สัญญาค้ำประกันลูกจ้างเข้าทำงาน |สัญญาค้ำประกันลูกจ้างเข้าทำงาน

สัญญาค้ำประกันลูกจ้างเข้าทำงาน

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

สัญญาค้ำประกันลูกจ้างเข้าทำงาน

ถ้าเป็นผู้ค้ำประกันลูกจ้างเข้าทำงาน ต้องรับผิดชอบแค่ไหน

บทความวันที่ 27 มิ.ย. 2555, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 12509 ครั้ง


สัญญาค้ำประกันลูกจ้างเข้าทำงาน

คำถาม

          ถ้าเป็นผู้ค้ำประกันลูกจ้างเข้าทำงาน  ต้องรับผิดชอบแค่ไหน

คำตอบ
           - ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5720/2533
           จำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นพนักงานของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันซึ่งมีข้อความว่า "เมื่อจำเลยที่ 1 ได้เข้าทำงานในธนาคารแล้ว ภายหลังได้หลบหลีกหนีหายไป หรือได้ฉ้อโกง ยักยอก หรือทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย หรือสูญเสียทรัพย์สินไม่ว่าด้วยประการใด ๆจำเลยที่ 2 ตกลงชดใช้เงินให้แก่ธนาคาร" ตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวนี้ย่อมหมายถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับอันเกิดจากการทำงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่ดูแลความสงบและความปลอดภัยภายในธนาคาร ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงให้ลูกค้าของโจทก์ลงชื่อในใบถอนเงินและเป็นผู้ถอนเงินไป ก็เป็นการกระทำส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เอง ไม่ใช่การกระทำในตำแหน่งหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1483/2527
           จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการเข้าทำงานของจำเลยที่ 1 ใน หน้าที่พนักงานขับรถยนต์ของโจทก์ เฉพาะกรณีจำเลยที่ 1ปฏิบัติหน้าที่ราชการบกพร่องเป็นเหตุให้รถยนต์หรือทรัพย์สินของโจทก์ชำรุดเสียหาย หรือในกรณีที่โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อบุคคลอื่นอันหมายถึงความเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถโดยเฉพาะ การที่จำเลยที่ 1 นำใบสำคัญเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นเอกสารปลอมไปขอเบิกจ่ายรับเงินจากโจทก์ แม้เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ก็เป็นความเสียหายเกิดจากการฉ้อโกงนอกเหนือจากที่ระบุในสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2393/2527
           โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ทำงานในหน้าที่พนักงานขายตั๋วหรือติดรถของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ย่อมเป็นที่เข้าใจกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เฉพาะในหน้าที่การงานเท่านั้นจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานขายตั๋วและต่อมาทำหน้าที่เป็นนายตรวจได้ขับรถยนต์โดยสารและเกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์จึงเป็นการกระทำนอกหน้าที่การงานที่ว่าจ้างโดยชัดแจ้งจำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน

          - เปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ให้นอกเหนือไปจากสัญญาค้ำประกันและไปทำความเสียหายในตำแหน่งใหม่ ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1501/2548
           จำเลยค้ำประกัน ช. ในขณะที่ ช. มีตำแหน่งผู้ช่วยจัดโชว์สินค้าตามห้างซึ่งไม่เกี่ยวกับการขายสินค้าของโจทก์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเงินอันเนื่องมาจากการขายสินค้าซึ่งตามสภาพงานจะต้องมีทั้งสินค้าใหม่ๆ เงินที่ขายสินค้าหมุนเวียนผ่านมือไป อันมีลักษณะการทำงานแตกต่างไปจากการช่วยจัดโชว์สินค้าอย่างสิ้นเชิง งานตำแหน่งพนักงานขายสินค้าจึงถือได้ว่าอยู่นอกเหนือเจตนาและความมุ่งหมายจะผูกพันตนของจำเลยตามสัญญาค้ำประกันในขณะเข้าทำสัญญาค้ำประกัน การที่ ช. ได้กระทำความเสียหายแก่โจทก์ขณะอยู่ในตำแหน่งพนักงานขายสินค้าของโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15904/2553
          โจทก์ย้ายตำแหน่งของจำเลยที่ 1 จากเจ้าหน้าที่บริการภาคพื้นไปทำหน้าที่เลขานุการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์ อันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้แก่จำเลยที่ 2 มากขึ้น เกินกว่าที่ระบุไว้ในหนังสือค้ำประกัน การกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือกระทำละเมิดเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานของจำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำขณะทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริการภาคพื้น  จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1

           - เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปยังต้องรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2526
           ประเด็นแห่งคดีมีว่า สหกรณ์โจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ากรรมการของโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ได้ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
           โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์เป็นสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. ม.575 โจทก์และจำเลยที่ 1ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างคำสั่งเลื่อนตำแหน่งหน้าที่จำเลยที่ 1 ของโจทก์ จึงมิใช่เรื่องแปลงหนี้ใหม่ สัญญาจ้างเดิมมิได้ระงับไป
           สัญญาค้ำประกันมีข้อความชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชอบในความเสียหายหรือหนี้สินที่จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ก่อขึ้นไม่ว่าด้วยเหตุใดๆมิได้ระบุว่าจะรับผิดชอบขณะที่จำเลยเป็นเสมียนเท่านั้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้จัดการ ก็ต้องถือว่ายังเป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์โจทก์อยู่

          - ตำแหน่งใหม่มีความเสี่ยงต่อความรับผิดเพิ่มขึ้นและมีผู้ค้ำประกันคนใหม่แล้ว ผู้ค้ำประกันคนเดิมย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1721/2529
          จำเลยที่3ทำหนังสือรับรองจะชดใช้ความเสียหายในกรณีที่จำเลยที่1ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายตอนที่จำเลยที่1เข้าทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งคนการต่อมาโจทก์ให้จำเลยที่1ไปทำงานในตำแหน่งพนักงานเก็บเงินในห้องอาหารและได้ให้จำเลยที่4เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่1โดยมิได้ระบุว่าเป็นการค้ำประกันเพิ่มเติมจากหนังสือรับรองของจำเลยที่3และไม่ปรากฏในทางปฏิบัติของโจทก์ว่าลูกจ้างโจทก์ต้องมีหนังสือรับรองตอนเข้าทำงานและต้องทำหนังสือค้ำประกันเพิ่มเติมเมื่อเปลี่ยนตำแหน่งแต่อย่างใดดังนี้แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่3ต้องผูกพันตามหนังสือรับรองโดยให้จำเลยที่4เข้าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่1แทนจำเลยที่3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีจำเลยที่1ยักยอกเงินจากห้องอาหารโจทก์. ฎีกาในปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยให้ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 813/2534
           จำเลยทำสัญญาค้ำประกัน ป. ในการเป็นพนักงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ต่อมาโจทก์แต่งตั้ง ป. ให้เป็นพนักงานในตำแหน่งผู้จัดการขึ้นใหม่โดยให้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการเงิน ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้แก่จำเลยโดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วย ทั้งมีบริษัท ท. เป็นผู้ค้ำประกันโดยมิได้ระบุว่าเป็นการค้ำประกันเพิ่มเติมจากที่จำเลยได้ค้ำประกันไว้แล้ว แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันโดยให้บริษัท ท. เข้าเป็นผู้ค้ำประกันแทน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่ บ. ยักยอกเงินของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3489/2527
            จำเลยที่ 4 เป็นพนักงานของโจทก์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกการเงินมีหน้าที่รับผิดชอบในการรับเงินและจ่ายเงินให้ถูกต้อง ตลอดจนการฝากเงิน ถอนเงินธนาคาร และรวบรวมเงินที่คงเหลือทุกวันส่งผู้ช่วยหัวหน้ากองบัญชีและการคลังฝ่ายการเงิน เพื่อตรวจสอบและเก็บรักษาไว้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นพนักงานการเงินของโจทก์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกันกระทำการทุจริตเงินที่ผ่านเข้ามาในแผนกการเงินตามสายงานหลายครั้งต่อเนื่อง กันเป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือน ทำให้เงินของโจทก์ขาดหายไปรวม 1,394,049.85 บาท วิธีการทุจริตส่วนใหญ่เป็นเรื่องรับเงินมาแล้วไม่ลงบัญชี ไม่ออกใบรับเงิน ทำหลักฐานว่านำเงินไปฝากธนาคารแต่ความจริงไม่ได้ฝาก พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เหล่านี้ถ้าหากจำเลยที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามคำสั่งของโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ไม่อาจทุจริตได้ การที่จำเลยที่ 4 ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ตนมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติ จนเป็นเหตุให้เงินของโจทก์ขาดหายไปโดยการทุจริตของผู้ใต้บังคับบัญชาเช่นนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 4 จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 มาตรา 29บัญญัติให้ผู้ว่าการเป็นผู้บริหารกิจการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการกำหนดและมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่ง มาตรา 30 บัญญัติว่า ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำในนามของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและเป็นผู้กระทำการแทนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่วนคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้นมาตรา 23 บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดังนี้ การบริหารก็คือการปกครองและดำเนินการหรือการจัดการ และการฟ้องคดีในนามของนิติบุคคลก็คือการจัดการหรือการดำเนินการนั่นเอง หาใช่การควบคุมดูแลกิจการของนิติบุคคลไม่ อำนาจฟ้องในนามของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงเป็นอำนาจของผู้ว่าการไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้ว่าการของโจทก์จึงมีอำนาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้องคดีในนามของโจทก์ได้ เดิมโจทก์มีคำสั่งจ้างจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างรายวัน ต่อมาจึงได้มีคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยที่ 7 ที่ 8 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์เมื่อจำเลยที่ 2 เข้าทำงาน เป็นลูกจ้างรายวัน เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับการบรรจุและ แต่งตั้งเป็นพนักงานประจำแล้วมิได้มีการทำสัญญาค้ำประกันใหม่อีก คดีได้ความว่าลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานจะต้อง ยื่นใบสมัครและ ทำสัญญาค้ำประกันอีก เช่นนี้ ที่จำเลยที่ 7 ที่ 8 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ไว้นั้น คู่สัญญามีเจตนา ให้จำเลยที่ 7 ที่ 8 ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างรายวันเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานประจำ ไม่ได้มีการทำสัญญาค้ำประกันใหม่อีก และจำเลยที่ 2 ทำละเมิด ต่อโจทก์ในระหว่างเป็นพนักงานประจำ โจทก์จะนำสัญญาค้ำประกัน ดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างให้จำเลยที่ 7 ที่ 8 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะ ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ไม่ได้
 

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 4

กรณีเป็นการค้ำประกันเข้าทำงานในสถานศึกษา ซึ่งผอ.ให้ครูคศ.2 ขึ้นไปค้ำประกันให้ลูกจ้าง อยากทราบว่า เราจำเป็นต้องทำตามไมคะ มาในลักษณะบังคับ ว่าร้ายหากไม่ค้ำประกันให้ลูกน้องคะ ขอผู้รู้ช่วยตอบหนูทีนะคะ

โดยคุณ เอมมี่ 27 มิ.ย. 2565, 13:59

ความคิดเห็นที่ 3

อยากทราบว่า ถ้า อยู่ในช่วงทดลองงาน แล้ว ลาออก ด้วยปากเปล่า จะเกิดปัญหาอะไรบ้างกับผู้ค้ำประกันการทำงาน 

โดยคุณ นายชัยวัฒน์ เสียงอ่อน 11 พ.ย. 2561, 19:14

ตอบความคิดเห็นที่ 3

หากสัญญาจ้างทำงานไม่ได้ระบุเรื่องการลาออกแล้วให้ผู้ค้ำประกันรับผิด ผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดครับ 

โดยคุณ ทีมงานทนายคลายทุกข์ 22 พ.ย. 2561, 14:35

ความคิดเห็นที่ 2

ถ้าหากว่าในสัญญาค้ำประกัน มีเนื้อหาว่าต้องรับผิดชอบการค้ำประกันที่รวมถึงหนี้และความเสียหายที่แม้ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่การงานซึ่งพนักงานผู้นี้รับผิดชอบอยู่ก็ตาม แต่เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยสิทธิหรือฐานะการเป็นพนักงานของบริษัทเป็นสำคัญ จะถือว่าสัญญานี้ไม่เป็นธรรม ไม่สามารถบังคับให้ผู้คำ้ประกันรับผิดชอบหรือเปล่าคะ

รบกวนหน่อยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

โดยคุณ Rojana 8 พ.ค. 2557, 15:58

ความคิดเห็นที่ 1

 รบกวนสอบถามค่ะ

พอดีว่าจะเริ่มงานใหม่กับบริษัทเดิมที่เคยลาออก (แต่ยื่นใบลาออก 15 วัน แต่ออกก่อนครบกำหนด)

ผู้จัดการแผนกจะรับกลับไปทำงานอีก แต่ทางนายจ้างจะให้ทำค้ำประกันไว้ด้วยสินทรัพย์(รถยนต์ , บ้าน)ค่ะ เพราะกลัวว่าเราจะออกก่อนกำหนดค่ะ เงินเดือน 25000 บาท ตำแหน่งที่ทำ BOI ค่ะ

อยากทราบว่าหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันมันสูงเกินไปหรืเปล่ากับความเป็นจริงเพราะหนูมีความรู้สึกว่ามันมากไป แต่ถ้าจะปฎิเสธก็เกรงใจ ผจก. เพราะสนิทกันมาก

(ปล. แต่เงื่อนไขที่ว่ามา บุคคลเป็นคนจัดหามาสอบถามไปว่าใช้บุคคลค้ำได้ไหม เขาบอกว่าปรึกษาทนายความมาเขาบอกว่าถ้าใช้บุคคลถ้าเปลี่ยนงานเงินเดือนก็เพิ่มหรือลดได้ตามตำแหน่ง แต่หนูเคยกู้ กยศ. ไม่เห็นต้องใช้สินทรัพย์ค้ำประกันเลย ที่คุยกับเจ้านายเก่าเขาบอกว่าต้องการคนค้ำในกรณีที่ว่าหนูละทิ้งหน้าที่แค่นั้นเองค่ะ)

อยากทราบว่ารายละเอียดในหนังสือค้ำประกันต้องมีอะไรบ้างค่ะถ้าจะให้รับผิดชอบเฉพาะในส่วนของการละเลยหน้าที่นะค่ะ

รบกวนหน่อยนะค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

โดยคุณ สุวรรณี 20 ม.ค. 2557, 11:49

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก