การตีความแสดงเจตนา|การตีความแสดงเจตนา

การตีความแสดงเจตนา

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

การตีความแสดงเจตนา

การตีความการแสดงเจตนา หมายถึง กรณีนิติกรรมที่ทำกันไว้มีข้อความไม่ชัดแจ้ง

บทความวันที่ 24 ต.ค. 2555, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 3253 ครั้ง


การตีความแสดงเจตนา

        การตีความการแสดงเจตนา หมายถึง กรณีนิติกรรมที่ทำกันไว้มีข้อความไม่ชัดแจ้ง หรือมีข้อความขัดแย้งกัน หรืออาจแปลความหมายได้เป็นหลายนัย แต่ถ้าข้อความในสัญญาชัดเจนแล้ว ย่อมไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องตีความการแสดงเจตนาของคู่สัญญาอีก

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10421/2551
    ตารางกรมธรรม์และรายการคุ้มครองระบุว่า พ. เป็นผู้เอาประกันภัยและบริษัท ม. เป็นผู้รับประโยชน์ วัตถุประสงค์แห่งสัญญาประกันภัยย่อมมุ่งประสงค์ไปที่การประกันภัยรถยนต์คันที่ พ. เป็นผู้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่เช่าซื้อเป็นสำคัญยิ่งกว่าวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยที่พิมพ์เป็นตัวอักษร แม้สัญญาเช่าซื้อช่วงจะระบุวันเริ่มต้นของสัญญาหลังวันเริ่มต้นของสัญญาประกันภัย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 จึงถือได้ว่า พ. ผู้เอาประกันภัยเป็นเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์แล้ว
    รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยถูกโจรกรรมไปจากลานจอดรถของจำเลย โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท ม. ไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวมาเรียกร้องเอาจากจำเลยเท่านั้น ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยส่งคืนรถยนต์แก่โจทก์ได้

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2551
    แม้หนังสือมอบอำนาจของจำเลยจะระบุข้อความให้ ผ. ลงนามในสัญญาจ้างมิใช่สัญญาเช่าก็ตาม แต่ก็มีข้อความต่อไปว่าเพื่อการอนุญาตเช่าที่ดินของการรถไฟ ฯ เพื่อตั้งสำนักงานหน่วยงานที่พักระหว่างสถานีธนบุรี - ตลิ่งชัน เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดประกอบแล้ว ย่อมเห็นเจตนาอันแท้จริงของจำเลยได้ว่าจำเลยประสงค์มอบอำนาจให้ ผ. ไปลงนามในสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์
    การที่ ธ. พนักงานของโจทก์ลงนามในสัญญาเช่าโดยมิได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ แม้จะถือไม่ได้ว่าทำในฐานะผู้แทนโจทก์ แต่โจทก์ได้รับเอาผลแห่งนิติกรรมนั้นโดยได้ฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้ ย่อมถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 วรรคหนึ่ง
    แม้โจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมล่วงพ้นระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสอง แต่มาตรา 87 (2) ได้บัญญัติว่า แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้เมื่อ ว. และเอกสารหมาย จ.9 เป็นพยานสำคัญในคดี ทั้งจำเลยได้มีโอกาสถามค้านและนำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ไม่ทำให้จำเลยต้องเสียเปรียบในเชิงคดีแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ ซึ่งเป็นกรณีที่ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการที่จะให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นสำคัญในคดีเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานสำคัญนั้น ศาลจึงมีอำนาจรับฟังคำเบิกความของ ว. และเอกสารหมาย จ.9 เป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้
    เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว จำเลยยังคงอยู่ในที่เช่าต่อไป โดยโจทก์รู้แล้วไม่ทักท้วง ถือว่าโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาเช่าใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 ซึ่งข้อตกลงอื่นตามสัญญาใหม่ย่อมต้องเป็นไปตามสัญญาเดิม
    จำเลยได้ออกจากพื้นที่เช่าเดือนมิถุนายน 2541 แล้ว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่เช่าตั้งแต่วันที่เท่าใด คงได้ความจากหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์ว่า โจทก์กำหนดให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่เช่าภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2541 จึงต้องฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นว่า จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่เช่าตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2541

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6886/2542
           วัตถุประสงค์แห่งสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมมุ่งประสงค์ไปที่การประกันภัยรถยนต์คันที่โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่เช่าซื้อเป็นสำคัญยิ่งกว่าวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยที่พิมพ์เป็นตัวอักษรไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุวันเริ่มต้นแห่งสัญญาหลังวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยเป็นเวลา 9 วันก็เป็นช่วงเวลาที่เหลื่อมกันเพียงเล็กน้อย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 กรณีนี้จึงต้องตีความว่าสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กระทำขึ้น ณ วันแรกที่โจทก์ มี ฐานะเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันที่โจทก์เอาประกันภัยไว้แก่จำเลย ซึ่งการตีความเช่นนี้ยังสอดคล้องกับหลักการตีความสัญญาในกรณีที่มีข้อสงสัย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายที่จะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นด้วยกรณีถือได้ว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยแล้ว สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงผูกพันคู่ความทั้งสองฝ่าย เมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัท ย. ผู้ให้เช่าซื้อได้แสดงเจตนาเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว โจทก์ผู้เอาประกันภัยจึงยังคงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจากจำเลยผู้รับประกันภัยเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้นตามสัญญา โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัยจะระบุให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยได้โอนรถยนต์ให้บุคคลอื่น แต่การที่โจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้ พ. ภริยาโจทก์ไปเพราะต้องการบัตรติดรถยนต์สำหรับใช้ทางลัดผ่านเข้าออกกองทัพอากาศเท่านั้น แต่หลังจากที่โอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวไป โจทก์ก็ยังคงเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันที่เอาประกันภัยและเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา ดังนี้ เห็นได้ว่าโจทก์กับ พ. ภริยาโจทก์มิได้มีเจตนาโอนสิทธิการเช่าซื้อกันจริง การโอนเป็นเพียงเจตนาลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งบัตรติดรถยนต์สำหรับใช้ทางลัดผ่านเข้าออกกองทัพอากาศได้เท่านั้น สัญญาโอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่ต้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังคงมีฐานะ เป็นผู้เช่าซื้อที่แท้จริงตลอดมาและยังคงมีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นอยู่เช่นเดิม และแม้หากจะฟังว่าโจทก์ได้โอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวไป แต่การโอนสิทธิการเช่าซื้อก็ไม่ใช่การโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อให้บุคคลอื่นตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว กรมธรรม์ประกันภัยนั้นจึงยังไม่สิ้นผลบังคับไป

 

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก