การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่|การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่

การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่

การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ การข่มขู่ที่จะทำให้ตกเป็นโมฆียะ

บทความวันที่ 26 ต.ค. 2555, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 13279 ครั้ง


การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่


          การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ  การข่มขู่ที่จะทำให้ตกเป็นโมฆียะ จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะทำให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2551
          จำเลยและ พ. กับพี่น้องตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร้านค้าร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์แบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน จึงเข้าลักษณะสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 การที่ พ. สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์และจำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าและทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์เป็นการดำเนินการในฐานะหุ้นส่วนอันเป็นไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนจะต้องรับผิดร่วมกับหุ้นส่วนคนอื่นๆ โดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้นตามมาตรา 1050
         จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 ยอมรับว่ามียอดหนี้ค้างชำระสำหรับการสั่งซื้อสินค้าระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม 2542 เป็นการรับสภาพหนี้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่สั่งซื้อสินค้าในแต่ละครั้งเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15
         โจทก์เข้าไปในร้านแล้วเอาเท้าวางไว้บนโต๊ะพูดจากับลูกค้าภายในร้านของจำเลยว่าสินค้าในร้านไม่มีคุณภาพ และบอกร้านค้าใกล้เคียงว่าจำเลยเป็นหนี้แล้วไม่ชำระ เป็นเพียงการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ด้วยพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น มิได้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการข่มขู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2225/2540
         ก่อนโจทก์จำเลยทำสัญญากันได้มีการโต้เถียงกัน แล้วโจทก์เดินขึ้นไปบนบ้านของโจทก์ เมื่อโจทก์กลับลงมากระเป๋ากางเกงของโจทก์มีสิ่งของซึ่งไม่ทราบว่าเป็นอะไรตุงอยู่เท่านั้น โดยโจทก์ไม่ได้กระทำการอย่างใดอันเป็นการข่มขู่ให้จำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขาย ยิ่งกว่านั้นในวันที่กำหนดจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ จำเลยไปรอโจทก์ที่สำนักงานที่ดินตามนัด แต่ไม่พบโจทก์เพราะเป็นวันหยุดราชการ เช่นนี้ฟังได้ว่าจำเลยมิได้ถูกโจทก์ข่มขู่ให้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายสัญญาดังกล่าวจึงสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆียะ สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท ข้อ 2 ระบุว่า "ในการจะซื้อขายนี้ผู้จะซื้อได้วางมัดจำให้ผู้จะขายไว้แล้วเป็นเงิน 389,000 บาทผู้จะขายได้รับเงินมัดจำไว้ถูกต้องแล้ว" จำเลยจึงไม่อาจนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขจำนวนดังกล่าวและจำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายไม่ได้รับเงินมัดจำนั้น เพราะเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข)ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าโจทก์ผู้จะซื้อได้วางมัดจำเงินจำนวน389,000 บาท และจำเลยผู้จะขายได้รับเงินมัดจำนั้นไว้แล้ว แม้วันที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นวันเสาร์ อันเป็นวันหยุดราชการ ไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันได้ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีที่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8ที่บัญญัติให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ในกรณีที่วันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยต้องไปโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการอีกด้วย ดังนั้นการที่จำเลยไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ต่อไปเมื่อต่อมาจำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาดังกล่าวไปยังโจทก์ซึ่งแสดงว่าจำเลยไม่ยอมโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2285/2533
         โจทก์พาจำเลยที่ 1 ไปเจรจาในห้องของร้อยเวร โจทก์บอกว่าจำเลยที่ 2 ยืมเงินโจทก์ 40,000 บาท และลักเครื่องวีดีโอ ของโจทก์รวมแล้วเป็นหนี้โจทก์ 70,000 บาท ขอให้ผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาทและให้จำเลยที่ 1 ไปปรึกษากับจำเลยที่ 2 ที่ถูกขังอยู่ในห้องขังจำเลยที่ 1 จึงถามจำเลยที่ 2 ว่าจะผ่อนชำระหรือไม่ จำเลยที่ 2ตอบว่า แล้วแต่ โจทก์และจำเลยทั้งสองจึงได้ลงลายมือชื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า จำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่70,000 บาท ยอมผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาท และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกัน ดังนี้พฤติการณ์ดังกล่าวยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองถูกข่มขู่ให้ลงชื่อ การที่โจทก์กล่าวกับจำเลยทั้งสองว่า หากจำเลยไม่ยอมลงชื่อในบันทึกข้อตกลง โจทก์จะดำเนินคดีอาญาจำเลยที่ 2เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมตาม ป.พ.พ. มาตรา 127 ไม่เป็นการข่มขู่ตามกฎหมายที่จะทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกเป็นโมฆียะ ส่วนการที่โจทก์กล่าวอ้างกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรีว่า ได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวาว่า จำเลยที่ 2 ลักเครื่องวีดีโอ เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัวจำเลยที่ 2 และนำตัวจำเลย ที่ 2 ไปที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวาเพื่อเจรจาตกลงดังกล่าวเป็นกรณีโจทก์ใช้อุบายพาจำเลยที่ 2 ไปไป สถานีตำรวจนครบาลยานนาวาไม่เป็นการข่มขู่ให้จำเลยทั้งสองยอมตกลงกับโจทก์.

4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5740/2550
          ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ช. เป็นผู้ดำเนินคดีแทน เท่ากับวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จะฎีกาโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยอ้างเหตุใหม่ว่าสัญญากู้ตามที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจไม่ตรงกับสัญญากู้ที่โจทก์นำสืบโดยไม่ได้ให้การในข้อนี้ไว้หาได้ไม่ เนื่องจากเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในชั้นอุทธรณ์และไม่ใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
          ขณะทำสัญญากู้จำเลยที่ 1 ถูกจับกุมในข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจ ตามที่ ส. ร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว ย่อมเป็นการควบคุมตัวของเจ้าพนักงานโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ทนายโจทก์กับ ส. แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า หากไม่ทำสัญญากู้กับโจทก์ก็จะดำเนินคดีอาญาในข้อหาออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คต่อไปนั้น เป็นการขู่ว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมายแก่จำเลยที่ 1 อันเป็นสิทธิที่ ส. ผู้ทรงเช็คสามารถกระทำได้ ทั้งหากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดก็มีสิทธิที่จะต่อสู้คดีไม่จำต้องกลัว และยังได้ความจากข้อนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ ส. ตามเช็ค จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถูกข่มขู่ให้ทำสัญญากู้ อันจะทำให้สัญญากู้เป็นโมฆียะ
          โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่า โจทก์ได้ชำระเงินตามสัญญากู้ให้แก่ ส. แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระเงินตามสัญญากู้ให้แก่ ส. เป็นการชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามสัญญากู้แล้ว สัญญากู้ดังกล่าวจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์

5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2523
           ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพราะเกรงว่าจะถูกฟ้องเสียชื่อเสียงขาดความไว้วางใจ เป็นการเนื่องมาจากการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมตามปกติ ไม่เป็นโมฆียะ

6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5588/2540
           โจทก์มิได้สมัครใจซื้อรถบรรทุก 10 ล้อ คันเกิดเหตุจากจำเลย จำเลยมิได้เจ้าของรถคันดังกล่าวแล้วแต่กลับกล่าวหาว่าโจทก์ถอดเอาอุปกรณ์ของรถคันดังกล่าวไปขายอันเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ แล้วบังคับให้โจทก์ซื้อรถคันดังกล่าวในราคา55,000 บาท หากไม่ซื้อก็จะดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหายักยอกทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการข่มขู่โจทก์จนโจทก์ จำต้องยอมลงลายมือชื่อในบันทึกการชำระหนี้พิพาท และยอมมอบเช็คจำนวนเงิน 55,000 บาท ให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลย ดังกล่าวมาถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม แต่ถือได้ว่าเป็นภัยถึงขนาดที่จะจูงใจให้โจทก์มีมูล ต้องกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่เสรีภาพของโจทก์ เป็นภัย อันใกล้จะถึงและร้ายแรงเท่ากับที่จะพึงกลัวต่อการอันถูกจำเลย ข่มขู่เอานั้น บันทึกการชำระหนี้ดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ได้บอกล้างแล้ว บันทึกการชำระหนี้ดังกล่าว จึงเป็นโมฆะเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้นโจทก์ไม่จำต้องรับผิด ตามบันทึกการชำระหนี้ดังกล่าวนั้น

 

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก