คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2553
บทความวันที่ 27 มี.ค. 2560, 00:00
มีผู้อ่านทั้งหมด 13261 ครั้ง
คำพิพากษาฎีกา/การผ่อนเวลาชำระหนี้
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2553
กำหนดอายุความตามมาตรา 563 หมายถึงผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าให้รับผิดเพราะผู้เช่าฝ่าฝืนต่อหน้าที่ของตนตามสัญญาเช่า แต่ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ ค่าขาดราคาเมื่อนำรถที่เช่าออกขาย ค่าเบี้ยประกันภัยและค่าภาษีรถยนต์ที่โจทก์ชำระแทนไป เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าไม่ใช่เป็นการเรียกค่าเสียหายเพราะผู้เช่าฝ่าฝืนต่อหน้าที่จึงไม่อยู่ในอายุความตามมาตรา 563
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์คืน โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าไป จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้รถยนต์และโจทก์ไม่ติดตามเอารถยนต์คืนหาได้ไม่ เพราะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าคืนตามสัญญาและตาม ป.พ.พ. มาตรา 561
การผ่อนเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดนั้นจะต้องมีการตกลงผ่อนเวลากันแน่นอน และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องมิได้ หากเพียงแต่หนี้ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระยังไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้เพราะเจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อใดก็ได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 19 เป็นต้นไปเท่านั้น โดยไม่มีการตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้กันแต่ประการใด ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากหนี้ตามมาตรา 700
2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1242/2495
เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วลูกหนี้พูดว่า ยังจัดหาเงินไม่ได้ขอผัดเวลาชำระหนี้อีก 1 เดือน เจ้าหนี้บอกว่าไม่เป็นไรหามาให้ครบ ดังนี้ เป็นการพูดกันด้วยปากไม่เป็นการผูกมัดเจ้าหนี้ว่า ภายใน 1 เดือนที่ลูกหนี้ขอผัดนั้น เจ้าหนี้จะฟ้องเรียกให้ชำระหนี้ไม่ได้ คือเจ้าหนี้จะฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระก็ได้ ฉะนั้นยังเรียกไม่ได้ว่าเจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 ผู้ค้ำประกันหนี้รายนี้ จึงยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิด
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2508
การที่ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ และสัญญาจะชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาหนึ่งโดยเจ้าหนี้มิได้ตกลงด้วยนั้น ไม่ผูกพันเจ้าหนี้
การที่เจ้าหนี้เพิ่งฟ้องคดี หาใช่เป็นการที่เจ้าหนี้แสดงเจตนาผูกนิติสัมพันธ์ยอมผ่อนเวลา (ขยายเวลา) ชำระหนี้อันมีกำหนดแน่นอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 ประการใดไม่ จึงไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันพ้นจากความรับผิด
4. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4767/2547
แม้ศาลจะมีคำสั่งรับคำฟ้องซึ่งถือว่าเป็นคำคู่ความแล้ว แต่เมื่อศาลตรวจพบว่าคำฟ้องฟุ่มเฟือย ไม่ชัดเจน ศาลก็มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้รับคำฟ้องไปแล้วได้เพราะถือได้ว่าเป็นการเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27
ในการเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ผู้พิพากษาคนอื่นที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้พิพากษาคนก่อน ๆ ที่ไม่ได้พิจารณาคดีแล้ว ดังนั้น แม้เป็นผู้พิพากษาคนอื่นแต่มีอำนาจในการพิจารณาคดีสำนวนนั้น ก็ย่อมมีอำนาจในการเพิกถอนคำสั่งหรือการพิจารณาที่ผิดระเบียบของผู้พิพากษาคนก่อน ๆ ที่ไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีแล้ว และไม่เป็นการทำลายหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา แต่อย่างใด