โจทก์ก็ต้องบรรยายฟ้องมาให้เห็นด้วยว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือ
บทความวันที่ 28 ก.พ. 2560, 00:00
มีผู้อ่านทั้งหมด 10929 ครั้ง
การเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วม
โจทก์ก็ต้องบรรยายฟ้องมาให้เห็นด้วยว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ต่อบุคคลภายนอกนั้นด้วย เพียงแต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3125/2555
แม้โจทก์ไม่อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อให้ใช้ค่าทดแทน หากศาลพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) ได้แต่ตามมาตรา 57(3)(ข) บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้ เมื่อจำเลยร่วมเป็นกองทุนซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจำเลยที่เป็นผู้จัดการกองทุนจำเลยร่วม และโจทก์เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนจำเลยร่วม ทั้งตามคำฟ้องระบุว่าโจทก์ได้มีคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนจำเลยร่วม และขอให้ชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่โจทก์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี เท่ากับศาลชั้นต้นเห็นเป็นการสมควรและจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดี โดยไม่จำเป็นต้องให้โจทก์ฟ้องจำเลยร่วมเป็นคดีใหม่ คำสั่งของศาลชั้น้นที่เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีจึงชอบด้วย มาตรา 57(3) (ข)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8403/2550
ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิชอบ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน แต่พนักงานตรวจแรงงานไม่ยอมรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์แล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวและขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานกลางภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง และเมื่อโจทก์ขอแก้ไขคำฟ้อง โดยขอให้เพิ่มพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยที่ 2 ก็เป็นการแสดงความประสงค์ที่จะฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยในคดีเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวแล้ว ซึ่งศาลแรงงานกลางชอบที่จะเรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุดแล้ว พิพากษายกฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31