WebBoard :กฎหมาย|ไม่ได้จดทะเบียน/เมียน้อย

ไม่ได้จดทะเบียน/เมียน้อย

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

ไม่ได้จดทะเบียน/เมียน้อย

  • 272
  • 1
  • post on 18 ก.ย. 2565, 06:43

อยู่ดีๆมาบอกเลิกเพราะภรรยารู้และรู้ว่าเรามีโรคประจำตัวซึมเศร้าผซึ่งทำร้ายตัวเองได้ง่ายแต่ทางผู้ชายก็ยั่วยุให้ทำร้ายตัวเองจนต้องรอนโรงบาลแบบนี้ทางผู้ชายต้องรับผิดชอบอะไรไหมคะ//ครบกันมา2ปี

โดยคุณ รัชดา สังข์ฉ่ำ (xxx) 18 ก.ย. 2565, 06:43

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1

สังคมยุคใหม่


    การที่ฝ่ายชายจะต้องรับผิด  ต้อง  มีเหตุผลยืนยันได้ว่า  เราประสบเคราะห์กรรมเพราะการกระทำของเขา  ถ้าทราบดีว่าอยู่กับเขาในฐานะเมียน้อย  ก็คงเรียกร้องอะไรไม่ได้  ผู้ชายดีๆมีมากมาย  เมื่อเขาไม่ไยดี ก็ปลีกตัวมาอย่างเด็ดขาด  คงมีโอกาสได้พบชายที่ดีๆไม่ยากเย็น สิ่งที่ต้องกังวลคือ ภรรยาของเขาจะฟ้องเรียกค่าทดแทน ที่ไปยุ่งเกี่ยวกับสามีของเขา  ต้องตัดใจเลิกติดต่อโดยเด็ดขาด ขอให้โชคดี ครับ

โดยคุณ มโนธรรม เจษฎาสาธุชน 18 ก.ย. 2565, 13:40

ตอบความคิดเห็นที่ 1

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง


  ฎีกาที่ 3596/2546


โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าโดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
แม้โจทก์จะเคยเห็นภาพถ่ายพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองในภายหลังและมิได้โต้แย้งคัดค้านก็ตาม แต่ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบเรื่องกรณียังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้
การที่จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก
สิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรแต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้อง ควรกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแต่ละคนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนแก่บุตรคนที่สองต่อไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ

คำพิพากษาย่อยาว



โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2527 ณ สำนักทะเบียนอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กหญิงกนกพรรณ เพชรไทย และเด็กชายธนรัชต์ เพชรไทย เมื่อประมาณต้นปี 2536 โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้จักและสนิทสนมในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 2 โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ทราบว่า โจทก์เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายและมีบุตรด้วยกัน 2 คน ขอให้จำเลยที่ 2 เลิกยุ่งเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อต้นปี 2541 โจทก์ได้ทราบว่าจำเลยทั้งสองสมัครใจเป็นสามีภริยากันอย่างเปิดเผย โดยจำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2536 ณ สำนักทะเบียนอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ระหว่างที่โจทก์อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในฐานะบิดาพึงกระทำจำเลยที่ 1 ได้ประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง การที่จำเลยที่ 1 ไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตร แต่ไปอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันสามีภริยาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียงและเกียรติคุณ โจทก์ไม่สามารถที่จะอยู่กินร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ จึงได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับโจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้บุตรผู้เยาว์คือเด็กหญิงกนกพรรณและเด็กชายธนรัชต์ เพชรไทย อยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว ให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรผู้เยาว์จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า ระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยาและพักอาศัยร่วมกันที่บ้านบิดาและมารดาของโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ถูกดูถูกเหยียดหยาม แสดงความรังเกียจจากบิดามารดาของโจทก์ตลอดเวลา และบิดามารดาของโจทก์บีบบังคับให้จำเลยที่ 1 หาเงินสดจำนวน 30,000 บาท มาให้เพื่อทำรั้วบ้าน จำเลยที่ 1 จึงกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์มามอบให้ เมื่อทำรั้วเสร็จเรียบร้อยแล้วบิดามารดาของโจทก์ขับไล่ให้จำเลยที่ 1 ไปหาที่อยู่ใหม่ โดยไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 อาศัยร่วมด้วย จำเลยที่ 1 ต้องไปอาศัยอยู่ที่บ้านพักราชการของผู้อื่น เมื่อจำเลยที่ 1 มีบ้านพักเป็นของตนเองแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์มาอยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ยอมมา ต่อมาในปี 2532 จำเลยที่ 1 ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดศรีสะเกษ จำเลยที่ 1 ได้ชวนให้โจทก์ย้ายไปอยู่ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่โจทก์ไม่ยอมไป โดยโจทก์มีเจตนาจะแยกจากการเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 โดยเด็ดขาด จำเลยที่ 1 จึงต้องอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษเพียงลำพังตลอดมา เมื่อจำเลยที่ 1 เริ่มรู้จักกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อเป็นข้อต่อรองให้โจทก์กลับมาอยู่กับจำเลยที่ 1 ตามปกติ แต่โจทก์ก็ไม่ยอมมาและบอกจำเลยที่ 1 ว่า หากจะมีภริยาใหม่ โจทก์ก็ไม่ขัดข้อง แต่จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินมาให้โจทก์จำนวน30,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงไปนำเงินสดมาจากจำเลยที่ 2 มอบให้โจทก์จำนวน 30,000บาท ตามที่ตกลงกัน จากนั้นจำเลยที่ 2 จึงได้อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ด้วยการรู้เห็นยินยอมของโจทก์มาตลอด เมื่อจำเลยที่ 1 เรียกร้องให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่า โจทก์บ่ายเบี่ยงโดยมีเงื่อนไขให้จำเลยที่ 1 หาเงินสดมาให้โจทก์จำนวน 30,000 บาท ก่อนจึงจะยอมปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 จึงไปกู้เงินมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 32,000 บาทและมอบให้แก่โจทก์ ในปี 2536 โจทก์นัดหมายจะไปจดทะเบียนหย่าแต่เมื่อถึงกำหนดนัดโจทก์ก็ไม่ไป โจทก์ได้มาขนทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในบ้านของจำเลยที่ 1 จนไม่มีทรัพย์สินเครื่องใช้เหลืออยู่เลย ต่อมาในปี 2539 โจทก์ได้ไปพบจำเลยที่ 1 ที่บ้านของมารดาจำเลยที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอสร้อยคอทองคำหนัก 4 บาท พร้อมพระเลี่ยมทอง 1 องค์ อ้างว่าวันรุ่งขึ้นจะไปจดทะเบียนหย่าให้กับจำเลยที่ 1 ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี จำเลยที่ 1 ยอมมอบสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองให้แก่โจทก์ไปแต่โจทก์ไม่ยอมไปตามนัด โจทก์หลอกลวงเรียกร้องเงินสดและทรัพย์สินจำนวนมากจากจำเลยที่ 1 ไปหลายครั้ง และรู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยที่ 1 อยู่กินร่วมกับจำเลยที่ 2 ตลอดมา แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะอยู่กินร่วมกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายใด ๆ แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ได้ส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในฐานะบิดามาตลอด แม้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะแยกกันอยู่ จนกระทั่งเมื่อโจทก์ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 1 จึงระงับการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ส่งเสียเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 5,000 บาทนั้น เป็นเงินที่สูงเกินไป โจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยทั้งสองอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยามาตั้งแต่ปี 2536 แล้ว หากจะนับเวลาตั้งแต่ปี2536 มาจนถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยที่ 1 และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ผู้เยาว์ทั้งสองในชั้นประถมศึกษาคนละ 2,000 บาท ต่อเดือน ในชั้นมัธยมศึกษาคนละ3,000 บาทต่อเดือน และชั้นอุดมศึกษาคนละ 4,000 บาท ต่อเดือนนับแต่วันพิพากษาไปจนกว่าผู้เยาว์จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 21 สิงหาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนกว่าบุตรทั้งสองมีอายุครบ 20ปีบริบูรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาเมื่อปี 2536 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผย โดยที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองถึงแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำ อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองว่า โจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากัน จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าหรือไม่เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยที่ 1 เคยแจ้งให้โจทก์ทราบตั้งแต่ก่อนแต่งงานกับจำเลยที่ 2แต่โจทก์บอกกับจำเลยที่ 1 ว่าจะมีภริยาใหม่โจทก์ไม่ขัดข้อง หากจำเลยที่ 2 นำเงินมาให้โจทก์ 30,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงมอบเงินของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์จำนวน 30,000 บาทจำเลยที่ 1 เคยนำรูปของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ดู โจทก์ก็เฉยและบอกว่าอยากมีก็มีไป ขอให้ได้รับเงินเดือนทุกเดือนนั้น เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอย ๆ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ถามค้านโจทก์ถึงข้ออ้างดังกล่าว ทั้งหากโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันแล้วจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1และร้องเรียนจำเลยที่ 2 ในการพิจารณาเลื่อนชั้นระดับของจำเลยที่ 2 ส่วนการที่โจทก์เห็นภาพถ่ายงานพิธีมงคลสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้านหรือดำเนินการทางศาลนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองนั้นโจทก์ไม่ทราบ แสดงว่าโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยทั้งสองจะจัดพิธีมงคลสมรสกัน แม้ต่อมาโจทก์เห็นภาพถ่ายดังกล่าวในภายหลังแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้าน ก็ยังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากัน พยานจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สามว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองจัดพิธีมงคลสมรสและอยู่กินฉันสามีภริยากันอย่างเปิดเผย ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยา อันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลได้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรทั้งสองเพียงใด ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ยังมีภาระต้องชำระหนี้แก่ทางราชการอยู่ ควรรับผิดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท และเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีภาระต้องชำระหนี้ของทางราชการแล้วก็ยินยอมรับผิดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท ต่อไปนั้นเห็นว่า ตามใบแจ้งการหักเงินเดือนเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 ฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2542 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือน 14,325 บาท ถูกหักค่าสหกรณ์จำนวน 7,004.63 บาท และหักอย่างอื่นอีก คงเหลือเงินเดือนที่ได้รับ 6,630.37 บาท แม้จะยังเหลือหนี้เงินต้นอยู่อีก103,800 บาท แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีเงินค่าหุ้นในสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นเงิน 63,050 บาท ทั้งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความยอมรับว่ามิได้จ่ายเงินช่วยเหลือโจทก์และบุตรทั้งสองมาตั้งแต่ต้นปี 2541 ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงรายได้และพฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาทนับแต่วันที่มีคำพิพากษานั้น เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่สิทธิของบุตรผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรผู้เยาว์แต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนละ 2,500บาทต่อเดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรคนที่สองต่อไปเดือนละ 4,000 บาท จนกว่าบุตรคนที่สองจะบรรลุนิติภาวะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

 
โดยคุณ มโนธรรม เจษฎาสาธุชน 18 ก.ย. 2565, 13:47

แสดงความเห็น