WebBoard :กฎหมาย|บัญชีเครือญาติ

บัญชีเครือญาติ

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

บัญชีเครือญาติ

  • 1429
  • 2
  • post on 12 มิ.ย. 2565, 13:36

เรียนถามอาจารย์ค่ะ

ต่อเนื่องจากที่เคยถามในกระทู้ที่แล้วนะคะ เรื่องญาติไม่คืนโฉนดให้หลังจากที่ใช้หนี้หมดกรณีคนพ่อเซ็นค้ำประกันแล้วคุณพ่อเสียชีวิต

วันนี้มีคำถามมาเรียนถามเพิ่มเติมค่ะเกี่ยวกับการขอเป็นผู้จัดการมรดกค่ะ ตอนนี้มีความกังวลใจเรื่อง บัญชีเครือญาติค่ะ 

 

บิดา เจ้ามรกด (เสียชีวิตแล้ว)+มารดา เจ้ามรดก


เจ้ามรดก (เสียชีวิตแล้ว) +ภริยาเจ้ามรดก ไม่จดทะเบียนสมรส

บุตร คนที่1 (ผู้ร้อง)

บุตร คนที่2 


คำถามค่ะ

บัญชีเครือญาติ เราต้องใส่พี่น้องร่วมบิดามารดาของเจ้ามรดกด้วยหรือเปล่า เพราะเรากังวลว่าอาจจะมีบางคนเขาจะไม่เซ็นยินยอมให้ สมมุติตัวอย่างนะคะ พี่น้องร่วมบิดามารดาเจ้ามรดก มี3คน คือ นาง เอ นางบี และนางซี 

เจ้ามรกด ไปเซ็นค้ำไประกันกู้เงินสถาบันการเงิน ให้บุตรนางบีตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเจ้ามรดกตาย ครอบครัวของนางบีใช้ประโยชน์บนที่ดินแปลงนั้นและไม่คืนโฉนดให้ทายาท 

เราเลยกังวลว่า นางบีจะไม่ยินยอม ให้เราเป็นผู้จัดการ มรดก

ดิฉันจะหาทางออกกับเรื่องนี้อย่างไรคะ

 ขอบคุณค่ะ





                                    

โดยคุณ นิรันดร์ (xxx) 12 มิ.ย. 2565, 13:36

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 2

การขอตั้งผู้จัดการมรดก


  เมื่อเจ้ามรดก เสียชีวิต  ผู้ที่มีสิทธิ์รับมรดกของผู้ตาย   ได้แก่ บิดามารดา   ภรรยาและบุตร  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของผู้ตาย(เจ้ามรดก)  ไม่มีสิทธิ์รับมรดกของผู้ตาย  เพราะถูกตัดสิทธิ์  โดยทายาทลำดับที่ 1 (ผู้สืบสันดาน)ซึ่งในที่นี้หมายถึงบุตรคนที่ 1 และ คนที่ 2  การถูกตัดสิทธิ์นี้ เป็นการถูกตัดสิทธิ์ โดยผลของกฎหมาย ในหลักการที่ว่า ญาติสนิท (บุตร) จะตัดสิทธิ์ญาติห่าง (พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน) พี่น้องฯ  เป็นทายาทลำดับที่ 3 ( ปพพ. ม.1629)  จึงถูกตัดสิทธิไม่ให้ได้รับมรดก

 บัญชีรายชื่อเครือญาติ  ก็ยื่นเฉพาะทายาทที่มีสิทธิ์รับมรดก ได้แ่ก่

 1. บิดา  มารดาเจ้ามรดก  กรณีบิดาเสียชีวิต ก็ยื่น มรณบัตรไปด้วย  กรณีบิดา ตายลง  ก็จบ  ส่วนของมรดกที่บิดาจะได้รับ  ไม่สามารถรับมรดกแทนที่ได้ ตาม ปพพ. ม.1641   ตรงประเด็นนี้ คนที่ไม่เข้าใจหลักกฎหมายดีพอ  อาจจะอ้างว่า  เมื่อพ่อ ผู้มีสิทธิอ์รับมรดกตายลง  ส่วนของพ่อนั้น  ต้องให้ลูก รับมรดกแทนที่ได้ ซึ่งลูกก็คือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับเจ้ามรดก  (ทายาทลำดับที่ 3) ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีนี้ บุตรรับมรดกแทนที่พ่อไม่ได้   ดังที่กล่าวไว้แต่ต้นว่า เมื่อพ่อตายก็จบ...ถ้าสำคัญผิดคิดว่า ตนมีส่วนแบ่ง อาจจจะมีคดีฟ้องร้องกันยืดยาวได้

2. ภรรยา  แม้ไม่จดทะเบียนสมรส  แต่ถือว่าเป็นหุ้นส่วนชีวิต  ทรัพย์สินที่หามาได้่ร่วมกัน  ภรรยาแม้ ไม่จดทะเบียนสมรส  ก็ขอแบ่งได้กึ่งหนึ่ง  

3. บุตรทั้งสองคน

  ดังนั้นบัญชีเครือญาติ จะมีทายาทคือ บิดามารดาเจ้ามรดก   ภรรยา  และบุตร เท่านั้น

ขอแนะนำให้หาทนายความยื่นเรื่องให้  จะสะดวก  เพราะเรื่องเอกสารต่างๆ ทนายความย่อมทราบดีว่ามีอะไรบ้าง  ก็ใช้เวลาประมาณ 45 วัน  ก็คงได้คำสั่งศาลให้เป็นผู้จัดการมรดก   ค่าใช้จ่าย ก็เจรจากับทนายความเอาเองว่าจะคิดกันอย่างไร ถ้าจ้างทนายความ  ก็ควรเจรจากันให้ครบถ้วนว่า  เมื่อได้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว  ให้ทนายความช่วยเหลือในการแบ่งปันมรดกด้วย จนจบสิ้น  ถ้าไม่เจรจาตรงจุดนี้  เมื่อได้คำสั่งศาล  ก็ถือว่าหมดหน้าที่ของทนายความแล้ว  ถ้าจะให้เขาช่วยเรื่องแบ่งปันมรดก   ก็คงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก....ค่าทนายความก็คงประมาณ 10,000  - 50,000  บาท หรือตามที่ตกลงกัน ครับ

   หรือจะใช้วิธีไปที่ สนง.อัยการ ในจังหวัดภูมิลำเนา  ยื่นคำร้องให้อัยการ ยื่นเรื่องต่อศาล  ขอตั้งผู้จัดการมรดกให้ ค่าใช้จ่าย น่าจะประมาณ  2,000  บาท  คือค่าธรรมเนียมศาล 200  บาท  และค่าประกาศฯ และอื่นๆ น่าจะประมาณ 2,000  บาท   แต่การใช้ช่องทางนี้ อาจจะต้องรอนานหน่อย  เพราะมีประชาชนไปติดต่อขอใช้บริการมากมายพอสมควร ในหลายๆจังหวัด

  อีกประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือ  การให้ญาติครอบครองทำประโยชน์บนที่ดิน  อาจเป็นเงื่อนไข ให้เขาอ้างการครอบครองปรปักษ์  เพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ได้  ถ้าชะล่าใจให้เขาครอบครอง  ในฐานะเจ้าของ 10 ปี  ซึ่ง 10 ป่ี ก็เป็นเวลาไม่เนิ่นนานอะไร  ถ้ายังลังเล ชะล่าใจ จะสูญเสียที่ดินได้อย่างง่ายดาย...  ทางแก้ไข ในฐานะทายาท  ก็แจ้งให็ญาติ ส่งมอบที่ดินให้่  หรือให้ย้ายออกไป  ก่อนจะสายเกินไป เพราะความโลภไม่เคยปรานีใคร...ถ้าที่ดิน มีเอกสารเป็น นส.3  หรือ นส.3 ก.  ถ้าให้เขาแย่งการครอบครองเพียงปีเดียว   ถ้าฟ้องร้องทายาทจะแพ้คดี  คือสูญเสียที่ดินไป   แต่ถ้าที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ เป็นโฉนดที่ดิน  ก็ใช้เวลานานหน่อย คือ 10 ปี แต่..ถ้าชะล่า  10 ปี ก็ไม่ไม่นานมากนัก ก็ต้องรีบดำเนินการแก้ไข ให้ทันท่วงที  เขายึดโฉนดที่ดินไว้ ยังไม่ร้ายแรงเท่า เขาครอบครองที่ดินอยู่  มีคดีฟ้องว่าครอบครองปรปักษ์  แทบทุกศาล  และเจ้าที่ดินมักแพ้คดี เพราะหลงผิดคิดว่า มีโฉนดที่ดิน(ครุฑแดง)แล้ว ใครๆก็แย่งไปไม่ได้....ขอบอก...กฎหมาย ถือว่า ผู้ครอบครองมีสืทธิ์ดีกว่าบุคคลอื่น  ที่ตอบยืดยาว เพราะมีประการณ์จริง ในเรื่องนี้ มาตลอดชีวิต  ด้วยความปรารถนาดี ครับ

โดยคุณ มโนธรรม เจษฎาสาธุชน 13 มิ.ย. 2565, 09:33

ตอบความคิดเห็นที่ 2

เป็นคำตอบที่ชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย รัดกุม ได้ประโยชน์ หวังว่าคนที่มีปัญหาเหมือนกันกับดิฉันเข้ามาอ่าน ก็จะมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น 

ต้องขอขอบคุณ เป็นอย่างสูง เหมือนยกภูเขาออกจากอก  ขอบคุณจากหัวใจ ของเรา2คนพี่น้องค่ะ 


โดยคุณ นิรันดร์ 13 มิ.ย. 2565, 14:43

ความคิดเห็นที่ 1

ขออภัยค่ะ พิมพ์ผิด  คำว่า มรดก เป็น มรกด


โดยคุณ นิรันดร์ 12 มิ.ย. 2565, 13:40

แสดงความเห็น