งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ
ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ
สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ
รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ
รวมตัวอย่างคดีลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย ซึ่งแตกต่างจากความผิดฐานฉ้อโกง
ทั้งความผิดฐานลักทรัพย์และฐานฉ้อโกง เป็นกรณีทำให้ผู้กระทำผิดได้ทรัพย์ไปจากผู้ครอบครองเช่นเดียวกัน แต่ลักษณะการได้มาแตกต่างกัน กล่าวคือ ในความผิดฐานลักทรัพย์ผู้กระทำผิดเอาทรัพย์สินของผู้อื่นไปโดยพลการ โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ยินยอม ส่วนความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำผิดได้ทรัพย์ไปโดยความยินยอมเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์โดยความยินยอมดังกล่าวเกิดจากการถูกหลอกลวง
1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการ โดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวงการที่จำเลยเปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางซึ่งติดราคา1,785 บาทออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟอื่นซึ่งติดราคา 134 บาท มาติดแทนแล้วมอบให้พวกของจำเลยนำไปชำระราคาแก่พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายจึงมิใช่เอาโคมไฟตั้งโต๊ะไปโดยพลการโดยทุจริต อันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายโดยทุจริต โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ราคาโคมไฟตั้งโต๊ะมีราคา 134 บาท พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลยโดยรับเงินจากจำเลยไว้เพียง 134 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3935/2553
จำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาสุราต่างประเทศของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้น การที่จำเลยเอาสุราต่างประเทศใส่ในลังน้ำปลาแล้วนำไปชำระเงินกับพนักงานแคชเชียร์ของผู้เสียหายเท่ากับราคาน้ำปลา เป็นเพียงกลอุบายของจำเลยเพื่อเอาสุราต่างประเทศของผู้เสียหายไปโดยทุจริตเท่านั้น โดยพนักงานแคชเชียร์ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายมิได้มีเจตนาส่งมอบการครอบครองสุราต่างประเทศให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่
3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2542
จำเลยทั้งสองร่วมกันเอาทรัพย์หลายรายการใส่ในกล่องกระดาษใส่พัดลม และนำผ่านเครื่องเก็บเงินของผู้เสียหาย และชำระราคาสินค้าเท่ากับราคาค่าพัดลม 3 เครื่อง ซึ่งมีราคา น้อยกว่าราคาสินค้าในกล่องกระดาษเป็นการลักทรัพย์โดยใช้ กลอุบาย แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันคบคิด แสวงหาวิธีการ หลอกลวงตบตาผู้เสียหายไว้ก่อน ลักษณะและพฤติการณ์แห่งความผิด จึงถือได้ว่าร้ายแรง จำเลยทั้งสองเป็นผู้ใหญ่ และจำเลยที่ 2 มีครอบครัวและบุตรแล้ว ถือได้ว่ามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี พอสมควรกลับมากระทำผิดจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง
4.คําพิพากษาฎีกาที่ 4251/2562
จําเลยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาน้ำนมดิบของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้น โดยวิธีนํารถบรรทุก ถังพลาสติกบรรจุน้ำมาชั่งน้ำหนักในครั้งแรกเพื่อให้พนักงานของผู้เสียหายเห็นว่ารถมีน้ำหนักมากกว่าปกติ ภายหลังจากนั้นจึงถ่ายน้ำออกจากถังแล้วไปรับน้ำนมดิบเมื่อนํารถมาชั่งอีกครั้ง ทําให้จําเลยได้รับน้ำนมดิบในปริมาณน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเท่ากับปริมาณน้ำที่ถ่ายทิ้งไป จึงเป็นการใช้กลอุบายเพื่อให้บรรลุผลคือ การเอาน้ำนมดิบในส่วนที่เกินของผู้เสียหายไปโดยทุจริต เท่านั้น พนักงานของผู้เสียหายไม่ได้มีเจตนาส่งมอบการครอบครองน้ำนมดิบในส่วน ที่เกินแก่จําเลย การกระทําของจําเลยจึงเข้าองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ แต่การกระทําของจําเลยยังไม่บรรลุผล จึงเป็นเพียงความผิดฐานพยายามลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะตามฟ้อง
5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2553
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง เมื่อจำเลยจัดทำใบเบิกเงินทดรองจ่ายซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่ตรงตามความเป็นจริง จึงเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสาร จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลก็มีอำนาจลงโทษในความผิดฐานฉ้อโกงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
แม้คำขอบังคับในคดีนี้กับคดีของศาลแรงงานกลางจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน คือขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีนี้เนื่องมาจากการกระทำผิดอาญา ส่วนคดีของศาลแรงงานกลางมีที่มาจากมูลกรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงาน พนักงานอัยการไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ฉ้อโกงเงินของโจทก์ร่วมไปและถูกฟ้องหลายคดี แต่คดีนี้และคดีอื่นมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 91 (1) กล่าวคือ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงทุกคดีแล้วจะเกิน 10 ปี ไม่ได้ คดีนี้จำเลยถูกลงโทษเต็มตามกำหนดโทษดังกล่าวแล้วย่อมไม่อาจนำโทษคดีนี้ไปนับต่อจากโทษคดีอื่นได้เพราะจะทำให้จำเลยได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (1) บัญญัติไว้
6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5228/2554
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์เพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้ การที่ผู้เสียหายยินยอมส่งมอบรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เนื่องจากถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงให้ทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน เพียงแต่อาศัยสัญญาดังกล่าว เพื่อเป็นช่องทางให้ได้รถจักรยานยนต์ของกลางก็ตาม ก็ถือเป็นส่งมอบการครอบครองโดยสมัครใจ จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง มิใช่ลักทรัพย์
จำเลยที่ 4 รับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณา แม้จะแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวในฟ้องที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ และจำเลยที่ 4 รับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ก็มิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยทั้งสี่มิได้หลงข้อต่อสู้ และไม่ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ การกระทำของจำเลยที่ 4 ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร
จำเลยที่ 4 จ่ายเงินค่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 มอบกุญแจรถของกลางให้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ขึ้นนั่งคร่อมรถจะขับออกไป แต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้รับทรัพย์ที่ซื้อจากจำเลยที่ 3 ไว้แล้ว เป็นความผิดฐานรับของโจรสำเร็จแล้ว หาใช่เป็นเพียงพยายามรับของโจร การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ และศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฐานร่วมกันฉ้อโกงและลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจร ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม
7.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2698/2554
จำเลยเป็นพนักงานขายของผู้เสียหาย มีหน้าที่เสนอขายสินค้าให้ลูกค้าต่างจังหวัดแล้วนำใบสั่งสินค้ามาให้แก่ผู้เสียหายออกใบเสนอราคาจัดส่งสินค้าโดพนักงานคนอื่นไปส่งให้แก่ลูกค้า หลังจากนั้นจำเลยมีหน้าที่เก็บเงินสดหรือเช็คจากลูกค้าต่างจังหวัดที่จำเลยเสนอขายสินค้านำส่งผู้เสียหาย การที่จำเลยอ้างว่าร้าน ร.สั่งซื้อสินค้าและต้องการด่วนจำเลยขอรับสินค้าไปส่งเอง ทั้งที่ความจริงร้าน ร.ไม่ได้สั่งซื้อ จำเลยไม่ได้นำสินค้าไปส่งให้ และไม่ปรากฎว่าจำเลยไปขายสินค้าให้แก่ใคร สินค้าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยประสงค์ต่อผลเอาสินค้าของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรก แสดงว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายไม่ได้อนุญาตให้กระทำได้ แล้วจำเลยพาทรัพย์เคลื่อนที่ไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
8.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2530
จำเลยกับพวกนำรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปขอรับจ้างบรรทุกถั่วเขียวของผู้เสียหายเพื่อส่งให้แก่ลูกค้าของผู้เสียหาย แล้วเอาถั่วเขียวดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนกับพวก ดังนี้ เป็นการใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์โดยมีเจตนาทุจริตมาแต่แรกจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์
9.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2529
จำเลยทั้งสองขี่รถจักรยานยนต์ซ้อนกันเข้าไปเติมน้ำมันเบนซินที่บ้านผู้เสียหายจำนวน5ลิตรเมื่อเติมน้ำมันเสร็จภริยาผู้เสียหายทวงเงินค่าน้ำมันจำเลยที่2ถือลูกกลมๆอยู่ในมือซึ่งฟังไม่ได้ว่าเป็นลูกระเบิดพูดว่าไม่มีเงินมีไอ้นี่เอาไหมภริยาผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นลูกระเบิดจำเลยทั้งสองขี่รถจักรยานยนต์ออกไปการกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายเพียงเพื่อจะเติมน้ำมันรถจักรยานยนต์โดยไม่ชำระราคาเท่านั้นการที่จำเลยที่2ถือลูกกลมๆอยู่ในมือและพูดเช่นนั้นเป็นวิธีการที่จะใช้แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหาใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ไม่
10.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 611/2530
จำเลยขับรถยนต์เข้าไปสั่งให้เติมน้ำมันรถยนต์ที่ปั๊มน้ำมันของผู้เสียหาย เมื่อคนเติมน้ำมันเติมน้ำมันเกือบจะเต็มถังจำเลยพูดว่าไม่มีเงินเดี๋ยวจะเอามาให้ คนเติมน้ำมันบอกว่าต้องไปบอกผู้เสียหายก่อน แต่จำเลยได้ขับรถออกไปทันที ขณะเติมน้ำมันจำเลยไม่ได้ดับเครื่องยนต์รถและฝาปิดถังน้ำมันก็ไม่มีโดยใช้ผ้าอุดไว้แทนแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้วางแผนการไว้เพื่อจะไม่ชำระเงินค่าน้ำมันเมื่อได้น้ำมันมาแล้ว โดยจะรีบหนีไปอันเป็นอุบายอย่างหนึ่งในการที่จะทำให้ลักทรัพย์สำเร็จ พฤิตการณ์แสดงว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่ต้นที่จะลักเอาน้ำมันของผู้เสียหาย.(ที่มา-ส่งเสริม)
11.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3245/2545
จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกมีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่เบื้องต้น ส่วนการหลอกลวงว่าจะรับซื้อที่ดินจำนวนมากก็ดี หรือการหลอกลวงว่าจะพาไปซื้อรถยนต์ราคาถูกก็ดี ล้วนเป็นการสร้างกลอุบายเพื่อให้บรรลุผลเอาเงินสดของผู้เสียหายไปโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่
12.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1463/2503
จำเลยทำอุบายขอน้ำดื่มจากเจ้าของร้านรับฝากรถจักรยานเมื่อเขาเผลอก็ลอบหยิบบัตรคู่หนึ่งของเจ้าของร้านแล้วเอาบัตรนั้นใบหนึ่งไปแขวนไว้ที่รถจักรยานโดยเอาบัตรเลขอื่นที่แขวนอยู่เดิมออกเสีย แล้วต่อมาก็เอาบัตรคู่กันอีกใบหนึ่งมาขอรับรถจักรยาน เขาไม่ยอมให้เพราะเห็นว่าไม่ใช่ผู้ฝากรถ ก็กล่าวเท็จแสดงว่าเพื่อนให้เอาบัตรมารับรถเพราะเปลี่ยนรถกันขี่ เขาจึงยอมให้รถไป ดังนี้ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย มิใช่ฉ้อโกง
13. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 554/2509
จำเลยกับสิบตำรวจโทสำเนียงและสิบตำรวจเอกเหมกลับจากงานบวชนาคด้วยกันเมื่อไปถึงทุ่งนาสิบตำรวจโทสำเนียงบอกว่าจะไปถ่ายเพราะปวดท้องจึงมอบปืนไว้กับสิบตำรวจเอกเหมแล้วสิบตำรวจโทสำเนียงก็เดินไปโดยจำเลยเดินตามไปด้วยสิบตำรวจเอกเหมไปคุยอยู่กับพรรคพวกจำเลยได้กลับมาหาสิบตำรวจเอกเหมและเอาความเท็จบอกว่าสิบตำรวจโทสำเนียงให้มาเอาปืนจะไปธุระ สิบตำรวจเอกเหมเห็นว่าจำเลยกับสิบตำรวจโทสำเนียงเจ้าของปืนเป็นเพื่อนกัน จึงหลงเชื่อตามคำหลอกลวงของจำเลยและมอบปืนให้จำเลยไป ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในลักษณะที่เห็นได้ว่าจำเลยหลอกลวงให้สิบตำรวจเอกเหมหลงเชื่อจนได้ปืนไปจากสิบตำรวจเอกเหมผู้ถูกหลอกลวง ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2509)
14.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 791/2502
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำผิดวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2501 ตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนยี่ และโจทก์นำสืบว่าจำเลยทำผิดวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนยี่ ซึ่งความจริงแล้ววันขึ้น13ค่ำเดือนยี่ ตรงกับวันที่ 2 มกราคม2501 ตามที่จำเลยให้การและลำดับเหตุการณ์ในวันที่ 3กุมภาพันธ์ 2501 เป็นการเจือสมกับการกระทำที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นแต่นำสืบปฏิเสธต่อสู้ปัดความรับผิดเท่านั้น จึงเห็นว่าจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้แต่อย่างใด
จำเลยกับพวกได้พูดกับเจ้าของม้าขอลองกำลังม้า อ้างว่าเพื่อนของจำเลยจะซื้อ ดังนี้ สิทธิครอบครองยังคงอยู่กับเจ้าของม้า เจ้าของม้ายังไม่ทันอนุญาต จำเลยยัดเยียดส่งบังเหียนให้เพื่อนของจำเลยและพูดรับรอง ในทันใดนั้นเองพวกของจำเลยก็ตีม้าเร่งฝีเท้าขี่หนีไปต่อหน้า ดังนี้จึงเห็นว่า จำเลยมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริตแต่แรก การกระทำของจำเลยกับพวกมีความผิดฐานลักทรัพย์
15.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2214/2531
พระพุทธรูปของกลางเป็นของวัด การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันซื้อพระพุทธรูปดังกล่าวจากพระภิกษุซ.ซึ่งจำวัดอยู่ในวิหาร โดยรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่ทรัพย์สินของพระภิกษุซ.ก็เพื่อมิให้พระภิกษุซ.ขัดขวางจำเลยทั้งสองกับพวกเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองกับพวกเอาพระพุทธรูปของกลางไปจากวิหาร จำเลยทั้งสองย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์
16.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 321/2510
เงินที่ได้จากการขายข้าวซึ่งโจทก์ร่วมและบิดาทำร่วมกันเมื่อได้ความว่ายังไม่ได้แบ่งเงินรายนี้ระหว่างคนทั้งสองจึงต้องถือว่าทั้งบิดาและโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเงินรายนี้ร่วมกันอยู่ดังนี้ จึงต้องถือว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย ย่อมมีสิทธิที่จะร้องทุกข์ได้ตามกฎหมาย
คดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้เรียกเอาเงินและทองมาใส่ถุงย่ามเพื่อเป็นสิริมงคลในการที่จำเลยจะทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ของโจทก์ร่วมโจทก์ร่วมจึงได้ห่อธนบัตรจำนวนเงิน 2,006 บาท กับเอาสร้อยคอทองคำทองหนักหนึ่งบาทหนึ่งเส้นบรรจุใส่ในกล่องพลาสติกส่งให้จำเลยจำเลยเอาห่อเงินและกล่องบรรจุสายสร้อยดังกล่าวใส่ลงไปในถุงย่ามแล้วลงเรือนไป มีนายประสิทธิและโจทก์ร่วมเดินตามหลังระหว่างเดินกันไปทางบ้านใหม่ของโจทก์ร่วมเพื่อจะทำพิธี จำเลยล้วงเอาห่อธนบัตรนั้นไปเสีย จึงเห็นได้ว่าเป็นการลักทรัพย์เพราะโจทก์ร่วมเจ้าของทรัพย์ยังมิได้สละการครอบครองให้จำเลยเขาเพียงแต่ให้จำเลยยึดถือไว้เป็นการชั่วคราว ดังนี้ การที่จำเลยเอาห่อธนบัตรนั้นไป ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือกฎหมายอาญาพิสดาร เล่ม 2 (ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี 2565) เขียนโดย ท่านวิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ ผู้พิพากษา
มีปัญหาข้อกฎหมายสอบถาม 02-948-5700 หรือ 081-616-1425 หรือ 081-625-2161, 081-821-7470