การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ|การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ

การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ

  • Defalut Image

แยกพิจารณาเป็น 2 กรณี

บทความวันที่ 23 มี.ค. 2563, 11:49

มีผู้อ่านทั้งหมด 1766 ครั้ง


การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ

แยกพิจารณาเป็น 2 กรณี
1. คดีที่ไม่ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2542

            กระสุนปืนชนิดใดจะเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้หรือไม่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งศาลไม่อาจทราบได้เอง ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีกระสุนปืนเล็กกลของกลางขนาด .223(5.56 มม.) จำนวน 340 นัด กับกระสุนปืนขนาด 7.62 มม.(รัสเซี่ยน) จำนวน 200 นัด อันเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้ ยิงได้และนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย และจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียน ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลไม่อาจฟังข้อเท็จจริงให้แตกต่างออกไปได้ว่า กระสุนปืนเล็กกลขนาด .223(5.56 มม.) กับกระสุนปืนขนาด 7.62 มม.(รัสเซี่ยน) ของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนสามารถจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11(พ.ศ. 2522) ออกตามความใน มาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยมีเครื่อง กระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย การที่จำเลยฎีกาว่า กระสุนของกลางจำเลยได้มาจากการตรวจยึดจากกองกำลังต่างชาติ และอยู่ระหว่างส่งมอบแก่ทางราชการ จำเลยครอบครองกระสุนดังกล่าวในฐานะเจ้าหน้าที่ ของรัฐจึงไม่ต้องรับอนุญาตนั้น จึงขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย และเป็นข้อที่ ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยมีกระสุนปืนของกลางไว้ในความครอบครองจำนวนมาก และเป็นกระสุนปืน ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ การกระทำผิดของจำเลยมีลักษณะร้ายแรง เป็นภัยต่อความสงบสุขของประชาชนโดยส่วนรวม ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษแก่จำเลย

2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7135/2553
            จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้ว จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำรับสารภาพของจำเลยว่ามีเจตนากระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมา จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดหาได้ไม่ เพราะขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยและมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มตรา 15
            การที่จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติและร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่ความผิดฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองนั้น เป็นการกระทำต่างวาระกัน อาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันกับการกระทำความผิดสองฐานดังกล่าวจึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน

3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8958/2560
              โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งมิใช่คดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษที่สถานหนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงย่อมรับฟังยุติได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกง  เมื่อหลักฐานการโอนเงินที่จำเลยอ้างมาท้ายคำฟ้องอุทธรณ์นั้น เป็นเอกสารที่จำเป็นเพิ่งยื่นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5  โดยที่จำเลยไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น จึงเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่จำเลยให้การรับสารภาพ ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 ววรคหนึ่ง

2. คดีที่ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ
1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13/2560

            คดีที่เอกชนทั้งสองยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันรังวัดและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและปักป้ายประกาศว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์รุกล้ำที่ดินพิพาท ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและให้คืนสิทธิในที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยอ้างว่าเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
 
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1231/2559
           ในการสืบพยานโจทก์ประกอบกับคำรับสารภาพของจำเลย ศาลต้องรับฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ที่นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไม่มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น หาใช่เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ไม่ จำเลยจึงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดดังกล่าวได้

3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3701/2558
    โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคแรก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำให้การรับสารภาพเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตามฟ้อง และศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตามฟ้องจริงจึงจะลงโทษได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพิพากษาลงโทษจำเลยฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีเจตนาเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ เท่ากับอ้างว่าข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ มิใช่เป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งจะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ
    จำเลยแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตรวจปัสสาวะของผู้เสียหายที่ 1 แล้วพาผู้เสียหายไปกักขังไว้ในห้องสถานีตำรวจระหว่างนั้นจำเลยขอเงินจากผู้เสียหายที่ 2 เพื่อจะได้ไม่ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายที่ 1 แสดงว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดและมีเจตนาเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ในการเอาตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปโดยใช้อุบายหลอกลวงกับหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313(2) (3) แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เสียหายที่ 1 จะอยู่ในอำนาจควบคุมของเจ้าพนักงานตำรวจที่แท้จริงหรือไม่

4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15504/2553
          โจทก์ฟ้องว่าจำเลยโดยมีเจตนาฆ่าใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 3 นัด จำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญของร่างกายและแพทย์รักษาบาดแผลผู้เสียหายได้ทันท่วงทีผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตายเพียงแต่ได้รับอันตรายแก่กาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 13 ปี 4 เดือน จำคุก 33 ปี 4 เดือน หรือจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำให้การรับสารภาพเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้อง และศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้องจริง จึงจะลงโทษได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้องและจำเลยอุทธรณ์ทำนองว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย โดยอ้างว่าข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายตามฟ้องเท่ากับอ้างว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย หรือเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งจะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงชอบที่จะต้องวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้
         จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยเพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานพาอาวุธปืนให้ถูกต้อง เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ส่วนความผิดฐานอื่นพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยในแต่ละกระทงความผิดไม่เกินห้าปีจำเลยจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

5. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10612/2553
              โจทก์ฟ้องจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยให้การรับสารภาพ เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณา พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและจำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย โดยอ้างว่าข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายตามฟ้องเท่ากับอ้างว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง  จึงมิใช่อุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยหรือเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์  ซึ่งจะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค  4 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายหรือไม่จึงชอบแล้ว
                     พฤติการณ์แห่งคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย  คงมีเจตนาทำร้ายเท่านั้น เมื่อผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบการณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน  จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย      

6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 263/2551
            โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 778 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 21.50 กรัม ไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำให้การรับสารภาพ และศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องจริง จึงจะลงโทษได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้อง และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา โดยอ้างว่าข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดตามฟ้องเท่ากับอ้างว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 หรือเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งจะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
           จำเลยที่ 2 ยื่นให้การว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้โทษ แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้สอบคำให้การจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 2 แต่งตั้งทนายความสู้คดี โดยทนายจำเลยที่ 2 เรียงและพิมพ์คำให้การจำเลยที่ 2 ใหม่ มีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ศาลชั้นต้นสอบคำให้การดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ยืนยันตามคำให้การนี้ ดังนี้ จำเลยที่ 2 จะนำคำให้การฉบับแรกมาอ้างเพื่อให้ศาลฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้โทษหาได้ไม่
          ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะคำฟ้องไม่ปรากฏว่าได้บรรยายถึงสายลับที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไปถึงจำเลยเพื่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนไว้จึงไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เป็นฎีกาปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ก็ยกขึ้นฎีกาได้
          โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ มาในฟ้องดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ซึ่งเพียงพอทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนสายลับเป็นใคร เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ หาทำให้ฟ้องเคลือบคลุมไม่

 

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก