WebBoard :บังคับคดี|คดียูฟันนานแล้วยังไม่ได้เงินคืน

คดียูฟันนานแล้วยังไม่ได้เงินคืน

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

คดียูฟันนานแล้วยังไม่ได้เงินคืน

  • 874
  • 1
  • post on 9 ก.ย. 2565, 20:36

สวัสดีค่ะ ดิฉันเป็นผู้เสียหายยูฟันค่ะ ไปแจ้งความที่สน.ปทุมวัน เรื่องไม่ไปไหนเพราะตำรวจที่รับเรื่องแต่ละท่าน มีอันเป็นไปทั้งนั้น เช่น ไปเข้าค่ายบ้าง เปลี่ยนคนที่มาดูแลบ้าง อ้างเรื่องที่จำเป็นตลอดเวลา และโอนให้คนอื่นดูแล หรือส่งไปติดต่อเลขาหน้าห้องท่าน...ดูแลต่อ แล้วเลขาก็จะส่งเบอร์โทรอีกคนหนึ่งให้ ในที่สุดเรื่องก็เงียบหาย จนในที่สุดดิฉันหลุดจากผู้เสียหายทั้งหมด 2,451 คนตามที่เป็นข่าวว่าจะได้เงินคืนถ้าอยู่ในกลุ่มนี้ ดิฉันกลุ้มใจมากเงินที่ลงทุนไปก็หวังว่าจะได้คืนเหมือนคนอื่น แบบนี้ช่วยไกด์ไลน์ด้วยค่ะว่าต้องทำอย่างไรต่อไป

โดยคุณ ผู้เสียหายยูฟัน (xxx) 9 ก.ย. 2565, 20:36

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1

การดำเนินคดี


  ก็ไม่ค่อยทราบเรื่อง ยูฟันมากนัก  แต่คาดว่าน่าจะเป็นการถูกฉ้อโกง   เส้นทางการดำเนินการ  ....ก็ต้องแจ้งความ(ร้องทุกข์)  ตำรวจก็จะสอบสวน ทั้งผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา  เพื่อสรุปผลส่งอัยการว่า มีมูลพอจะสั่งฟ้องหรือไม่  ถ้าอัยการสั่งฟ้อง และคงเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียไปแในคดีด้วย  ก็ต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาล  นี่เป็นไกด์ไลน์ ในการดำเนินการ   ที่คดีเนิ่นนานเพราะ....ช่วงเวลาในการสอบสวนของ พงส..เจ้าของคดี คงเนิ่นนาน  เพราะมีผู้เสียหายมากมาย  คดีจึงช้า  คือตอนนี้ยังไม่ส่งไปยังอัยการ เมื่อส่งอัยการ ก็จะมีการพิจารณาอีกนานพอสมควร และส่งฟ้องศาล  ก็คงนานมาก เพราะต้องสืบพยานมากมายหลายปาก   กว่าจะจบกระบวนการนี้คงหลายปี อาจจะเป็น 3-5 ปี ดังนั้นการจะได้เงินคืน คงต้องรอนานมาก...มีช่องทางหนึ่งที่อาจจะเร็วมากคือ จ้างทนายความให้ฟ้องต่อศาลโดยตรง ครับ...

โดยคุณ มโนธรรม เจษฎาสาธุชน 10 ก.ย. 2565, 07:46

ตอบความคิดเห็นที่ 1

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง


  ฎีกาที่ 6645/2548


การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญโดยจะพิจารณาจากวิธีการในการหลอกลวง จำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมาประกอบด้วยเท่านั้น คดีนี้แม้ผู้เสียหายตามฟ้องจะมีเพียง 11 คน แต่ตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งมีผู้เสียหายที่ตกลงกับจำเลยทั้งสองถึง 35 คน แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ติดต่อชักชวนเฉพาะผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดในคดีนี้เท่านั้น ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองไปพบผู้เสียหายแต่ละคนที่บ้านแล้วแจ้งเงื่อนไขการไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียซึ่งจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 11,000 บาท โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมคนละ 17,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงิน 5,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อน เหมือนกันทุกคน ลักษณะการชักชวนเป็นการชักชวนทั่วไป มิได้มุ่งเจาะจงชักชวนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะหากผู้ใดปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ก็สามารถสมัครไปทำงานได้ ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าจะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่แจ้งไปหรือไม่เป็นสำคัญ การหลอกลวงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ แม้จะมิได้มีการป่าวประกาศหรือแจ้งให้ผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนต่อ แต่ลักษณะการชักชวนอย่างเดียวกันโดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แล้ว
ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานนี้ก็ยังไม่ระงับไป
 

คำพิพากษาย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาด้วยกันโดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 83 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 130,428.65 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ด และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 254/2538 และ 279/2538 ของศาลจังหวัดนราธิวาส
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ประกอบมาตรา 341 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 7 ปี นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 254/2538 และ 279/2538 ของศาลจังหวัดนราธิวาส ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้เงินจำนวน 130,428.65 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ด
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก จำคุกคนละ 4 ปี ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชักชวนผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดไปทำงานเดินสายไฟฟ้าภายในอาคารที่ประเทศมาเลเซีย โดยผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดได้จ่ายเงินคนละ 5,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสองและจ่ายอีกคนละ 12,000 บาท ให้แก่นายฝาง แต่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดก็ไม่ได้งานทำตามที่จำเลยทั้งสองอ้างและถูกส่งกลับประเทศไทย ภายหลังจำเลยทั้งสองได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและยอมชดใช้เงินให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและผู้เสียหายอื่นอีกรวม 35 คน คนละ 5,142.85 บาท รวมเป็นเงิน 180,000 บาท ผู้เสียหายทั้งหมดดังกล่าวพอใจและไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยทั้งสอง สำหรับความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้ฎีกา ความผิดฐานนี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาขึ้นมา ที่จำเลยทั้งสองฎีกาประการแรกว่า พยานหลักฐานในคดีนี้ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริต จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โต้แย้งไว้โดยละเอียดในอุทธรณ์แล้ว ขอให้ศาลฎีกาหยิบยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองขึ้นพิจารณาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของฎีกาด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษามาแล้วหากจำเลยทั้งสองประสงค์จะฎีกาก็จะต้องโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ชัดเจนว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ถูกต้องโดยมีเหตุผลข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอย่างไร ที่จำเลยทั้งสองขอให้ถือเอาอุทธรณ์ประเด็นนี้ของจำเลยทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของฎีกา ย่อมเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่า ไม่ถูกต้องโดยมีเหตุผลอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า แม้จำเลยทั้งสองชักชวนผู้เสียหายหลายคน แต่ก็เป็นการชักชวนโดยเฉพาะเจาะจงเป็นรายๆ ไป มิได้ป่าวประกาศแก่บุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดหรือบอกให้ผู้เสียหายแต่ละคนไปชักชวนให้ผู้อื่นหลงเชื่ออีก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงธรรมดา มิใช่ฐานฉ้อโกงประชาชน เมื่อผู้เสียหายแต่ละคนถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ลงโทษจำเลยทั้งสองไม่ได้นั้น เห็นว่า การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการในการหลอกลวง จำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงเป็นเพียงข้อที่นำมาพิจารณาประกอบด้วยเท่านั้น คดีนี้แม้ผู้เสียหายตามฟ้องจะมีเพียง 11 คน แต่ก็ปรากฏตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งว่า มีผู้เสียหายที่ตกลงกับจำเลยทั้งสองตามบันทึกดังกล่าวถึง 35 คน แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ติดต่อชักชวนเฉพาะผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดในคดีนี้เท่านั้น ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองไปพบผู้เสียหายแต่ละคนที่บ้านแล้วแจ้งเงื่อนไขการไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียซึ่งจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 11,000 บาท โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมคนละ 17,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงิน 5,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนเหมือนกันทุกคน ลักษณะการชักชวนเป็นการชักชวนทั่วไป มิได้มุ่งเจาะจงชักชวนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะ หากผู้ใดปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวก็สามารถสมัครไปทำงานได้ ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าจะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่แจ้งไปหรือไม่เป็นสำคัญ การหลอกลวงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ แม้จะมิได้มีการป่าวประกาศหรือแจ้งให้ผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนต่อ แต่ลักษณะการชักชวนอย่างเดียวกัน โดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แล้ว หาใช่เป็นความผิดเพียงฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ไม่ ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานนี้ก็ยังไม่ระงับไป ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ตามฟ้องปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้คืนเงินบางส่วนที่ฉ้อโกงไปแก่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนละ 5,142.85 บาท แล้ว และตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งก็ปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดในคดีนี้ไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 4 ปี จึงเป็นโทษที่หนักเกินไป สมควรกำหนดโทษจำเลยทั้งสองเสียใหม่ให้เหมาะสม อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้มีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันหลายคน ทั้งคำขอของโจทก์ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก โดยมิได้ระบุ มาตรา 83 ด้วยจึงยังไม่ถูกต้อง เห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5
 
โดยคุณ มโนธรรม เจษฎาสาธุชน 10 ก.ย. 2565, 07:50

แสดงความเห็น

กระทู้ที่มีผู้อ่านมากที่สุดในหมวด

กระทู้ที่มีผู้ตอบมากที่สุดในหมวด