ลิขสิทธิ/ตรวจคอมพิวเตอร์
อยากทราบว่าแนวปฏิบัติของพนักงานผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์ คอมฯ ( ซอฟแวร์) ในเรื่องการเข้าขอตรวคค้น สถานที่ทำงาน ตาม บริษัท ,ห้างฯ ต่างๆ และ/หรือในสถานที่ทำงานซึ่งเราไม่ได้เปิดบริการเป็นร้านเกมส์
1. ต้องร้องทุกข์ก่อนหรือไม่
2 .ต้องขอหมายศาลก่อนหรือไม่
3. กรณี เราเช่าสำนักงาน แยกเป็นชั้นๆ เราอยู่ชั้น สอง ( อาคารไม่แยกบ้านเลขที่) แต่มีหมายค้น ตรวจทั้งบ้าน เราจะไม่ยอมให้ตรวจค้น และ/หรือ เปิดคอมฯได้หรือไม่ เราจะใช้อะไรต่อสู้ครับ
4.กรณีเจ้าหน้าที่ตามข้อ 1 ขอตรวจค้น ในสำนักงานของเรา ซึ่งเราไม่ได้เปิดบริการอินเตอร์เน็ตหรือเกมส์ นะครับ ( เปิดคอมฯ) โดยไม่มีหมายศาล เราไม่ยอมให้ตรวจค้นได้หรือไม่ ซึ่งเรากำลังทำงานอยู่ อย่างเร่งด่วน
คำแนะนำทนายคลายทุกข์
1. การที่เจ้าพนักงานผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์ จะเข้าทำการตรวจค้นในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเคหะสถาน หรือที่รโหฐาน คือหมายถึงที่ต่าง ๆ ซึ่งมิใช่ที่สาธารณ ตาม ป.วิ.อ มาตรา 2 (13) เมื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน หรือพิจารณา อันเป็นเหตุที่จะออกหมายค้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 69 แต่เจ้าพนักงานผู้รับมอบอำนาจดังกล่าว จะเข้าทำการตรวจค้นได้ เจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย จะต้องได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจตามระเบียบ ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 2(7) เรียบร้อยเสียก่อน เจ้าพนักงานผู้รับมอบอำนาจจึงจะมีอำนาจเข้าทำการตรวจค้นได้
2. โดยหลักแล้วตามกฎหมาย ห้ามไม่ให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้น หรือคำสั่งของศาล แต่มีข้อยกเว้นว่าเมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่า สิ่งของที่มีไว้ในความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้น จะถูกโยกย้าย หรือทำลายเสียก่อน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92(4) เมื่อเข้าข้อยกเว้นที่ว่านี้ จึงไม่ต้องขอหมายค้นต่อศาล
3. เมื่อเจ้าพนักงานเขามีหมายค้นของศาล เขาย่อมมีอำนาจตามกฎหมายที่จะค้น หรือตรวจได้ทั้งบ้าน คุณก็ต้องยอมให้เขาตรวจค้นตามหมาย ไม่มีสิทธิจะอ้างหรือต่อสู้อย่างไรได้ เพราะมิฉะนั้น คุณจะมีความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงาน ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 138
4. อย่างที่กล่าวไว้ในข้อ 2. แล้วว่า หากมีเหตุที่เข้าข้อยกเว้น ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 92(4) เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการตรวจค้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายค้นจากศาลแต่อย่างใด
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(7) “คำร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
(13) “ที่รโหฐาน” หมายความถึงที่ต่างๆ ซึ่งมิใช่ที่สาธารณสถานดั่งบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา
มาตรา 69 เหตุที่จะออกหมายค้นได้มีดั่งต่อไปนี้
(1) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา
(2) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด
(3) เพื่อพบและช่วยบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(9) เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ
(5) เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งศาล ในกรณีที่จะพบหรือจะยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว
มาตรา 92 ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น และในกรณีดังต่อไปนี้
(4) เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 138 ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ