WebBoard :บังคับคดี|คำขอท้ายคำฟ้องคดีล้มละลาย

คำขอท้ายคำฟ้องคดีล้มละลาย

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

คำขอท้ายคำฟ้องคดีล้มละลาย

  • 723
  • 1
  • post on 26 ส.ค. 2565, 20:54

เรียนสอบถามท่านทนายค่ะ คำขอท้ายคำฟ้องคดีล้มละลาย (แบบ5) โจทก์ขอให้ศาลออกหมายเรียกจำเลยมาพิจารณาพิพากษาและบังคับจำเลย โดยมีคำขอ1.ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายกับใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ 2.ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าทนายความอย่างสูงแทนโจทก์

มีคำถามดังนี้ค่ะ 

1.ดิฉันที่เป็นจำเลยไม่ได้ไปตามศาลนัดพิจารณาคดีความล้มละลาย จะรอไปวันที่ศาลตัดสินให้ล้มละลายเพื่อรายงานตัว

2ค่าธรรมเนียมฤชา ค่าทนายความที่โจทก์ร้้องขอ แต่ดิฉันไม่สามารถมีเงินให้หรือชดใช้ได้  เช่นนี้ดิฉันควรทำอย่างไรต่อไปคะ  

3.ปัจจุบันสถานะคดีเป็นคดีดำความล้มละลาย เดือนหน้าศาลนัดพิจารณาที่ศาลล้มละลายกลางค่ะ 

ขอความอนุเคราะห์คำชี้แนะด้วยค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ










โดยคุณ siripatsorn (1.46.xxx.xxx) 26 ส.ค. 2565, 20:54

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1

คดีล้มละลาย


1.ดิฉันที่เป็นจำเลยไม่ได้ไปตามศาลนัดพิจารณาคดีความล้มละลาย จะรอไปวันที่ศาลตัดสินให้ล้มละลายเพื่อรายงานตัว

ตอบ...ในคดีแพ่ง  การไม่ไปศาลตามนัด สามารถทำได้    แต่จะมีผลเสียมากกว่า   เพราะถ้าไปศาลตามนัดยังมีโอกาสดเจรจาอะไรๆได้มากมาย  และถือว่ามีเจตนาสุจริต ถ้ามีหนี้สินล้นตัวจริง  และยอมรับแต่แรก   ก็น่าจะมีเหตุอันควรปรานี  ให้ได้ปลดจากบุคคลล้มละลายภายใน 3 ปี  ถ้าศาลมองว่ามีเจตนาทุจริต  อาจถูกให้เป็นบุคคล้มลาย เป็น 10 ปีได้

2ค่าธรรมเนียมฤชา ค่าทนายความที่โจทก์ร้้องขอ แต่ดิฉันไม่สามารถมีเงินให้หรือชดใช้ได้  เช่นนี้ดิฉันควรทำอย่างไรต่อไปคะ  

ตอบ...ถ้าเราไม่ชดใช้   โจทก์ก็สามารถไปยื่นคำร้องขอชำระหนี้  เพื่อขอแบ่งปันทรัพย์สินของลูกหนี้ ในคดีล้มละลายได้

3.ปัจจุบันสถานะคดีเป็นคดีดำความล้มละลาย เดือนหน้าศาลนัดพิจารณาที่ศาลล้มละลายกลางค่ะ 

ตอบ...การพิจารณาคดีก็ย่อมดำเนินการไปตามกระบวนการของศาล  ถ้าขาดนัด(ไม่ไปศาล) ก็คงเข้าทางโจทก์  คือขอให้พิจารณาโดยการขาดนัด (ลับหลังจำเลย)  ถ้าพยานหลักฐานชี้ชัดว่าเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว  คงถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด...การไม่ไปศาล  ก็ย่อมมีผลตามข้อ 1   ด้วยความปรารถนาดี ครับ

โดยคุณ มโนธรรม เจษฎาสาธุชน 27 ส.ค. 2565, 08:03

ตอบความคิดเห็นที่ 1

แนวคำพิพากษาเทียบเคียง...


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6464/2550


  

จำเลยถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์จะได้รับชำระหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอันเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาดก็แต่โดยการยื่นคำขอรับชำระหนี้เข้ามาในคดีล้มละลายที่จำเลยเป็นลูกหนี้อยู่ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 และ 94 เท่านั้น โจทก์ได้นำมูลหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิจะได้รับเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนจากกองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลายอยู่แล้ว หากศาลสั่งอนุญาตให้โจทก์ได้รับเงินค่าฤชาธรรมเนียมตามที่โจทก์ร้องขอในคดีนี้อีกก็จะเป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อน ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้อง
 

คำพิพากษาย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 96,411,002.55 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตรา เอสพีอาร์ บวกด้วยเบี้ยปรับร้อยละ 3 นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยเอสพีอาร์เมื่อบวกด้วยเบี้ยปรับแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของโจทก์ กับให้จำเลยชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 9,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2540 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 2751/2547 ของศาลล้มละลายกลาง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า หลังจากจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลล้มละลายกลางมีคำพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดในคดีล้มละลาย จึงให้จำหน่ายคดีนี้ คืนค่าขึ้นศาล 3 ใน 4 ที่จำเลยเสียไว้ในการยื่นอุทธรณ์เพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
โจทก์ยื่นคำแถลงขอรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความใช้แทนโจทก์ที่จำเลยได้วางพร้อมอุทธรณ์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับค่าฤชาธรรมเนียมคืนนั้นเกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ไม่ว่าเงินจะวางก่อนหรือหลังพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม กรณีจึงไม่อาจจ่ายเงินได้ ให้ยกคำแถลง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจำเลยในฐานะผู้อุทธรณ์ได้นำมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ได้หรือไม่ เห็นว่า เงินค่าฤชาธรรมเนียมมิใช่เงินที่วางเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่เป็นเงินที่วางเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ ดังนั้น ตราบใดที่ศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ชนะคดีและให้จำเลยรับผิดค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทน เงินค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวจึงยังคงเป็นของจำเลย เมื่อจำเลยถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเงินค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยมีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยอาจรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยเพื่อแบ่งแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 109 (1) และเมื่อจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดศาลอุทธรณ์ในคดีนี้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดี และสั่งให้คืนค่าขึ้นศาล 3 ใน 4 ที่จำเลยเสียไว้ในการยื่นอุทธรณ์เพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของผู้ล้มละลาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยวางไว้แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ การที่โจทก์มาขอรับเงินที่จำเลยวางจึงเป็นการใช้สิทธิตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และยังไม่พ้นจากภาวะดังกล่าว ดังนั้น โจทก์จะได้รับชำระหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอันเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาดก็แต่โดยการยื่นคำขอรับชำระหนี้เข้ามาในคดีล้มละลายที่จำเลยเป็นลูกหนี้อยู่เท่านั้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 27, 91 และ 94 และปรากฏจากคำแก้อุทธรณ์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยได้ความว่า โจทก์ได้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายที่จำเลยเป็นลูกหนี้แล้วและคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาทำความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์ย่อมมีสิทธิจะได้รับเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนจากกองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลายได้อยู่แล้ว หากศาลสั่งอนุญาตให้โจทก์ได้รับเงินค่าฤชาธรรมเนียมตามที่โจทก์ร้องขอในคดีนี้ก็จะเป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อนอีกด้วย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอรับเงินของโจทก์ชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
โดยคุณ มโนธรรม เจษฎาสาธุชน 27 ส.ค. 2565, 08:05

แสดงความเห็น

กระทู้ที่มีผู้อ่านมากที่สุดในหมวด

กระทู้ที่มีผู้ตอบมากที่สุดในหมวด