วันนี้ถึงวันที่17มิ.ย. ลงทะเบียนเลือกตั้ง"ในเขต"จังหวัด
ถือเป็นเรื่องที่ดีหาก “คนไทย” จะตื่นตัวออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในวันเลือกตั้งจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 47.3 ล้านคนออกไปใช้สิทธิประมาณร้อยละ 70 หรือประมาณ 38 ล้านคน มีแนวโน้มของความเป็นไปได้เพราะดูจากจำนวนตัวเลขผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง ’นอกเขต“ ที่เปิดให้ลงทะเบียนไประหว่างวันที่ 19 พ.ค.-2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 2.6 ล้านคน
ในระหว่างวันที่ 13-17 มิ.ย.นี้ จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า “ในเขต” จังหวัด
ขั้นตอนการยื่นคำขอ
กกต.ได้กำหนดให้มีการยื่นคำขอลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า “ในเขต” จังหวัดได้โดยมีระยะเวลา 5 วัน ต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน พร้อมหลักฐานที่ตนเองไม่อาจไปใช้สิทธิลงคะแนนในวันเลือกตั้งคือวันที่ 3 ก.ค. ได้ ซึ่งใบคำขอจะเขียนว่า ทก.1 หรือ ทก.1/1 แล้วแต่กรณี ในระหว่างวันที่ 13-17 มิ.ย. ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30น. ซึ่งการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตจังหวัดไม่ยุ่งยาก จึงใช้เวลาสั้นกว่าเพราะมีชื่ออยู่ในจังหวัดเดียวกันจึงไม่ยุ่งยากเท่ากับการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด เพราะต้องมีการประสานกันระหว่างหน่วยงาน
ใครบ้างมีสิทธิลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดที่ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนเองมีสิทธิเลือกตั้งหรือจะเดินทางไปนอกเขตเลือกตั้งที่ตนเองต้องไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งหรือในวันเลือกตั้งไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ สามารถยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิก่อนวันเลือกตั้งได้ ซึ่งเห็นว่าควรที่จะเป็นบุคคลที่มีความจำเป็นจริง ๆ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ เช่น เป็นทหารประจำการ ทหารกองประจำการ ตำรวจ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน หรือข้าราชการ ซึ่งได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือเกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ นอกที่ตั้งปกติที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ ให้ยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งสามารถยื่นได้ด้วยตนเอง หรือผู้บังคับบัญชาของบุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งแทนได้ โดยผู้มีสิทธิจะต้องทำหนังสือมอบหมายให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอื่นดำเนินการแทนได้ และต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ และมีหมายเลขประจำตัวประชาชนของผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง โดยชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและแสดงหลักฐานว่าไม่อาจไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้ และต้องลงลายมือชื่อรับรองสำเนาเอกสารดังกล่าวด้วยทุกใบ
ใช้หลักฐานอะไรบ้าง
หลักฐานที่ผู้ยื่นคำขอลงทะเบียนควรที่จะต้องนำมาแสดง ถึงความจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ ได้แก่ เอกสารคำสั่งของทางราชการ หรือ คำสั่งของหน่วยงานเอกชนหรือ หนังสือเชิญไปร่วมงานที่สำคัญ หรือ หนังสือแจ้งให้เข้ารับการรักษาพยาบาล หรือหนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่ยืนยันว่าไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง หรือ เอกสารหลักฐานอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
ลงทะเบียนแล้วไม่ไปใช้สิทธิ
กรณีการเลือกตั้งในเขตจังหวัดนั้น หากใครลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 มิ.ย.ไว้ แต่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ในวันที่ 3 ก.ค. ซึ่งไม่เหมือนกับการเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดที่สามารถเลือกตั้งได้ในวันที่ 26 มิ.ย. เท่านั้น ทั้งนี้สำหรับกรณีการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตจังหวัดนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้คนที่อยู่ในเขตพื้นที่เดียวกันสามารถเดินทางไปได้เลย ไม่ต้องกังวลว่าเมื่อครั้งการเลือกตั้งที่ผ่านมาปี 2550 ใครที่เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ก็ไม่ได้มีผลผูกพัน เพราะครั้งนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดให้มีการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าเอาไว้เพิ่งจะมีครั้งนี้เป็นครั้งแรกสำหรับกรณีนี้
ยกตัวอย่างเช่น นาย ก.อาศัยอยู่ที่เขตบางเขน และได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตจังหวัดเมื่อครั้งการเลือกตั้ง 2550 แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ก็สามารถไปใช้สิทธิได้ตามปกติที่เขตบางเขน แต่หากมีความประสงค์จะขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 มิ.ย.เพราะเหตุที่จำเป็นไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.ได้ ก็ต้องไปลงทะเบียนขอใช้สิทธิได้ในวันเวลาที่กำหนดคือวันที่ 13-17 มิ.ย. อย่างเช่น นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ที่เดินทางไปที่เขตบางซื่อ เพื่อยื่นคำขอต่อนายทะเบียนอำเภอว่า ตนเองติดภารกิจที่มีความจำเป็นที่ไม่อาจจะไปใช้สิทธิในวันที่ 3 ก.ค.ได้ เพราะตนเองเป็น กกต. ต้องเดินทางไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้มาใช้สิทธิ ที่ต่างจังหวัด
หมายเหตุ.........ผู้มีสิทธิเลือกตั้งท่านใดสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.1171 หรือ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.ect.go.th