ขายมือถือเครื่องจีน(ปลอม)
ดิฉันขายมือถือเครื่องจีนถูกจับ ไม่ยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์(ยอมความ) มีอยู่ 2 เครื่อง ต้องโดนตัดสินยังไง กรณีล่อซื้อจากพวกได้หนังสือมอบอำนาจนำจับ
คำแนะนำทนายคลายทุกข์
กรณีตามปัญหาของท่าน ซึ่งท่านได้ขายเครื่องมือถือจีนแล้วก็ถูกจับในภายหลังนั้น ตามกฎหมายแล้วย่อมเป็นกรณีทีท่านได้กระทำการขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย แก่มือถืออันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อการค้าและหากำไร โดยที่ท่านรู้อยู่แล้ว หรือมีเหตุอันควรรู้ว่า การขายมือถือดังกล่าวนั้น ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น จึงถือว่าท่านได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31
อนึ่ง การที่ท่านได้กระทำความผิดในการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวนั้น เป็นการกระทำเพื่อการค้าขาย โดยตามกฎหมายได้กำหนดให้ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70 วรรค 2
ดังนั้น หากท่านถูกฟ้องเป็นคดียังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทษ โดยศาลจะตัดสินเป็นประการใดนั้น ย่อมเป็นเรื่องดุลยพินิจของศาล จะเป็นผู้พิจารณาและพิพากษา โดยพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์การกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของท่านเป็นกรณีไป โดยอาศัยอำนาจตามความที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ พ.ศ. 2537 มาตรา 7
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
มาตรา 31 ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
(4) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
มาตรา 70 ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 31ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539
มาตรา 7 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้
(1) คดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร
(2) คดีอาญาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ถึงมาตรา 275
(3) คดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และคดีพิพาทตามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ
(4) คดีแพ่งอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ถึงมาตรา 275
(5) คดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า หรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ หรือการให้บริการระหว่างประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
(6) คดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมตาม (5) การส่งเงินเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ทรัสต์รีซีท รวมทั้งการประกันเกี่ยวกับกิจการดังกล่าว
(7) คดีแพ่งเกี่ยวกับการกักเรือ
(8) คดีแพ่งเกี่ยวกับการทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้าหรือการให้บริการจากต่างประเทศ
(9) คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่เกี่ยวกับข้อพิพาทในการออกแบบวงจรรวม การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ชื่อทางการค้า ชื่อทางภูมิศาสตร์ที่แสดงถึงแหล่งกำเนิดของสินค้า ความลับทางการค้าและการคุ้มครองพันธุ์พืช
(10) คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
(11) คดีแพ่งเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทตาม (3) ถึง (10)
คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวไม่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ