การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมคิดกับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ|การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมคิดกับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ

การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมคิดกับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมคิดกับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ

ในเรื่องของการแสดงเจตนาโดยสมรู้ร่วมกันระหว่างคู่กรณี การ แสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะ

บทความวันที่ 8 ก.ค. 2555, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 15158 ครั้ง


การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมคิดกับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ


          ในเรื่องของการแสดงเจตนาโดยสมรู้ร่วมกันระหว่างคู่กรณี  การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะ  ในเรื่องของผลของนิติกรรม  จะต้องแยกเป็น 2 ประการ ได้แก่
1. ผลที่เกิดระหว่างคู่กรณี
2. ผลที่เกิดกับบุคคลภายนอก

ผลที่เกิดระหว่างคู่กรณีที่ทำนิติกรรมนั้น
1. คำพิพากษาฎีกาที่ 863-664/2496
          โจทก์เป็นชายหนุ่มอยู่กินกับจำเลยซึ่งเป็นหญิงหม้าย อายุแก่กว่าประมาณ 10 ปี โจทก์แนะนำจำเลยว่า ให้ทำสัญญาขายที่ดินของจำเลยให้โจทก์ โดยทำสัญญาซื้อขายหลอก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกของหญิงหม้ายกับสามีเดิมมาเอาที่ดินนั้นไป  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายที่ดินที่โจทก์กับจำเลยทำนั้นเกิดจากเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ

2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2497
          จำเลยทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์  จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์  จำเลยกลัวว่าโจทก์ชนะคดีแล้วจะยึดที่ดินของจำเลยไปใช้ค่าเสียหาย  จึงไปสมรู้กับน้องชายจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินของตนหลอก ๆ ให้น้องชาย  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยกับน้องชาย เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีเป็นโมฆะ

3. คำพิพากษาฎีกาที่ 1016/2513
          จำเลยทำหนังสือจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้ ส. โดยมิได้ตั้งใจยกให้โดยเสน่หา แต่กระทำไปเพื่อ ส. จะได้นำไปจำนองไว้กับสหกรณ์แล้วเอาเงินมาให้จำเลยใช้สอย นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ เป็นผลให้ที่ดินพิพาทไม่เคยตกทอดเป็นของ ส. แต่ยังคงเป็นของจำเลยตลอดมาฉะนั้นเมื่อ ส. ตายไปเสียก่อนที่จะนำที่ดินพิพาทไปจำนองสหกรณ์ที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่มรดก ส. ทายาท ส. ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งได้

4. คำพิพากษาฎีกาที่ 2898/2525
           โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่า แต่ยังคงอยู่ร่วมเรือนเดียวกันและร่วมกันสร้างเรือนพิพาทอยู่ด้วยกันอีก 1 หลัง ปรับปรุงที่พิพาททำเป็นนาขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกต้นผลอาสินเยี่ยงสามีภรรยา ต่างฝ่ายไม่มีคู่ครองใหม่พฤติการณ์ดังนี้แสดงว่าการจดทะเบียนหย่าก็โดยเจตนาไม่ประสงค์จะให้มีผลผูกพันกัน จึงใช้บังคับกันไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 ทั้งคู่ยังคงเป็นสามีภรรยากันตลอดมา โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและเรือนพิพาทไม่ได้

5. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2059/2525
           จำเลยทำสัญญากู้ให้โจทก์ก็เพื่อเอาใจโจทก์ เพราะขณะนั้นจำเลยถูกฟ้องคดีอาญา ต้องการจะเอาบุตรซึ่งเกิดจากสามีของโจทก์คนก่อนมาเป็นพยานให้จำเลยในคดีที่ถูกฟ้อง และเกรงว่าโจทก์จะร้องเรียนผู้บังคับบัญชาทางวินัย เพราะจำเลยมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนที่จะได้โจทก์เป็นภรรยา ส่วนทางโจทก์ก็ประสงค์จะใช้สัญญากู้เป็นข้อต่อรองให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับภรรยาคนเดิมแล้วจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ โดยมิได้มีการรับเงินกันตามสัญญากู้จริงดังนี้ สัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาทำขึ้นโดย เจตนาลวงไม่ประสงค์จะผูกพันกัน จึงใช้บังคับไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118

6. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 379/2536
          การโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กระทำโดยเจตนาลวงเพื่อให้จำเลยทั้งสองนำที่ดินพิพาทไปจำนองธนาคารเท่านั้นไม่มีความประสงค์ให้ผูกพันกัน จึงใช้บังคับระหว่างกันไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 เดิม (มาตรา 155ที่แก้ไขใหม่) ที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์

7. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2547
           จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยได้มีการส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองเข้าซ่อมแซมครอบครองตลอดมา อันเป็นการชำระหนี้บางส่วน ข้อตกลงจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทจึงมีผลผูกพันบังคับต่อกันได้แล้ว
          จำเลยทั้งสองสมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แท้จริง การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 ก็ได้ โจทก์ทั้งสองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อใดก็ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองมิใช่การฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240


ผลของการแสดงเจตนาลวงต่อบุคคลภายนอก
1. คำพิพากษาฎีกาที่ 2269/2529
          ผู้ร้องอ้างว่าได้ทำนิติกรรมยกทรัพย์พิพาทของตนให้แก่จำเลยที่ 1 โดยตกลงกับจำเลยที่ 1 ว่าไม่มีเจตนายกให้จริง  นิติกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา 118 วรรคแรก(เดิม) จำเลยที่ 1 นำทรัพย์ที่ได้จากการยกให้จากผู้ร้องไปขายต่อให้จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่3 ไม่รู้เรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้อง ต่อมาจำเลยที่ 3 เอาทรัพย์ไปจำนองกับโจทก์ การยกทรัพย์ให้เป็นโมฆะ เพราะไม่ได้ยกให้จริง แต่จะยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ที่รับโอนทรัพย์ไปจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ซึ่งรับจำนองทรัพย์ต่อจากจำเลยที่ 3 ไม่ได้ เพราะทั้งจำเลยที่ 3 และโจทก์ต่างเป็นบุคคลภายนอก ผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1704 - 1705/2515
           จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินของโจทก์เพื่อนำไปจำนองเป็นประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้จากธนาคาร โจทก์จึงแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ส่วนหนึ่งแล้วใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโดยตกลงกันว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ธนาคารหมดแล้วจะคืนที่ดินให้โจทก์เป็นการแสดงเจตนาลวง ที่ดินยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่จำเลยตกอยู่ในความผูกพันที่จะต้องโอนที่ดินคืนให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเอาที่ดินไปขายให้ผู้อื่น
           จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดย ทราบถึงการแสดงเจตนาลวงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1156/2545
            ขณะที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับขายฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่านิติกรรมการให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเจตนาลวง จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น โจทก์จึงไม่อาจยกข้อต่อสู้เรื่องการแสดงเจตนาลวงดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากได้ เมื่อการขายฝากมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอน จำเลยที่ 2 โอนให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ขายต่อให้จำเลยที่ 4 นิติกรรมการให้และการซื้อขายก็ไม่อาจเพิกถอนเช่นเดียวกัน

4. คำพิพากษาฎีกาที่ 324/2480
          ลูกหนี้ตามคำพิพากษาโอนทรัพย์ให้บุคคลภายนอกระหว่างเป็นความโดยไม่มีเจตนาจะโอนกันจริง  แต่ทำไปเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามายึดทรัพย์ของตน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นการที่คู่กรณีแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กัน การโอนทรัพย์ตกเป็นโมฆะตามาตรา 118 (เดิม) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิยึดทรัพย์โดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนตามมาตรา 237

5. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 648/2513
           จำเลยสมยอมกันทำสัญญากู้และสมยอมกันทำยอมความในศาลเป็นผลให้เกิดการโอนทรัพย์สินของจำเลยคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งให้พ้นจากการถูกบังคับชำระหนี้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับเอาทรัพย์สินของจำเลยมาชำระหนี้ได้ เป็นการจงใจทำโดยผิดกฎหมายอันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โจทก์ย่อมเสียหายทางทรัพย์สินแล้ว การกระทำผิดกฎหมายดังนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้ผิดคือได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์
            คำพิพากษาที่พิพากษาตามที่จำเลยยอมความกันนั้น เป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสองย่อมไม่ผูกพันโจทก์ การทำการสมยอมกัน นิติกรรมระหว่างจำเลยย่อมเป็นโมฆะ โจทก์ไม่จำเป็นต้องฟ้องขอให้เพิกถอน
           (ข้อแรกประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3/2512 และ 5/2512)

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1

ดีเยี่ยมครับ

โดยคุณ เจษฎา 29 ต.ค. 2557, 16:43

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก