WebBoard :กฎหมาย|สงสัยเรื่องการใช้ของลิขสิทธิ์่

สงสัยเรื่องการใช้ของลิขสิทธิ์่

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

สงสัยเรื่องการใช้ของลิขสิทธิ์่

  • 377
  • 1
  • post on 1 ก.ย. 2565, 10:29

ขอรบกวนสอบถามเพื่อจะได้ทราบแนวทางปฏิบัติตัวที่ถูกต้องและเป็นวิทยาทานค่ะ ชินเป็นคนขายของออนไลน์จำพวกจิปาถะ เครื่องเขียน ขนม ฯลฯ ทีนี้ได้เสียเงินจำนวนหนึ่งในการสั่งซื้ออุปกรณ์แพ็คของเพื่อมาใช้แพ็คและตกแต่งซองหรือกล่องให้มีความสวยงาม (เทปมีลาย สติ๊กเกอร์ เรซิ่น ฯลฯ) มาจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบสุ่มลาย ในพรีวิวลายสุ่มมันก็เป็นลายเบสิคทั่วไป แต่พอของมาถึงจริงเป็นการ์ตูนมีลายลิขสิทธิ์ที่ไม่ได้มีในพรีวิวเลย (ชินไม่ทราบว่าลายบนนั้นเป็นลิขสิทธิ์ที่ได้มาถูกต้องหรือไม่ แต่ชินไม่ได้นำมาขายและไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าของชิน)

จึงขอเรียนถามว่า 1.ถ้าใช้เทปเหล่านั้นในการแพ็คของส่งลูกค้า ในทางกฎหมายชินจะมีความผิดหรือไม่คะ? 2.ถ้าใช้สติ๊กเกอร์หรือเรซิ่นเหล่านั้นติดประดับหน้าซองหรือกล่องพัสดุส่งลูกค้า ในทางกฎหมายชินจะมีความผิดหรือไม่คะ? 3.การที่ชินจะเขียนกระดาษแผ่นเล็กๆ ขอบคุณลูกค้าที่มาซื้อของแล้วใช้ของดังกล่าวตกแต่ง ในทางกฎหมายจะมีความผิดหรือไม่คะ? 4.หากข้อ 1-2-3 ผิดหมด ชินควรจัดการกับของพวกนี้อย่างไร? 

ขอบคุณค่ะ

โดยคุณ Chin (xxx) 1 ก.ย. 2565, 10:29

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1

สินค้าลิขสิทธิ์


ตอบ..1-2-3  ถ้าสินค้าลิขสิทธิ์   ถ้านำออกเผยแพร่หรือจำหน่าย ก็คงมีความผิด ในเมื่อทำเพื่อกาารค้า มีโทษจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี ปรับ1-8  แปดแสนบาท ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์ ฯ ม.69 วรรคสอง....ก็เคยมีคนฮึดสู้ในคดีแบบนี้  และชนะคดี  แต่ต้องว่ากันถึงศาลฎีกา  ขอแนะนำว่า ถ้าหลีกเลี่ยงได้  ก็จงเลี่ยงไปเถิด  เพราะการมีคดีมันไม่คุ้ม แน่นอน  หลายคนหมดเนื้อหมดตัว ส่วนมากเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นฝรั่งต่างชาติ มักไมยอมรามือ เพราะเราเป็นประเทศเล็กๆ  ไม่มีบารมีน่าเกรงขาม   มีประเทศใหญ่มาก(ไม่ขอเอ่ยนาม) ละเมิดลิขสิทธิ์ โจ่งแจ้ง แต่ไม่มีใครกล้าแตะ   เพราะประเทศเขามีบารมีล้นฟ้า....อีกทางหนึ่งคือ ขออนุญาตการใช้ หรือเผยแพร่ต่อเจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจถูกต้อง  ต้องทำเป็นหนังสือยินยอม   แต่ก็ไม่พ้นต้องเสียเงินค่าลิขสิทธิ์  น่าจะไม่คุ้มครับ

โดยคุณ มโนธรรม เจษฎาสาธุชน 2 ก.ย. 2565, 09:02

ตอบความคิดเห็นที่ 1

ขอบพระคุณมากค่ะท่าน ชินหนักใจมากๆ เพราะว่าก็เสียตังค์ซื้อเราไม่ได้คิดว่าจะได้ของละเมิดมา แต่ยอมทำลายดีกว่ามีคดีติดเนอะ

โดยคุณ Chin 2 ก.ย. 2565, 17:43

ตอบความคิดเห็นที่ 1

แนวคำพิพากษาเทียบเคียง


  ฎีกาที่ 9600/2554


ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะอันเป็นการก่อให้จำเลยทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้กระทำความผิดโดยทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ก่อนแล้วและนำแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นออกขายแก่ ร. ผู้ล่อซื้ออันจะถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) เมื่อ ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) เพื่อให้เจ้าพนักงานจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้ แผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ ที่ ร. ว่าจ้างจำเลยให้ทำขึ้นและวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์การบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลยที่ ร. แอบถ่ายไว้เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบและเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง
 

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 69, 75 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และ 91 สั่งให้ซีดีรอมเพลงเอ็มพี 3 และวีซีดีคาราโอเกะของกลางที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายจำนวน 4 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ริบคอมพิวเตอร์ 1 ชุด ของกลาง กับสั่งจ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำซ้ำงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับกระทงละ 20,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นปรับ 40,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ให้ซีดีรอมเพลงเอ็มพี 3 และวีซีดี คาราโอเกะของกลางที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 3 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ริบซีพียู 1 เครื่อง จอคอมพิวเตอร์ 1 จอ และแผงแป้นอักขระ 1 แผง ของกลาง ซีดีรอม ให้คืนแก่เจ้าของ และสั่งจ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานทำซ้ำงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของบริษัทอาร์.เอส.โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยในเบื้องต้นเสียก่อนว่า การร้องทุกข์คดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีนางสาวรสนนท์มาเบิกความเป็นพยานได้ความว่า เมื่อประมาณปี 2548 จำวันและเดือนไม่ได้ พยานไปที่ร้านซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยพร้อมด้วยลูกน้องจำนวน 2 คน พบจำเลยที่ร้านดังกล่าว พยานสอบถามจำเลยว่ารับบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีหรือไม่ จำเลยตอบว่ารับบันทึกโดยคิดราคาแผ่นละ 50 บาท พยานตกลงว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงลงแผ่นซีดีในรูปไฟล์เอ็มพี 3 พยานเลือกเพลงจากที่เห็นรายชื่ออยู่แล้วในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย บางเพลงก็เขียนชื่อเพลงใส่กระดาษให้จำเลยซึ่งมีเพลงที่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รวมอยู่ด้วย บางเพลงจำเลยเลือกให้ซึ่งมีเพลง "รักคนมีเจ้าของ" และ "ที่หนึ่งไม่ไหว" ของวงไอน้ำ กับเพลง "ไม่เอาคืน" และ "พันมือ" ของ ดัง พันกร อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย จำเลยใช้เวลาประมาณ 30 นาที ในการบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีจำนวน 2 แผ่น พยานได้ถ่ายวิดีโอภาพเหตุการณ์การรับจ้างบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลยไว้ ตามแผ่นซีดีวัตถุพยาน ต่อมาพยานไปที่ร้านของจำเลยอีกครั้ง ห่างจากครั้งแรกประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์ และว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงลงแผ่นซีดีในรูปซีดีเพลงเอ็มพี 3 และวีซีดีคาราโอเกะ โดยพยานเป็นผู้เลือกเพลงส่วนหนึ่ง และจำเลยช่วยเลือกอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีเพลง "บอกไม่รักง่ายกว่า" และ "ยอมจำนนฟ้าดิน" ของวงโบวี่ กับเพลง "ขอมีรักจริง" ของต้อย หมวกแดง อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย ข้อมูลเพลงที่จำเลยคัดลอกมาบันทึกลงแผ่นซีดีนั้นมีบันทึกอยู่แล้วในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย แผ่นซีดีเพลงเอ็มพี 3 และวีซีดีคาราโอเกะที่พยานว่าจ้างจำเลยให้บันทึกดังกล่าว พยานได้ถ่ายวิดีโอภาพเหตุการณ์การรับจ้างบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลยในครั้งนี้ไว้ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามคำเบิกความของนางสาวรสนนท์พยานโจทก์ดังกล่าวว่าจำเลยได้บันทึกเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีจำนวน 2 แผ่น กับได้บันทึกเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีในรูปซีดีเพลงเอ็มพี 3 และวีซีดีคาราโอเกะอันเป็นการทำซ้ำซึ่งงาน ดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยเกิดจากการที่นางสาวรสนนท์ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะอันเป็นการก่อให้จำเลยทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือหากนางสาวรสนนท์ไม่ว่าจ้างจำเลย การกระทำความผิดที่โจทก์ฟ้องก็ไม่เกิดขึ้น จำเลยมิได้กระทำความผิดโดยทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ก่อนแล้วและนำแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นออกขายแก่นางสาวรสนนท์ผู้ล่อซื้ออันจะถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) เมื่อนางสาวรสนนท์ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) เพื่อให้เจ้าพนักงานจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และมาตรา 123 ทั้งแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ ที่นางสาวรสนนท์ว่าจ้างจำเลยให้ทำขึ้นและวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์การบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลยที่นางสาวรสนนท์แอบถ่ายไว้เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบและเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 และมาตรา 226/1 การที่นางสาวรสนนท์ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะมิใช่การแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องโดยชอบ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำซ้ำงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาได้ กรณีไม่จำต้องพิจารณาพยานหลักฐานของจำเลยต่อไป อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
 
โดยคุณ มโนธรรม เจษฎาสาธุชน 2 ก.ย. 2565, 09:06

แสดงความเห็น