การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ|การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ

การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ

การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

บทความวันที่ 30 ต.ค. 2555, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 12151 ครั้ง


การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ


         การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ  ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม/ตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม/ทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6255/2546
          โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าโจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยประสงค์จะทำสัญญาซื้อขายต่อไป แต่จำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ให้ทำสัญญาจำนอง โจทก์ไม่ได้รับเงินตามสัญญาจำนองและไม่มีเจตนาทำนิติกรรมจำนอง ขอให้เพิกถอนสัญญาจำนอง จำเลยทั้งสองให้การว่าสัญญาจำนองกระทำโดยชอบและสุจริต ไม่มีเหตุเพิกถอนตามคำคู่ความดังกล่าว จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าการทำสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ ทั้งปัญหาว่าสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ มิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกปัญหาว่าสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพรางขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
           ปัญหาว่าศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ยกขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ก็สามารถยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
          ตามคำคู่ความมีประเด็นเพียงว่า โจทก์มีเจตนาทำนิติกรรมจำนองเพื่อประกันเงินกู้และโจทก์ได้รับเงินตามสัญญากู้หรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าสัญญาจำนองที่ดินเป็นโมฆียะเพราะโจทก์กระทำโดยถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้กลฉ้อฉลหรือไม่นั้น จึงไม่ถูกต้อง ซึ่งปัญหาตามประเด็นที่ถูกต้องศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัย แต่เนื่องจากคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน
          โจทก์ประสงค์ทำนิติกรรมจะขายที่ดินโดยไม่มีเจตนาทำนิติกรรมจำนองที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น การทำสัญญาจำนองของโจทก์จึงเป็นการกระทำไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม สัญญาจำนองจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง
2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 965/2530
          จำเลยพาโจทก์ซึ่งเป็นมารดาและผู้จัดการมรดกบิดาไปสำนักงานที่ดินแล้วจัดการให้โจทก์ทำนิติกรรมรับโอนที่ดินและบ้านมรดก แล้วจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลย โดยอาศัยความไม่รู้หนังสือและระเบียบการของทางราชการ และความสุงอายุของโจทก์โจทก์มิได้มีเจตนากระทำเช่นนั้น นิติกรรมดังกล่าวจึงเกิดจากความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119
          นิติกรรมที่เป็นโมฆะถือเสมือนไม่มีการทำนิติกรรม ไม่จำต้องเพิกถอนศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รายพิพาทจึงมีความหมายเพียงบังคับให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้น
3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 828/2508
          การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นโจทก์จะฟ้องคดีส่วนแพ่งก่อนก็ได้ และถ้าในระหว่างที่คดีส่วนแพ่งยังไม่ถึงที่สุดโจทก์ฟ้องคดีส่วนอาญาในมูลกรณีเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องในคดีส่วนแพ่งนั้นเอง เช่นนี้ หาใช่เป็นเรื่องคดีแพ่งเกิดก่อนคดีอาญาไม่และการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
          จำเลยทำใบมอบอำนาจปลอมให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเซ็นโดยหลอกลวงว่าเพื่อมอบอำนาจให้จำเลยเช่านาแต่ความจริงเป็นใบมอบอำนาจให้โจทก์ขายนาให้จำเลยโดยโจทก์มิได้ยินยอมด้วย ดังนี้ เป็นการที่โจทก์ทำนิติกรรมมอบอำนาจไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสารสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะใบมอบอำนาจจึงใช้ไม่ได้
4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7394 - 7395/2550
          การที่โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าได้โอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรโจทก์ตามข้อตกลงแล้วนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉล ซึ่งหากโจทก์ทราบความจริงว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็คงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175 (3) เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม หรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว
          การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังโดยมีสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับสำนวนแรก ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาก็เป็นอย่างเดียวกัน เพียงแต่มีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพิ่มเติมจากสำนวนแรกเท่านั้น ซึ่งคำขอบังคับดังกล่าวโจทก์อาจขอได้ในสำนวนแรกอยู่แล้วจึงเป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีสำนวนหลังขณะคดีสำนวนแรกอยู่ระหว่างการพิจารณา ฟ้องโจทก์ในสำนวนหลังจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6103/2545
          โจทก์ตกลงขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในราคาที่ดินเพราะถูกนายหน้าหลอกลวงซึ่งจำเลยที่ 1 รู้หรือควรจะได้รู้ถึงการหลอกลวงดังกล่าว การที่โจทก์สำคัญผิดในเรื่องราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกัน แม้มิใช่สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม แต่ราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันย่อมมีความสำคัญมากพอกับตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม จึงถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156
          เมื่อนิติกรรมซื้อขายที่ดินเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมและเกิดจากกลฉ้อฉลในขณะเดียวกัน แต่ผลทางกฎหมายต่างกันกล่าวคือ นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 156 แต่นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 159 จึงต้องถือว่านิติกรรมเป็นโมฆะ เพราะเป็นผลดีต่อผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยบกพร่องยิ่งกว่าเป็นโมฆียะ
6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 751/2543
           จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเพราะสำคัญผิดในราคาที่ดินพิพาทที่ตกลงซื้อขายกัน ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง
          เมื่อจำเลยอ้างว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทไม่สมบูรณ์ เพราะจำเลยสำคัญผิดในราคาที่ดินซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จำเลยจึงมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทไม่สมบูรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง หาใช่เป็นการสืบพยานบุคคลแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในเอกสารไม่
7.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2543
          การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมย่อมมีผลทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 156 สัญญาประกันภัยรถยนต์ย่อมถือเอาตัวรถยนต์เป็นสาระสำคัญตามกรมธรรม์ซึ่งจำเลยผู้รับประกันภัยออกให้แก่โจทก์ ระบุรายการรถยนต์ที่เอาประกันภัยตรงกับรายการจดทะเบียนรถยนต์ของโจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งว่าโจทก์มีรถยนต์คันอื่นอีก หมายเลขทะเบียนรถยนต์ หมายเลขเครื่องยนต์ และหมายเลขตัวถังเป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ที่เอาประกันภัย เมื่อโจทก์ขอแก้หมายเลขทะเบียน หมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังของรถยนต์ที่เอาประกันภัยให้ถูกต้อง แม้ขอแก้ไขภายหลังเกิดอุบัติเหตุแล้ว จำเลยก็แก้ไขให้ทุกรายการ การทำสัญญารับประกันภัยของจำเลยจึงมิใช่เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญในตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมไม่ตกเป็นโมฆะ
8.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 957/2540
          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 วรรคสอง ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมอันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะ จะต้องเป็นความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม การที่ผู้ร้องอ้างว่าไม่เข้าใจถึงสาระสำคัญของการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยติดจำนองจึงมิใช่ความสำคัญผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว เพราะการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยติดจำนองหรือไม่ เป็นรายละเอียดในการขายทอดตลาดซึ่งผู้ร้องทราบอยู่แล้ว ตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี นิติกรรมการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของผู้ร้อง จึงไม่เป็นโมฆะ
9.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7196/2540
           การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมอันจะมีผลให้นิติกรรมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 นั้น จะต้องเป็นการสำคัญผิดในทรัพย์สินที่จะต้องส่งมอบแก่กันตามสัญญาซื้อขาย โดยการทำสัญญาซื้อขายนั้นถือเอาตัวทรัพย์เป็นสาระสำคัญ ฟังได้ว่าโจทก์ขายเครื่องทำน้ำแข็งถ้วยและเครื่องกรองน้ำให้แก่จำเลย ในการส่งมอบและการติดตั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทักท้วงถึงยี่ห้อของสินค้าว่ามิใช่ยี่ห้อนิวตั้น แต่กลับปรากฏว่าในระยะ 3 ถึง 4 เดือน ภายหลังติดตั้งเครื่องดังกล่าวใช้การได้ดี และเมื่อเครื่องทำงานขัดข้องโจทก์ก็จัดการซ่อมแซมให้พร้อมกับรับชำระค่าสินค้าเป็นประจำทุกเดือน จำเลยได้ชำระค่าสินค้าไปจนถึงงวดที่ 9หลังจากนั้นจำเลยติดต่อ ส. ไปซ่อมเครื่องทำน้ำแข็งถ้วยและเครื่องกรองน้ำถึง 3 ครั้งพฤติการณ์ที่จำเลยรับมอบเครื่องทำน้ำแข็งถ้วยและเครื่องกรองน้ำโดยมิได้โต้แย้งเกี่ยวกับยี่ห้อของสินค้าทั้งได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ตลอดมา รวมทั้งได้ชำระค่าสินค้าจนถึงงวดที่ 9 จนกระทั่งโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยจึงอ้างว่าเครื่องทำน้ำแข็งถ้วยและเครื่องกรองน้ำที่โจทก์ส่งมอบไม่ใช่ยี่ห้อนิวตั้นตามที่จำเลยตกลงซื้อ ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยตกลงซื้อเครื่องทำน้ำแข็งถ้วยและเครื่องกรองน้ำโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะไม่

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก