WebBoard :กฎหมาย|นิติหมู่บ้านไม่ให้รถปูนเข้ามาทำงานก่อสร้างภายในที่ดินเจ้าของที่กำลังจะต่อเติมบ้านตนเองในที่ดินตนเอง

นิติหมู่บ้านไม่ให้รถปูนเข้ามาทำงานก่อสร้างภายในที่ดินเจ้าของที่กำลังจะต่อเติมบ้านตนเองในที่ดินตนเอง

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

นิติหมู่บ้านไม่ให้รถปูนเข้ามาทำงานก่อสร้างภายในที่ดินเจ้าของที่กำลังจะต่อเติมบ้านตนเองในที่ดินตนเอง

  • 409
  • 1
  • post on 13 ก.ย. 2565, 04:18

นิติหมู่บ้านไม่ให้รถปูนเข้ามาทำงานก่อสร้างภายในที่ดินเจ้าของที่กำลังจะต่อเติมบ้านตนเองในที่ดินตนเอง โดยให้เหตุผลว่า กฏของหมู่บ้านไม่อนุญาติให้ก่อสร้างหรือปรับปรุงบ้านขนาดใหญ่ได้ 

โฉนดที่ดินเป็นชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์เรียบร้อย จะรบกวนหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไรดีคะ พยามพูดคุยหลายรอบแล้วไม่อนุญาติ ทั้งๆที่ ถนนหน้าบ้านกว้างใหญ่รถเข้าได้ปกติ ค่ะ  


ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ 

โดยคุณ ใบตอง (xxx) 13 ก.ย. 2565, 04:18

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1

นิติบุคคล

  หมู่บ้านที่มีนิติบุคคลของหมู่บ้าน  ซึ่งต้องจดทะเบียนฯ  มีขอบประสงค์และขอบอำนาจตามที่จดทะเบียนไว้  มีคณะผู้บริหารและกรรมการ การดำตำแหน่งการพ้นจากตำแหน่ง ตามที่ระบุในการจดทะเบียนก่อตั้งนิติบุคคลนั้น    นิติบุคคลฯจึงมีอำนาจดูแล บริหารจัดการในหมู่บ้านที่รับผิดชอบ  การกระทำการใดๆ ควรต้องแจ้งนิติฯให้ทราบและเห็นชอบก่อน  โดยเฉพาะการต่อเติมอาคารมี พรบ.ควบคุมอาคารฯ  สรุปคือการต่อเติมต้องขออนุญาตตามแบบที่ิวิศการฯรับรอง  และขออนุญาตในการต่อเติม ต่อท้องถิ่น   และก่อนขออนุญาตท้องถิ่นควรผ่านความเห็นชอบจากนิติฯก่อน  ถ้าข้ามขั้นตอนเหล่านี้  คงมีปัญหาติดขัดดังที่ประสบอยู่....ก็เริ่มต้นใหม่น่าจะได้   คือขอนุญาตนิติฯ ก่อน และขออนุญาตฯต่อท้องถิ่น  มีข้อคิดที่สามารถนำไปใช้ได้เสมอคือ "ปรารถนาสารพัดในปฐพี  เอาไมตรีแลกได้ดั่งใจจง"  ด้วยความปรารถนาดี ครับ
โดยคุณ มโนธรรม เจษฎาสาธุชน 13 ก.ย. 2565, 08:12

ตอบความคิดเห็นที่ 1

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง


  "แม้เจ้าของบ้านที่ขอต่อเติมจะได้เปรียบ   แต่การมีคดีฟ้องร้องกัน 3 ศาล   เป็นการแก้ปัญหาทที่ควรหลีกเลี่ยง....การเจรจาตกลงกันกับนิติฯ แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด...


 ฎีกาที่ 8155/2561


ตามคำขออนุญาตและใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน ไม่ปรากฏว่าในการจัดสรรที่ดินเปล่าซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทของโจทก์ มีวัตถุประสงค์ให้ก่อสร้างอาคารไม่เกิน 2 ชั้น เพื่อใช้เป็นบ้านพักอาศัย ส่วนการก่อสร้างและต่อเติมสิ่งก่อสร้างตามระเบียบนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจำเลยที่ 1 ซึ่งระบุให้เป็นไปตามข้อบังคับในสัญญาดำเนินการนั้น ในสัญญาดำเนินการก็เป็นเพียงแบบข้อตกลงในการก่อสร้างบ้านพักอาศัย 2 ชั้น ไม่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 มีข้อบังคับและระเบียบห้ามมิให้ก่อสร้างอาคาร 3 ชั้น เป็นบ้านพักอาศัยและสำนักงานประกอบธุรกิจ การที่จำเลยที่ 1 ระงับยับยั้งขัดขวางการก่อสร้างอาคารดังกล่าวในที่ดินพิพาท ระงับการใช้ถนนของหมู่บ้านในการขนคนงานและอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินพิพาท ย่อมเป็นการโต้แย้งการใช้กรรมสิทธิ์ของโจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินโดยปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336
 

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 กระทำการหน่วงเหนี่ยว ขัดขวาง ปิดกั้น โดยยอมให้โจทก์เข้าก่อสร้างอาคารและรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กในที่ดินของโจทก์ และยอมให้โจทก์นำคนงานและอุปกรณ์ก่อสร้างเข้าไปยังที่ดินของโจทก์ผ่านทางเข้าออกประตูหมู่บ้านได้อย่างปกติ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 1,519,464.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,438,337 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยที่ 1 กระทำการหน่วงเหนี่ยวขัดขวาง ปิดกั้น โดยยอมให้โจทก์เข้าก่อสร้างอาคารและรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กในที่ดินของโจทก์ และยอมให้โจทก์นำคนงานและอุปกรณ์การก่อสร้างเข้าไปยังที่ดินของโจทก์ผ่านทางเข้าออกประตูหมู่บ้านได้อย่างปกติ ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,519,464.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,438,337 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยโจทก์และจำเลยทั้งห้ามิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า บริษัทซิลเวอร์ แซค แกรนด์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินเมื่อปี 2547 ชื่อโครงการจัดสรร ดิ เอสทานา โดยแบ่งเป็นที่ดินเปล่าไม่มีสิ่งปลูกสร้าง 18 แปลง และที่ดินพร้อมบ้านเดี่ยว 53 แปลง ต่อมาปี 2552 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อรับโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะในโครงการจัดสรร ดิ เอสทานา จากบริษัทซิลเวอร์ แซค แกรนด์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ไปจัดการและดูแลบำรุงรักษาให้คงไว้ซึ่งประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกในหมู่บ้านจัดสรรและมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ตามมติที่ประชุมใหญ่ ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ในปี 2554 จำเลยที่ 1 ออกระเบียบนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ดิ เอสทานา พ.ศ.2554 โดยได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1/2554 แต่รายงานการประชุมนั้นสูญหาย และมีการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 2/2554 รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 1/2554 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายพรหมพัฒน์ เป็นกรรมการคนหนึ่งที่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทต่อจากนายวิบูลย์ กรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของบริษัทซิลเวอร์ แซค แกรนด์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด โดยที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 งาน 88 ตารางวา ตั้งอยู่ใกล้ทางเข้าออกของโครงการจัดสรร ดิ เอสทานา ฝั่งตรงข้ามกับที่ดินพิพาทเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลสัตว์อนูบิส โจทก์มีความประสงค์จะสร้างอาคาร 3 ชั้น ในที่ดินพิพาทเป็นบ้านพักอาศัยและสำนักงานประกอบธุรกิจ และเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัทเมคเคอร์โฮม จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ในราคา 14,383,368 บาท โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2556 แสดงความประสงค์จะเข้าก่อสร้างอาคารในที่ดินพิพาท แต่ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร จำเลยที่ 1 เห็นว่าขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดินและระเบียบของจำเลยที่ 1 จึงห้ามมิให้โจทก์ก่อสร้างอาคาร 3 ชั้น ในที่ดินพิพาท ครั้นต้นเดือนมกราคม 2557 นายพรหมพัฒน์จะนำคนงานพร้อมวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อก่อสร้างรั้ว แต่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ขัดขวาง จากนั้นคณะกรรมการนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 นำเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างอาคารของโจทก์เข้าประชุม และมีมติให้สำรวจความเห็นของสมาชิกก่อน จนกระทั่งวันที่ 28 มกราคม 2557 คณะกรรมการนิติบุคคลออกหนังสือแบบสำรวจความเห็นถึงบรรดาสมาชิกเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างอาคารของโจทก์ และเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 คณะกรรมการนิติบุคคลประชุม ครั้งที่ 2/2557 มีมติที่ประชุมตามผลการสำรวจเสียงสมาชิกส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้โจทก์ก่อสร้างอาคารและให้ปิดประกาศผลการพิจารณาให้สมาชิกทราบทั่วกัน แต่ในเดือนเดียวกันองค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกองออกใบอนุญาตให้โจทก์ก่อสร้างอาคาร เมื่อถึงเดือนเมษายน 2557 บริษัทเมคเคอร์โฮม จำกัด มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 เพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะเข้าดำเนินการก่อสร้างรั้วในที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบ โดยให้โจทก์หรือผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ก่อน และวันที่ 13 มิถุนายน 2557 จำเลยที่ 2 สั่งพนักงานรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านห้ามไม่ให้นายพรหมพัฒน์นำคนงานและอุปกรณ์การก่อสร้างเข้าไปในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และเดือนตุลาคม 2557 บริษัทเมคเคอร์โฮม จำกัด มีหนังสือยกเลิกสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับโจทก์ หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกองคัดค้านการออกใบอนุญาตก่อสร้างให้โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกองมีหนังสือถึงโจทก์ให้ชะลอการก่อสร้างอาคารไว้ก่อน
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยทั้งห้ามีสิทธิยับยั้ง ขัดขวาง มิให้โจทก์ก่อสร้างอาคาร 3 ชั้น เป็นบ้านพักอาศัยและสำนักงานประกอบธุรกิจตามคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งห้าจะนำสืบยืนยันข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยทั้งห้าว่า บริษัทซิลเวอร์ แซค แกรนด์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ยื่นคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินและได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ก่อสร้างอาคารไม่เกิน 2 ชั้น เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย และตามใบโฆษณาที่ผู้ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินโฆษณาไว้จะต้องก่อสร้างเป็นบ้านพักอาศัย 2 ชั้น ที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นที่ดินแปลงเปล่าจะต้องก่อสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น เพื่อให้เป็นไปตามที่ยื่นคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินและใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ตามมาตรา 23 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 นอกจากนี้ที่ดินแปลงที่ 11 เป็นที่ดินแปลงเปล่ายังมีการทำสัญญาระหว่างเจ้าของโครงการกับผู้ซื้อว่า ผู้ซื้อที่ดินจะต้องก่อสร้างเป็นบ้านพักอาศัย 2 ชั้น เท่านั้น หากไม่ปฏิบัติตามผู้ซื้อยินยอมขายคืนให้แก่ผู้ขายหรือเจ้าของโครงการ โจทก์ซื้อที่ดินแปลงพิพาทจากนายวิบูลย์ กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทซิลเวอร์ แซค แกรนด์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้จัดสรรที่ดิน โจทก์ย่อมทราบว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ซื้อต้องก่อสร้างเป็นบ้านพักอาศัยไม่เกิน 2 ชั้น เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการยื่นคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินและใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน แต่เมื่อตรวจพิเคราะห์คำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินและใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ตามทางนำสืบของจำเลยทั้งห้าแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า บริษัทซิลเวอร์ แซค แกรนด์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ยื่นคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินและได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน โดยการจัดสรรที่ดินแบ่งเป็นแปลงย่อย จำนวน 71 แปลง เป็นบ้านเดี่ยว 53 แปลง และเป็นที่ดินเปล่า 18 แปลง มิได้ปรากฏว่าในการจัดสรรที่ดินเปล่า 18 แปลง ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาท เป็นไปโดยมีวัตถุประสงค์ให้ก่อสร้างอาคารไม่เกิน 2 ชั้น เพื่อใช้เป็นบ้านพักอาศัยแต่ประการใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามใบโฆษณาที่ผู้ได้รับอนุญาตให้จัดสรรแจกให้แก่ผู้ซื้อที่ดิน ก็เป็นเพียงการโฆษณาเฉพาะการจัดสรรที่ดินที่เป็นบ้านเดี่ยว 53 แปลง ว่าเป็นบ้านเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น นอกจากนี้การทำสัญญาระหว่างเจ้าของโครงการกับผู้ซื้อที่ดินเปล่า ที่มีบันทึกแนบท้ายข้อตกลงซื้อที่ดินว่า ผู้ซื้อที่ดินเปล่าตามสัญญาจะนำไปเพื่อการปลูกสร้างบ้านพักอาศัยสูงไม่เกิน 2 ชั้น แต่โจทก์มิได้เป็นผู้ซื้อที่ดินเปล่า ข้อเท็จจริงตามสัญญาดังกล่าวย่อมมิใช่ข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกับประเด็นโดยตรงเพื่อบ่งชี้ให้เห็นว่า ในการที่โจทก์ซื้อที่ดินแปลงพิพาท โจทก์ทราบว่าต้องก่อสร้างอาคารไม่เกิน 2 ชั้น เพื่อใช้เป็นบ้านพักอาศัยในที่ดินพิพาทเท่านั้น และทางนำสืบของจำเลยทั้งห้าที่ยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 45 มีวัตถุประสงค์เพื่อรับโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะไปจัดการและดูแลบำรุงรักษาให้คงไว้ซึ่งประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกภายในหมู่บ้านจัดสรร และมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีอำนาจกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์สาธารณูปโภค กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการอยู่อาศัยและการจราจรภายในที่ดินจัดสรรและอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 48 (1) และ (2) และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 5 (1) และ (2) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 45 และตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 คณะกรรมการนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 มีอำนาจออกกฎระเบียบต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 10 (1) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 45 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 46 และข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 4 ข้อ 7 และ ข้อ 10 ซึ่งคณะกรรมการได้ออกระเบียบนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ดิ เอสทานา พ.ศ.2554 โดยระเบียบข้อบังคับในการก่อสร้างและต่อเติมอาคารให้เป็นไปตามข้อบังคับในสัญญาดำเนินการ และตามสัญญาดำเนินการระบุว่า จะต้องเป็นบ้านพัก 2 ชั้น เท่านั้น ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1/2554 ของจำเลยที่ 1 แต่รายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวสูญหายไปและมีการแจ้งความไว้แล้ว การที่โจทก์ขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร 3 ชั้น เป็นบ้านพักอาศัยและสำนักงานประกอบธุรกิจขัดต่อระเบียบของจำเลยที่ 1 ที่ให้ก่อสร้างอาคารเพียง 2 ชั้น เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย แต่ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เป็นรายละเอียดในการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกภายในหมู่บ้านจัดสรร การก่อสร้างและการต่อเติมสิ่งก่อสร้างตามระเบียบนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ดิ เอสทานา พ.ศ.2554 ระบุให้เป็นไปตามข้อบังคับในสัญญาดำเนินการ แต่ในสัญญาดำเนินการเป็นเพียงแบบข้อตกลงในการก่อสร้างบ้านพักอาศัย 2 ชั้น มิได้ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 มีข้อบังคับและระเบียบห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคาร 3 ชั้น เป็นบ้านพักอาศัยและสำนักงานประกอบธุรกิจ พยานหลักฐานตามทางนำสืบจำเลยทั้งห้ายังไม่มีน้ำหนักรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติตามคำให้การของจำเลยทั้งห้าว่า จำเลยที่ 1 มีการออกข้อบังคับและระเบียบห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคาร 3 ชั้น เป็นบ้านพักอาศัยและสำนักงานประกอบธุรกิจ การที่จำเลยที่ 1 ระงับยับยั้งขัดขวางการก่อสร้างอาคารในที่ดินพิพาทของโจทก์ ระงับการใช้ถนนของหมู่บ้านในการขนคนงานและอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินพิพาท ย่อมเป็นการโต้แย้งการใช้กรรมสิทธิ์ของโจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินโดยปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมาย โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โดยฟ้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ยับยั้ง ขัดขวาง มิให้โจทก์เข้าก่อสร้างอาคาร 3 ชั้น เป็นบ้านพักอาศัยและสำนักงานประกอบธุรกิจในที่ดินพิพาทตามคำฟ้อง ฎีกาของโจทก์ในประเด็นนี้ฟังขึ้น
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดต่อโจทก์ตามคำฟ้องหรือไม่ ประเด็นนี้แม้โจทก์จะกล่าวอ้างในคำฟ้องว่า การที่จำเลยทั้งห้าระงับยับยั้งขัดขวางการก่อสร้างอาคารในที่ดินพิพาทของโจทก์ โดยระงับการใช้ถนนของหมู่บ้านในการขนคนงานและอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียเวลาในการก่อสร้างไปหลายเดือน จนบริษัทเมคเคอร์โฮม จำกัด มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและริบเงินงวดแรกจำนวน 1,438,337 บาท แต่ทางนำสืบของโจทก์จากคำเบิกความของนายพันธุ์เทพ พยานโจทก์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทเมคเคอร์โฮม จำกัด ที่ยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์ชำระเงินตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ไปแล้วจำนวน 1,438,337 บาท เมื่อโจทก์ไม่สามารถจัดการให้บริษัทเมคเคอร์โฮม จำกัด เข้าไปดำเนินการก่อสร้างตามสัญญา บริษัทเมคเคอร์โฮม จำกัด จึงมีหนังสือยกเลิกสัญญาและขอยึดเงินจำนวน 1,438,337 บาท ที่รับไปแล้ว แต่เมื่อตรวจพิเคราะห์หนังสือยกเลิกสัญญาตามทางนำสืบแล้วกลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทเมคเคอร์โฮม จำกัด แจ้งให้โจทก์ชำระเงินค่าใช้จ่ายในส่วนที่ดำเนินการไปแล้วและค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,438,337 บาท ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือยกเลิกสัญญา ซึ่งมิได้สอดคล้องไปในทำนองเดียวกับคำเบิกความของนายพันธุ์เทพ ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติได้แน่นอนว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถูกบริษัทเมคเคอร์โฮม จำกัด ริบเงินงวดแรกจำนวน 1,438,337 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จำต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดต่อโจทก์ตามคำฟ้อง ฎีกาในประเด็นข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นสุดท้ายที่โจทก์ฎีกาว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดไว้ว่า ให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้น โดยคำนึงถึงเหตุผลอันสมควร และความสุจริตในการดำเนินคดีหรือการต่อสู้คดี ซึ่งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับ มีผลทำให้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกเป็นพับไปด้วย จึงไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ศาลจะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับความรับผิดชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียม ส่วนจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด เป็นดุลพินิจของศาล โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจที่จะให้โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งรวมถึงค่าทนายความให้แก่จำเลยทั้งห้าได้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับ ซึ่งนับว่าเป็นคุณแก่โจทก์ จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของโจทก์ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ห้ามจำเลยที่ 1 กระทำการหน่วงเหนี่ยวขัดขวาง ปิดกั้น โดยยอมให้โจทก์เข้าก่อสร้างอาคารและรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กในที่ดินของโจทก์ และยอมให้โจทก์นำคนงานและอุปกรณ์การก่อสร้างเข้าไปยังที่ดินของโจทก์ผ่านทางเข้าออกประตูหมู่บ้านได้อย่างปกติ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
โดยคุณ มโนธรรม เจษฎาสาธุชน 13 ก.ย. 2565, 08:27

แสดงความเห็น