ประชดประชันลูกหนี้ทาง Facebook อาจทำให้หนี้สูญได้|ประชดประชันลูกหนี้ทาง Facebook อาจทำให้หนี้สูญได้

ประชดประชันลูกหนี้ทาง Facebook อาจทำให้หนี้สูญได้

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

ประชดประชันลูกหนี้ทาง Facebook อาจทำให้หนี้สูญได้

  • Defalut Image

ตามปกติการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653

บทความวันที่ 29 มี.ค. 2561, 11:56

มีผู้อ่านทั้งหมด 4864 ครั้ง


ประชดประชันลูกหนี้ทาง Facebook อาจทำให้หนี้สูญได้

    ตามปกติการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินและการใช้เงิน จึงจะฟ้องร้องต่อศาลได้ ปัจจุบันศาลฎีกาได้ตัดสินแล้วว่าใช้หลักฐานทางอิเล็คทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐานในการกู้ยืมได้ ดังนั้นหากเจ้าหนี้ท่านใดให้เพื่อนฝูงยืมเงินไป แล้วไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือเจ้าหนี้ยังมีทางออกโดยการพูดคุยสนทนาทาง Line หรือทาง Facebook หากนำข้อความมารวมกันแล้วฟังได้ว่ามีการกู้ยืมเงินและตกลงจะใช้คืน ก็ใช้เป็นหลักฐานฟ้องเป็นคดีแพ่งให้คืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายได้ นอกจากจะใช้เป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินได้แล้ว ยังใช้เป็นหลักฐานในการปลดหนี้ได้ด้วย หากขณะทวงหนี้เจ้าหนี้ไปพูดจาประชดประชันในทำนองว่ายกหนี้ให้ก็อาจจะทำให้หนี้สูญได้ ดังนั้นขณะทวงหนี้ต้องพูดจาระมัดระวังอาจจะซวยได้ ตามตัวอย่างของคำพิพากษาของศาลฎีกาข้างล่างนี้ 
คำพิพากษาฎีกาที่ 6757/2560 
    โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 595,000 บาท จำเลยตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ชำระภายในวันที่ 5 ของเดือน โดยจำเลยตกลงจะชำระเงินต้น 200,000 บาท  ต้นเงิน 100,000 บาท และต้นเงิน 295,000 บาท ให้แก่โจทก์ในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 วันที่ 31 พฤษภาคม 2557 และวันที่ 31 พฤษภาคม 2558 ของต้นเงินดังกล่าวตามลำดับ ปรากฎตามสำเนาสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 ภายหลังทำสัญญาจำเลยผิดนัด คงค้างชำระต้นเงิน 595,000 บาท  และดอกเบี้ย 136,850 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 731,850 บาท โจทก์ติดตามทวงถามจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ข้อให้บังคับจำเลยชำระเงิน  731,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 595,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
    จำเลยให้การว่า จำเลยเคยอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ เงินกู้ตามสัญญาเป็นเงินที่นำมาประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ในครอบครัวและโจทก์ยกหนี้ให้จำเลยแล้ว ต่อมาโจทก์จำเลยแยกทางกันและโจทก์นำหนี้ที่เคยยกให้มาฟ้อง เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง    
    ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
    โจทก์อุทธรณ์
    ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 595,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ  โดยให้หักดอกเบี้ย 6,550 บาท ออกจากดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
    จำเลยฎีกา
    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว  รายละเอียดปรากฎตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท  คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางเฟสบุ๊คตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 4 ถึงแผ่นที่ 6 มีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืนให้แล้ว  ยกให้หมดไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์ ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องนำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาใช้บังคับด้วย ตามมาตรา 7 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรา 8 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว ดังนั้น ข้อความดังกล่าวที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางเฟสบุ๊ค แม้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตามแต่การส่งข้อความของโจทก์ทางเฟสบุ๊คจะปรากฎชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ยอมรับว่าได้ส่งข้อความดังกล่าวทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ ที่โจทก์อ้างว่า  โจทก์ไม่มีเจตนาที่จะปลดหนี้ให้จำเลย แต่ทำไปเพราะความเครียดต้องการประชดประชันจำเลยนั้น โจทก์ไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อให้เจตนาที่แสดงออกไปนั้นตกเป็นโมฆะเพราะไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้รู้ถึงเจตนาซ่อนอยู่ภายในของโจทก์ พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยได้รับการปลดหนี้จากการกู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 แล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น” 
    พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
ทวงหนี้ทาง Line หรือ Facebook อย่าประชดประชันลูกหนี้นอกจากผิดกฎหมายทวงหนี้แล้ว อาจจะทำให้หนี้สูญได้
 

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก