและเบิกความเท็จในคดีอาญา ถึงแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้อง แต่โจทก์ผู้ถูกฟ้องย่อมได้ความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย
         การที่โจทก์ออกเช็คพิพาทและเขียนหนังสือประกอบการออกเช็คให้จำเลยมิใช่เพื่อจำเลยนำมาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ โจทก์จึงมิได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลย
         การที่จำเลยนำความเท็จมาฟ้องโจทก์และเบิกความเท็จนั้น ก็โดยเจตนาให้โจทก์ต้องโทษทางอาญา หากศาลเชื่อว่าเป็นความจริงดังคำฟ้องและคำเบิกความของจำเลยแล้ว โจทก์อาจถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกได้ ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุก

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2531 จำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขดำที่ ช. 3149/2531 คดีหมายเลขแดงที่ ช.1484/2533 ระหว่างนายสุรินทร์ แสงขำ โจทก์ นายนิทัศน์ ละอองศรี จำเลยว่าโจทก์ได้กระทำความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ใจความว่าโจทก์ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน500,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินยืมให้แก่จำเลยอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วโจทก์ออกเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่จำเลยเพื่อเป็นการค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ที่โจทก์ได้กู้จากจำเลยไปจำนวน 120,000 บาท และต่อมาจำเลยได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีของศาลชั้นต้นดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2530โจทก์ไปพบจำเลยที่บ้านเพื่อขอยืมเงิน 500,000 บาท โดยก่อนหน้านี้ 7 ถึง 8วัน โจทก์ได้ติดต่อจำเลยมาก่อน จำเลยตกลงให้ยืมเงิน โจทก์จึงได้ออกเช็คให้แก่จำเลย 1 ฉบับจำนวน 500,000 บาท โจทก์ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวต่อหน้าจำเลย และจำเลยได้มอบเงินให้แก่โจทก์รับไปครบถ้วนแล้วในวันดังกล่าว ต่อมาเมื่อเช็คฉบับดังกล่าวถึงกำหนดในวันที่ 29 กุมภาพันธ์2531 จำเลยนำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัดสาขาลาดพร้าว เพื่อให้เรียกเก็บเงินตามเช็ค ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างเหตุผลว่า "มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน" จำเลยได้ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปยังโจทก์และผู้สลักหลังเช็ค แต่บุคคลทั้งสามเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ตามเช็คให้จำเลย การกระทำของโจทก์เป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วตามวันที่จำเลยอ้างโจทก์มิได้กู้เงินจำเลย จำเลยมิได้มอบเงิน 500,000 บาทให้แก่โจทก์ เช็คฉบับที่จำเลยนำมาฟ้องโจทก์เป็นเช็คค้ำประกันเงินกู้จำนวน 120,000 บาทจำเลยมีอาชีพออกเงินกู้ การให้กู้เงินทุกรายจำเลยมิได้เรียกหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่จะใช้วิธีให้ผู้กู้ออกเช็คให้จำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรกสั่งจ่ายตรงกับเงินกู้ ฉบับที่สองเป็นเช็คค้ำประกันสั่งจ่ายสูงกว่าเงินกู้มาก โจทก์พร้อมที่จะชำระหนี้ให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่ยอมรับ จำเลยบังคับให้โจทก์เบิกความเท็จในคดีที่จำเลยฟ้องนาวาอากาศเอกไพศาล ศรีภักดี มิฉะนั้นจำเลยจะนำเช็คดังกล่าวมาฟ้องโจทก์ โจทก์ไม่ยินยอม จึงถูกจำเลยฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาอันเป็นการฟ้องเท็จ และมีผลให้จำเลยต้องเบิกความเท็จ ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์กู้เงินจำเลยไป 500,000 บาท แล้วออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 500,000 บาท ให้จำเลยเพื่อชำระหนี้เป็นความจริงหรือไม่ ย่อมเป็นสาระสำคัญในคดี หากศาลเชื่อว่าเป็นความจริงดังที่จำเลยฟ้องและเบิกความ โจทก์ก็ต้องถูกลงโทษทางอาญาขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 และ 177 วรรคสอง ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฟ้องเท็จจำคุก 1 ปี ฐานเบิกความเท็จจำคุก 1 ปี รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษจำเลยหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยกระทงละ 9 เดือนรวม2 กระทง เป็นจำคุก 18 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ กรณีความผิดฐานฟ้องเท็จนั้น เมื่อโจทก์และพยานโจทก์ต่างก็เบิกความว่าเป็นลูกหนี้เงินกู้ของจำเลย และจำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์และพยานโจทก์ต่างเป็นลูกหนี้เงินกู้ของจำเลยจริงและจำเลยยังให้บุคคลอื่นกู้เงินอีกหลายราย พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าจำเลยมีอาชีพให้กู้เงินด้วย ดังนั้น ที่จำเลยนำสืบว่าให้บุคคลอื่นกู้เงินโดยไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนนั้น จึงไม่น่าเชื่อถือและไม่สมเหตุผล เพราะเมื่อจำเลยเป็นผู้มีอาชีพให้กู้เงินย่อมจะมีความต้องการผลประโยชน์ตอบแทนอันเป็นปกติธรรมดา และในการกู้เงินโดยทั่วไปแล้ว ผู้กู้ย่อมจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้เงินกู้ให้แก่ผู้ให้กู้ แต่คดีนี้จำเลยเบิกความยอมรับว่าให้โจทก์กู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่จะให้ผู้กู้ออกเช็คชำระหนี้เงินกู้และมีผู้สลักหลังเช็คให้เท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นจริงดังคำเบิกความ จำเลยในฐานะมีอาชีพให้กู้เงินย่อมมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียเงินที่ให้กู้ไปได้โดยไม่มีความมั่นคงว่าจะได้รับต้นเงินกู้คืน ดังนั้น การที่จำเลยให้ผู้กู้เงินออกเช็คอีกฉบับหนึ่งก็เพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้และค้ำประกันเช็คฉบับแรกที่ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ จึงมีเหตุผลให้รับฟังและเป็นไปได้อย่างยิ่งดังที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ออกเช็คพิพาทจำนวนเงิน 500,000บาท เพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้ของโจทก์ที่ค้างชำระจำเลยจำนวน 120,000 บาทส่วนที่โจทก์ทำหนังสือประกอบการออกเช็คไว้ตามเอกสารหมาย ล.2 หรือ จ.5ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ช. 1484/2533 โดยระบุว่าโจทก์ออกเช็คจำนวน 500,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้นโจทก์และพยานโจทก์ต่างก็เบิกความว่าเป็นข้อบังคับของจำเลยที่จะให้ผู้กู้ทำหนังสือดังกล่าว มิฉะนั้นจำเลยก็จะไม่ให้กู้หรือเรียกเงินกู้ที่ค้างชำระคืนทันที โจทก์จึงจำเป็นต้องทำบันทึกให้ ดังนั้น การที่โจทก์ทำหนังสือประกอบการออกเช็คให้จำเลยดังกล่าวจึงมิได้เป็นไปโดยความสมัครใจตามความเป็นจริงและเมื่อพิจารณาถึงการที่โจทก์มีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงินตามเช็คจำนวน 500,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.13 (อยู่ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ช.1484/2533 ของศาลชั้นต้น) ซึ่งได้ระบุว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คค้ำประกันประกอบกับบันทึกแจ้งความของโจทก์ที่สถานีตำรวจตามเอกสารหมาย จ.12ซึ่งมีรายละเอียดตรงกับที่โจทก์เบิกความแล้วแสดงให้เห็นว่าโจทก์เห็นว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คค้ำประกันจึงมีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงิน กับได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเมื่อฟังพยานหลักฐานโจทก์ประกอบกันแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการที่โจทก์ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาอินทามระ 832 เลขที่ 0842769ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2531 สั่งจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่จำเลยนั้น เป็นการออกเช็คเพื่อค้ำประกันเงินกู้ที่โจทก์กู้ไปจากจำเลยตามที่โจทก์อ้างเมื่อจำเลยนำเช็คพิพาทฉบับดังกล่าวไปฟ้องกล่าวหาว่าโจทก์ออกเช็คให้แก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 4 จึงเป็นการฟ้องคดีอาญาต่อศาลว่าโจทก์กระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จตามฟ้อง ที่จำเลยนำสืบปฏิเสธต่อสู้อ้างเหตุว่าเป็นการฟ้องตามความเป็นจริงจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดนี้ต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนกรณีความผิดฐานเบิกความเท็จนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยเบิกความในการพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้นตามเอกสารหมาย จ.2 ยืนยันตามฟ้องว่าเช็คพิพาทตามที่จำเลยฟ้องเป็นเช็คที่โจทก์ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ออกเช็คพิพาทให้จำเลยยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่โจทก์มีอยู่ต่อจำเลย คำเบิกความของจำเลยย่อมเป็นความเท็จและเป็นข้อสาระสำคัญในคดี เพราะถ้าศาลชั้นต้นฟังว่าเช็คพิพาทโจทก์ออกให้จำเลยเพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ ศาลชั้นต้นก็อาจพิพากษาลงโทษจำคุกโจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จตามฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดนี้ต้องกันมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายนั้น เห็นว่า คำว่า "ผู้เสียหาย"หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) การที่จำเลยนำความเท็จมาฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญา และเบิกความเท็จในคดีดังกล่าว ถึงแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้อง แต่โจทก์ผู้ถูกฟ้องย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายและมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลย จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ออกเช็คพิพาทและเขียนหนังสือประกอบการออกเช็คให้จำเลย มิใช่เพื่อให้จำเลยนำมาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ โจทก์จึงมิได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยตามที่จำเลยอ้าง ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์สืบพยานเปลี่ยนแปลงเอกสารหนังสือประกอบการออกเช็คตามเอกสารหมาย ล.2 หรือ จ.5 ของคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ช. 1484/2533 ของศาลชั้นต้น ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่า หนังสือประกอบการออกเช็คไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงจึงไม่ต้องห้ามสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาของจำเลยล้วนฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า สมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานฟ้องเท็จมีกำหนด 1 ปีและเบิกความเท็จมีกำหนด 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี และศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยได้บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะโดยการช่วยเหลือสังคม จึงลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงเหลือจำคุกจำเลยกระทงละ9 เดือนรวม 2 กระทง เป็นจำคุก 18 เดือนนั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนที่จำเลยขอให้รอการลงโทษจำคุกให้นั้น เห็นว่า การที่จำเลยนำความเท็จมาฟ้องโจทก์และเบิกความเท็จนั้น ก็โดยเจตนาให้โจทก์ต้องโทษทางอาญา หากศาลเชื่อว่าเป็นความจริงดังคำฟ้องและคำเบิกความของจำเลยแล้วโจทก์อาจถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกได้ ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมจึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"

พิพากษายืน

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก