คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจในบทบรรณาธิการ หนังสือรวมคำบรรยาย ภาคสอง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2560 เล่มที่  14|คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจในบทบรรณาธิการ หนังสือรวมคำบรรยาย ภาคสอง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2560 เล่มที่  14

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจในบทบรรณาธิการ หนังสือรวมคำบรรยาย ภาคสอง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2560 เล่มที่  14

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจในบทบรรณาธิการ หนังสือรวมคำบรรยาย ภาคสอง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2560 เล่มที่  14

  • Defalut Image

1. หนี้อันเกิดจากมูลละเมิด ดอกเบี้ยที่โจทก์ขอนับตั้งแต่วันที่ทำละเมิดจนถึงวันฟ้อง

บทความวันที่ 15 ส.ค. 2562, 10:04

มีผู้อ่านทั้งหมด 1947 ครั้ง


คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจในบทบรรณาธิการ หนังสือรวมคำบรรยาย ภาคสอง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2560 เล่มที่  14

1. หนี้อันเกิดจากมูลละเมิด ดอกเบี้ยที่โจทก์ขอนับตั้งแต่วันที่ทำละเมิดจนถึงวันฟ้อง ต้องคำนวณรวมเป็นจำนวนทุนทรัพย์ 
คำพิพากษาฎีกาที่ 14384/2556

    แม้คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ ก็ตามแต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องการพิจารณาคดีโดยขาดนัด ซึ่งเป็นคนละส่วนกับเรื่องการคำนวณทุนทรัพย์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 190 ว่า " จำนวนทุนทรัพย์หรือราคาพิพาทกันในคดีนั้น ให้คำนวนดังนี้ (1) จำนวนทุนทรัพย์หรือราคานั้นให้คำนวณตามคำเรียกร้องของโจทก์ ส่วนดอกผลอันมิถึงกำหนดเกิดขึ้นในเวลายื่นคำฟ้องหรือค่าธรรมเนียมศาลซึ่งอาจเป็นอุปกรณ์รวมอยู่ในคำเรียกร้อง ห้ามมิให้คำนวณรวมเข้าด้วย " คำเรียกร้องของโจทก์ หมายถึง คำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลย ส่วนดอกผลที่ห้ามไม่ให้นำมาคำนวณเข้าด้วยเป็นทุนทรัพย์นั้นก็คือดอกผลที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระในเวลายื่นฟ้อง
    คดีนี้โจทก์ฟ้องและมีคำขอท้ายคำฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 294,965 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 15 มีนาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยที่โจทก์ขอนับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้อง ( วันที่ 13 กรกฎาคม 2554)  เป็นดอกผลซึ่งถึงกำหนดเกิดขึ้นในเวลายื่นคำฟ้องแล้ว จึงไม่ต้องห้ามไม่ให้คำนวณรวมเป็นทุนทรัพย์ตามมาตรา 190 (1) เมื่อคำนวณดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 294,965 บาท นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2554 ถึงวันฟ้อง คิดเป็นดอกเบี้ย 7,237.10 บาท ดังนั้น เมื่อต้นเงิน 294,965 บาท บวกด้วยดอกเบี้ยดังกล่าวคิดถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงิน 302,238 บาท จำนวนทุนทรัพย์ตามคำเรียกร้องของโจทก์ในเวลายื่นคำฟ้องจึงเกินกว่า 300,000 บาท ศาลชั้นต้น (ศาลแขวง) ย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)

2. โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอให้โจทก์ชนะคดีฝ่ายเดียวโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้พิพากษานายเดียวมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีได้ 
คดีฟ้องเพิกถอนนิติกรรม หากสั่งจำหน่ายคดีถือว่าคู่ความที่ถูกสั่งจำหน่ายคดีพ้นจากการที่ต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา
คำพิพากษาฎีกาที่ 7330/2556

    คดีนี้มิใช่คดีมโนสาเร่และศาลมิได้สั่งให้ดำเนินคดีแบบไม่มีข้อยุ่งยาก การที่จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การในกำหนดโจทก์ทั้งสามจึงต้องยื่นคำขอต่อศาลให้มีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตามมาตรา 198 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสาม ไม่ยื่นคำขอดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และการสั่งจำหน่ายคดีเช่นนี้เป็นอำนาจของผู้พิพากษานายเดียวตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) เมื่อคู่ความมิได้อุทธรณ์ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีจึงเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง คดีระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 จึงเป็นอันเสร็จสิ้น ไม่ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นคู่ความอีกและไม่มีสิทธิยื่นคำให้การ 
     การฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 รับโอนมาจากโจทก์ที่ 1 โดยไม่ชอบก็ดี การที่จำเลยที่ 2 โอนขายให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ก็ดี โจทก์ทั้งสาม ต้องฟ้องจำเลยที่ 2เข้ามาในคดีด้วย จึงจะบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสามได้ แม้คดีนี้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องจำเลยที่ 2 แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความไปแล้ว มีผลทำให้จำเลยที่ 2 พ้นจากการที่ต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา กรณีจึงไม่อาจพิจารณาพิพากษาไปตามคำขอของโจทก์ทั้งสามได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดี

3.คดีกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท หากกฎหมายที่มีโทษหนักสุดมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท เกินอำนาจของศาลแขวงที่จะรับฟ้อง 
คดีที่ศาลจังหวัด มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท การพิจารณาพิพากษาต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา
คำพิพากษาฎีกาที่ 22056/2555

    ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) บัญญัติให้ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 326, 328 โดยบรรยายฟ้องรวมกันมา จึงเป็นกรณีที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 ด้วยก็ตาม แต่หากพิจารณาได้ความตามฟ้อง ศาลต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 328 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ.มาตรา 90 เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท กรณีจึงเกินอำนาจศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ที่โจทก์ฎีกาว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 เห็นได้ว่าศาลสามารถที่จะลงโทษจำเลยในบทมาตราที่ถูกต้องได้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. แล้ว หากศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์สืบสมแต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ซึ่งตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองรวมการกระทำความผิดหลายอย่าง และแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ เห็นได้ว่าศาลชั้นต้นพิจารณารับฟ้องโดยชอบมาแต่ต้นแล้วนั้น เห็นว่า ข้อกฎหมายที่โจทก์ทั้งสองยกขึ้นฎีกาเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องซึ่งเป็นคนละกรณีกับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น และการจะนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับนั้น ศาลชั้นต้นต้องมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้เสียก่อน เมื่อศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้วจึงไม่สามารถนำบทบัญญัติดังกล่าวมากล่าวอ้างได้ว่า

คำพิพากษาฎีกาที่ 7651/2552
    โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 326, 328 ซึ่งตามมาตรา 328 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) มาด้วยก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเพียงกรรมเดียวต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัด องค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนตามมาตรา 26 ดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้แล้วพิพากษายกฟ้องโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีจึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) และมาตรา 26 และเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาฎีกาที่ 5255/2559 
    โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยการปิดประกาศในสถานที่สาธารณะและในอินเตอร์เน็ต  ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 90,91,326,328 ซึ่งตามมาตรา 628 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ผู้พิพากษานายเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25(5) มาด้วยก็ตาม แต่ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 ที่โจทก์ฟ้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัด องค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตามมาตรา 26 ดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาคดีลงโทษจำเลยโดยผู้พิพากษานายเดียวเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(5) และมาตรา 26 อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี โดยต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.ว.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ที่มา : หนังสือรวมคำบรรยาย ภาคสอง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2560 เล่มที่  14

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก