รวมคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับคดีเช็คทางแพ่ง|รวมคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับคดีเช็คทางแพ่ง

รวมคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับคดีเช็คทางแพ่ง

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

รวมคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับคดีเช็คทางแพ่ง

เจ้าของกิจการได้สอบถามมาเกี่ยวกับการสั่งจ่ายเช็ค การสลักหลังเช็ค การอาวัลเช็ค

บทความวันที่ 24 มิ.ย. 2555, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 25291 ครั้ง


รวมคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับคดีเช็คทางแพ่ง

            เจ้าของกิจการได้สอบถามมาเกี่ยวกับการสั่งจ่ายเช็ค  การสลักหลังเช็ค การอาวัลเช็ค  การส่งมอบเช็ค  การขึ้นเช็คต่อธนาคาร  การเรียกเก็บเงินตามเช็ค  อำนาจฟ้องในคดีเช็ค  อายุความเกี่ยวกับคดีเช็ค  ทนายคลายทุกข์จึงได้รวบรวมคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับคดีเช็คทางแพ่ง  มาเป็นอุทาหรณ์สำหรับเจ้าของกิจการดังต่อไปนี้
1. ลงชื่อในแบบพิมพ์เช็คของบุคคลอื่น  ผู้สั่งจ่ายต้องรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1853/2511

            ผู้สั่งจ่ายเช็คไม่มีเงินฝากธนาคาร แต่ออกเช็คโดยใช้แบบพิมพ์เช็คของบุคคลอื่นเมื่อทำเป็นหนังสือตราสารซึ่งมีรายการครบถ้วนบริบูรณ์ตามลักษณะที่บัญญัติไว้ในมาตรา 987,988 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ย่อมเป็นเช็คโดยชอบหากผู้ทรงนำไปขึ้นเงินจากธนาคารไม่ได้ ผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังหรือผู้รับประกันด้วยอาวัลย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง
           การที่ผู้ทรงเช็คเคยฟ้องผู้สั่งจ่ายเป็นคดีอาญา แล้วถอนฟ้องเสีย โดยยอมผ่อนเวลาให้ผู้สั่งจ่ายใช้เงินตามเช็คนั้น ไม่เป็นเหตุให้ผู้สลักหลังหรือรับประกันด้วยอาวัลหลุดพ้นจากความรับผิด เพราะต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง (ปัญหาตามวรรคแรกวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 1017/2507 ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่)

2. ผู้ทรงเช็คไม่ได้นำเช็คไปยื่นต่อธนาคารและธนาคารยังมิได้ปฎิเสธการจ่ายเงิน นำมาฟ้องคดีไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2520

            ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 914 และ 959 ผู้สั่งจ่ายเช็คจะต้องรับผิดใช้เงินแก่ผู้ทรงก็ต่อเมื่อได้มีการนำเช็คนั้นไปยื่นแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเสียก่อน เมื่อข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ฟังได้ว่าโจทก์มิได้นำเช็คพิพาทไปยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน และธนาคารก็ยังมิได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงจะนำคดีมาฟ้องจำเลยผู้สั่งจ่ายให้รับผิดชำระเงินตามเช็คนั้นทีเดียวมิได้

3.ผู้สั่งจ่ายตาย ผู้ทรงไม่ต้องนำเช็คไปขอรับเงินจากธนาคารก่อน ฟ้องศาลได้ทันที
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1003/2524

            กรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 992 ได้บัญญัติถึงหน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้นว่าเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อรู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย เมื่อ ส. ผู้สั่งจ่ายตายโจทก์ในฐานะผู้ทรงซึ่งทราบอำนาจหน้าที่ของธนาคารตามข้อกฎหมายดังกล่าว จึงไม่จำต้องนำเช็คพิพาทไปขอรับเงินจากธนาคารเสียก่อนกรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 990เมื่อ ส. ตายบรรดาทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ย่อมตกได้แก่ทายาทตามมาตรา1599,1600 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ได้รับการบอกกล่าวให้ชำระหนี้เงินตามเช็คที่ ส. เป็นผู้สั่งจ่ายให้แก่โจทก์แล้วเพิกเฉยถือได้ว่าสิทธิของโจทก์ในมูลหนี้เงินดังกล่าวได้มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2524)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4027/2527
           กรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คตาย อำนาจและหน้าที่ของธนาคารซึ่งใช้เงินตามเช็คสิ้นสุดลงเมื่อธนาคารทราบว่าผู้สั่งจ่ายตาย ผู้ทรงเช็คจึงไม่ต้องนำเช็คไปขอรับเงินจากธนาคารอีก กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับว่าผู้ทรงเช็คจะต้องนำเช็คเรียกเก็บเงินจากธนาคารเสียก่อนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990แม้จะถือว่าการนำเช็คไปยื่นต่อธนาคารก่อนกำหนดวันสั่งจ่ายเงินเป็นการมิชอบ ก็หาทำให้ผู้สลักหลังพ้นความรับผิดไม่

4. บัญชีผู้สั่งจ่ายปิดไปก่อนที่เช็คถึงกำหนด  ผู้ทรงไม่จำเป็นต้องนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ฟ้องศาลได้ทันที
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2526

           ในกรณีฟ้องเรียกเงินตามเช็ค แม้ธนาคารจะได้เรียกเก็บเงินตามเช็คก่อนวันที่ลงในเช็ค หากบัญชีของผู้สั่งจ่ายได้ปิดไปก่อนที่ธนาคารเรียกเก็บเงินแล้ว ก็เป็นอันว่าเช็คนั้นไม่มีผลเป็นการชำระหนี้ได้ไม่จำต้องนำเช็คไปยื่นเพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินซ้ำอีกในกรณีเช่นนี้ผู้ทรงเช็คย่อมนำเช็คมาฟ้องร้องผู้สั่งจ่ายเช็คให้รับผิดในทางแพ่งได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 959 และ 989
          จำเลยต่อสู้คดีว่าเช็คตามฟ้อง 400,000 บาท มีมูลหนี้จากการกู้เงินเพียง 100,000 บาท เป็นการโต้เถียงเกี่ยวกับมูลหนี้ตามเช็คระหว่างจำเลยซึ่งเป็นผู้ออกเช็คกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง ชอบที่จะให้จำเลยนำสืบตามข้อต่อสู้ได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2589/2522)
         จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวนเงิน 400,000 บาท โดยมีมูลหนี้เพียง 100,000 บาท จำเลยย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงจำนวนเงินตามมูลหนี้เท่านั้น

5. เช็คให้ใช้เงินในจังหวัดกันผู้ทรงอื่นต่อธนาคารเกินกำหนด  1 เดือน นับแต่วันออกเช็ค  ผู้ทรงสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลัง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3597/2534

           เช็คให้ใช้เงินเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คระบุวันออกเช็คลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2529 แต่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงยื่นเช็คต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงินวันที่ 11 กรกฎาคม 2529 จึงเกินกำหนด 1 เดือนนับแต่วันออกเช็คนั้น ตามที่มาตรา 990 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับไว้ โจทก์จึงสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ผู้สลักหลัง.

6. ผู้ทรงยื่นเช็คต่อธนาคารเกินกำหนด 1 เดือน  เช็คจังหวัดเดียวกัน  ถ้าเป็นเช็คผู้ถือ ผู้อาวัลไม่หลุดพ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460/2526

          จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียงประกัน (อาวัล)สำหรับผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันและรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตามมาตรา 940,967,989
           กำหนดเวลาที่ต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 เป็นเรื่องเงื่อนไขแห่งสิทธิไล่เบี้ยของผู้ทรงเช็คต่อผู้สลักหลังโอนเช็คเท่านั้น มิได้รวมถึงผู้สลักหลังเช็คในฐานะผู้รับประกันการใช้เงิน (ผู้รับอาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามเช็คนั้นด้วย
          จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สลักหลังเช็ครู้เห็นยินยอมด้วยกับการที่จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายแก้วันที่สั่งจ่ายในเช็คอันเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อสำคัญในเช็คนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1007

7.ธนาคารล้มละลาย ผู้ทรงนำเช็คไปขึ้นเงินธนาคารล่าช้า  ผู้สั่งจ่ายเสียเงินที่มีอยู่ในธนาคารทำให้ผู้สั่งจ่ายเสียหาย  ผู้สั่งจ่ายพ้นความรับผิดตามเช็ค
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3242/2530

           จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์แม้จำเลยสั่งจ่ายเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของ พ.ที่มีต่อโจทก์แต่เมื่อพ. ยังไม่ได้ชำระหนี้ต่อโจทก์ หนี้ตามเช็คพิพาทจึงยังคงมีอยู่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น ทั้งจะนำบทบัญญัติในเรื่องการผ่อนเวลาของเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับเพื่อให้จำเลยพ้นจากความรับผิดหาได้ไม่
           ความเสียหายอันเกิดจากผู้ทรงเช็คไม่นำเช็คไปขึ้นเงินต่อธนาคาร ภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990นั้นหมายถึงผู้สั่งจ่ายเสียเงินที่มีอยู่ในธนาคารเพราะการที่ผู้ทรงไม่นำเช็คไปขึ้นเงินภายในกำหนด เช่นธนาคารล้มละลาย เป็นต้น ดังนั้น แม้จะฟังได้ว่าการที่โจทก์นำเช็คพิพาทไปยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงินล่าช้า จน พ.หลบหนีไปแล้วจึงดำเนินการ ทำให้จำเลยเสียหาย ไม่สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยจาก พ. ได้ กรณีก็ไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าวจำเลยจึงไม่พ้นความรับผิดตามเช็คพิพาท.

8.บัญชีกระแสรายวันในการใช้เช็คไม่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3675/2534

           ธนาคารจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คจึงฟ้องจำเลยให้ใช้เงินตามเช็คพิพาทตามกฎหมายเรื่องตั๋วเงินไม่ได้ สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาทเมื่อจำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินก็ได้แต่จะฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลที่ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเท่านั้น ป.พ.พ. มาตรา 991 มีวัตถุประสงค์เพื่อปลดเปลื้องความรับผิดของธนาคารที่มีต่อผู้เคยค้าเท่านั้น เมื่อกรณีต้องด้วยข้อยกเว้น ตาม(1) หรือ (2) หรือ (3) ของมาตรา 991 ก็ให้สิทธิแก่ธนาคารที่ จะไม่จ่ายเงินตามเช็คได้โดยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เคยค้าหรือผู้สั่งจ่ายหรือธนาคารจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นก็ได้ แต่จะหักเงินจากบัญชีของผู้เคยค้าได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องพิจารณาจากมูลเหตุ ที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คเป็นราย ๆ ไป สัญญาระหว่างธนาคารกับผู้เคยค้าไม่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 374และมาตรา 375.

9. แคชเชียร์เช็คหรือเช็คของขวัญ ถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินผู้ทรงฟ้องธนาคาร  ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เช็คถึงกำหนด
คำพิพากษาฎีกาที่ 4531/2533  

           เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คหรือแคชเชียร์ออเดอร์  มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามตั๋วเงินนั้น  เมื่อได้ปฏิเสธการจ่ายเงินทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเสียหาย  โจทก์จึงฟ้องคดีได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันตั๋วเงินถึงกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 คือ เป็นการฟ้องผู้สั่งจ่าย อายุความ 1 ปี

10.ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คเกินจำนวนที่มีอยู่ในบัญชี ผู้ฝากเงิน(ผู้สั่งจ่าย) ต้องรับผิดต่อธนาคาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2522

            เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารแล้ว ออกเช็คสั่งจ่ายเงินเกินจำนวนที่มีในบัญชี ธนาคารจะไม่จ่ายเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991(1) ก็ได้ ถ้าธนาคารจ่ายเงินไปตามเช็ค ผู้ฝากเงินต้องรับผิดต่อธนาคาร

11. ผู้ทรงมิได้นำเช็คไปยื่นต่อธนาคารภายในกำหนด 6 เดือนนับแต่วันออกเช็ค  และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า พ้นกำหนดเป็นเวลา 6 เดือนนับแต่วันออกเช็ค  โจทก์หาเสียสิทธิที่จะเรียกเงินจากผู้สั่งจ่ายไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 169/2528

           หนี้พิพาทเป็นหนี้เงินตามเช็คพิพาทซึ่งมีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนและเช็คเป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่งซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 959ประกอบกับมาตรา 989 บัญญัติให้ผู้ทรงตั๋วเงินมีสิทธิไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกำหนด กฎหมายมิได้กำหนดให้ผู้ทรงตั๋วเงินบอกกล่าวแก่ผู้สั่งจ่ายเสียก่อนจึงจะไล่เบี้ยได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อน
           การที่โจทก์ผู้ทรงมิได้นำเช็คพิพาทไปยื่นเพื่อให้ใช้เงินภายในเวลา6 เดือน นับแต่วันออกเช็คหรือวันสั่งจ่ายและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์หาเสียสิทธิที่จะเรียกเงินตามเช็คพิพาทจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายไม่

12. ผู้สั่งจ่ายแจ้งธนาคารให้งดจ่ายเงินตามเช็ค ธนาคารฝ่าฝืนจ่ายเงินตามเช็ค ธนาคารต้องชดใช้เงินคืนให้กับผู้สั่งจ่ายพร้อมค่าเสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3229/2527

            จำเลยมีหนังสือแจ้งธนาคารโจทก์สาขาให้งดจ่ายเงินตามเช็ค13 ฉบับ ธนาคารฯ ได้ปฏิบัติตามคำสั่งงดจ่ายเงิน แต่ต่อมาได้จ่ายเงินตามเช็คไป 3 ฉบับ โดยฝ่าฝืนคำสั่งขอให้งดจ่ายเงินตามเช็ค ดังนี้ ธนาคารโจทก์ต้องชดใช้เงินจำนวนนี้ให้จำเลยพร้อมค่าเสียหายนับแต่วันจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับ

13.ผู้สั่งจ่ายตายไปก่อนวันที่เช็คถึงกำหนดไม่หลุดพ้นตามความรับผิดและความรับผิดยังตกอยู่ในกองมรดกของผู้สั่งจ่ายต้องรับผิดต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3465/2524

           ประธานกรรมการฝ่ายบริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทตั้งขึ้นให้มีอำนาจหน้าที่จัดการบริษัทตามข้อบังคับในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่และเป็นผู้แทนแสดงความประสงค์ของบริษัทมิใช่บุคคลที่บริษัทตกลงรับเข้าทำงานทั้งมิใช่เป็นผู้ที่ ต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของบริษัทประธานกรรมการฝ่ายบริหารและกรรมการผู้จัดการจึงมิใช่ลูกจ้างของบริษัทโจทก์ และจะเป็นลูกจ้างของบริษัทต่อเมื่อเป็นผู้ตกลงทำงานให้แก่บริษัทเพื่อรับค่าจ้างอีกชั้นหนึ่ง

14.ธนาคารออกแคชเชียร์เช็คตามคำสั่งของลูกค้า ต่อมาลูกค้าแจ้งว่าเช็คถูกชิงทรัพย์ไป ผู้ทรงรับเช็คมาและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  ธนาคารจะยกเอาข้อต่อสู้ของลูกค้า เพื่อยกเว้นความรับผิดของตนหาได้ไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ 4531/2533

            โจทก์ขอให้ธนาคารจำเลยที่ 1 ออกเช็คธนาคารหรือแคชเชียร์ออเดอร์หรือที่เรียกกันว่าแคชเชียร์เช็ค  ไม่ได้ขอให้รับรองการจ่ายเงินตามตั๋วเงินฉบับใดฉบับหนึ่ง  ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นไปตามแคชเชียร์เช็คที่จำเลยที่ 1  ออกให้แก่โจทก์
           คำพิพากษาฉบับนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องการรับรองเช็ค แต่เป็นเรื่องที่ธนาคารผูกพันตามแคชเชียร์เช็คที่ตนออกให้แก่โจทก์

15. เช็คระบุชื่อขีดคร่อมไม่มีกำหนดห้ามเปลี่ยนมือ ผู้มีชื่อสลักหลังโอนเช็คให้ผู้ทรงได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4336/2534

           เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปสั่งจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 3โดยมิได้มีคำว่า "ห้ามเปลี่ยนมือ" จำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจที่จะสลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่บุคคลอื่นในลักษณะที่เป็นตราสารเปลี่ยนมือได้ เมื่อจำเลยที่ 3 สลักหลังเช็คพิพาทส่งมอบให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ซึ่งเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาขายลดเช็คโจทก์จึงเป็นผู้รับโอนเช็คจากจำเลยที่ 3มาไว้ในครอบครองโดยชอบ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 904 แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3โดย มี ข้อตกลงว่าจำเลยที่ 3 จะต้องสอนการผลิตหินอ่อนเทียมให้จำเลย ที่ 1 ที่ 2 แล้วจำเลยที่ 3 ผิดข้อตกลง ทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาต่อจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่การผิดสัญญาดังกล่าวโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่สัญญาหรือมีส่วนรู้เห็นแต่อย่างใดจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่อาจอาศัยความเกี่ยวพันระหว่างตนกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อนยกขึ้นใช้ยันโจทก์ผู้ทรงเพื่อไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 โอนเช็คพิพาทให้โจทก์ด้วยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่ 2จึงต้องร่วมกันรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น.

16.ผู้สลักหลังเป็นกรรมการบริษัทสลักหลังเช็ค หลังจากบริษัทจดทะเบียนเลิกและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ถือว่า บริษัทสิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้วเป็นการสลักหลังโดยปราศจากอำนาจใช้ไม่ได้  ผู้ทรงที่ได้รับเช็คมาถือว่าเป็นการสลักหลังที่ขาดสายไม่ใช้ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2547

            เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะระบุสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัท ฐ. มิใช่เช็คผู้ถือ ดังนั้นบริษัท ฐ. ซึ่งเป็นผู้ทรง เท่านั้นที่จะทำสัญญาขายลดและสลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาขายลดเช็ค เอกสารหมาย จ.3 กระทำขึ้นหลังจากที่บริษัท ฐ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคสอง อันถือได้ว่า บริษัท ฐ. ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว สัญญาขายลดเช็คดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งการที่ ธ. และ ส. ลงลายมือชื่อสลักหลังและประทับตราบริษัท ฐ. จำกัด ในเช็คพิพาทให้ แก่โจทก์ ก็เป็นการสลักหลังโอนโดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้เลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 โจทก์จึงเป็น ผู้ที่ได้รับเช็คพิพาทมาโดยการสลักหลังที่ขาดสาย โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 904, 905 จำเลยทั้งสามในฐานะผู้สั่งจ่ายจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

17.เช็คขีดคร่อมมีข้อความว่า A/C PAYEE ONLY มีความหมายทำนองเดียวกับเปลี่ยนมือไม่ได้หรือห้ามเปลี่ยนมือจึงโอนกันไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2503/2528

          แม้เช็คพิพาทจะมีส.หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ลงชื่อสลักหลังเช็คและประทับตราสำคัญของโจทก์แต่หุ้นส่วนอีกคนหนึ่งไม่ได้ลงชื่อด้วยตามข้อบังคับจึงถือไม่ได้ว่า ส. เป็นผู้แทนกระทำการแทนโจทก์การสลักหลังเช็คดังกล่าว ย่อมไม่ผูกพันโจทก์โจทก์จึงยังเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายและมีอำนาจฟ้อง
           เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมมีคำว่า 'เปลี่ยนมือไม่ได้' แม้จะมิได้ขีดฆ่าคำว่า 'จ่ายตามคำสั่งของ ห้างหุ้นส่วนจำกัดจตุรมิตรก่อสร้าง (โจทก์) ออก ก็แสดงว่า ผู้สั่งจ่ายต้องการให้นำเช็คเข้าบัญชีของโจทก์เท่านั้นไม่ให้จ่ายตามคำสั่งของโจทก์ต่อไป
           คำว่า 'เอซีเปยีออลลี่' มีความหมายทำนองเดียวกับ 'เปลี่ยนมือไม่ได้' หรือ 'ห้ามเปลี่ยนมือ' ตามที่ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 995 การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพประกอบการธนาคาร เรียกเก็บ เงินตามเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของส.ผู้รับสลักหลังทั้งๆที่เช็คพิพาทเป็นเช็คห้ามเปลี่ยนมือ ต้องนำเงินตาม เช็คเข้าบัญชีของโจทก์เท่านั้นจะถือว่าจำเลยกระทำโดย ปราศจากความประมาทเลินเล่อหาได้ไม่จึงไม่ได้รับความ คุ้มครอง จากบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1000 ส.ไม่ได้เป็นผู้แทนกระทำแทนโจทก์ การที่ส. ทราบ การกระทำละเมิดของจำเลยในวันใดจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนจาก การกระทำดังกล่าวในวันนั้นเมื่อผู้ชำระบัญชีของโจทก์ เพิ่งทราบการกระทำละเมิดของจำเลยนับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง1ปีคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

18.เช็คขีดคร่อมทั่วไปถูกลบขีดคร่อม ธนาคารจ่ายเงินไปโดยสุจริตปราศจากความประมาทเลินเล่อ ธนาคารไม่ต้องชดใช้เงินให้แก่ผู้สั่งจ่าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2497

            เช็คที่ไม่ปรากฏว่ามีรอยขีดคร่อมอันได้ลบล้างหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเป็นประการอื่น ถ้าธนาคารใช้เงินไปโดยสุจริตและปราศจากการประมาทเลินเล่อย่อมไม่ต้องรับผิด
             ระหว่างธนาคารผู้จ่ายเงินกับผู้สั่งจ่าย เช็คนั้นมีความผูกพันกันตามสัญญาที่เคยค้าอาศัยในการสั่งจ่ายเงินอยู่ด้วย ฉะนั้นเมื่อผู้สั่งจ่ายเช็คมีคำสั่งให้ธนาคารจ่ายเงิน 60,000 บาท แม้จะมีผู้แก้จำนวนเงินเป็น 50,000 บาท และธนาคารจ่ายไปตามนั้นก็ไม่เป็นการปฏิบัตินอกเหนือคำสั่ง เช็คต้องลงวันที่ ที่ออกเช็ค แต่เช็คที่ลงวันที่ล่วงหน้าก็หาเสียไปไม่
             ธนาคารย่อมจะต้องใช้เงินในทันทีที่มีผู้นำเช็คมาเบิกเงินเว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 991,992 ฉะนั้นเมื่อไม่มีอะไรแสดงให้เห็นว่าเช็คนั้นลงวันที่ล่วงหน้าแล้วมีผู้แก้วันที่ร่นเข้ามาและนำมาเบิกเงินธนาคารได้จ่ายเงินไปโดยสุจริตปราศจากความประมาทเลินเล่อย่อมไม่ต้องรับผิดประเด็นข้อสุจริตหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่โจทก์ผู้กล่าวอ้างต้องนำสืบ

19. สลักหลังเฉพาะเช็คระบุชื่อเพื่อเข้าบัญชีของบริษัท บ. ผู้สลักหลัง พนักงานลบถ้อยคำสลักหลังออกแล้วยักยอกเช็คไปให้บุคคลอื่นนำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแต่มีร่องลอยที่เห็นได้ชัดเจน เป็นการแก้ไขกลายเป็นสลักหลังลอยส่วนสำคัญเช็ค ย่อมเสียไปจะถือเอาประโยชน์จากเช็คไม่ได้  ธนาคารจ่ายเงินไปโดยประมาทเลินเล่อไม่ได้รับความคุ้มครองต้องรับผิดต่อเจ้าของเช็คอันแท้จริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2290/2518

            เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมระบุจ่ายให้บริษัท พ.บริษัทพ. สลักหลังลอยให้โจทก์ โจทก์ใช้ตรายางประทับด้านหลังเช็คมีข้อความว่าเพื่อฝากเข้าบัญชีของโจทก์เท่านั้น แล้วลงชื่อมอบให้พนักงานของโจทก์ไปฝากเข้าบัญชี พนักงานของโจทก์ได้ลบข้อความที่โจทก์ใช้ตรายางประทับ ทำให้การสลักหลังของโจทก์กลายสภาพเป็นสลักหลังลอย แล้วยักยอกเช็คนั้นไปมอบให้ อ.แล้วอ. นำเช็คไปเข้าบัญชีธนาคารจำเลยเพื่อให้เรียกเก็บเงิน จำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นแล้วปรากฏว่าการลบถ้อยคำสลักหลังของโจทก์มีร่องรอยที่เห็นได้ชัดเจน เป็นการแก้ไขในส่วนสำคัญ เช็คพิพาทย่อมเสียไปตามมาตรา 1007 อ. จะถือประโยชน์จากเช็คพิพาทไม่ได้ธนาคารจำเลยรับเงินตามเช็คไว้เพื่อ อ. โดยความประมาทเลินเล่อ ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 1000 จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเช็คพิพาทอันแท้จริง

20.เช็คสั่งจ่ายผู้รับเงินตามเช็ค โดยระบุชื่อผู้รับเงินหรือผู้ถือและมีข้อความว่า A/C PAYEE ONLY ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คคือผู้ที่มีชื่อระบุเป็นผู้รับเงินตามเช็ค  ไม่ใช่ผู้สั่งจ่ายเช็ค จึงไม่มีอำนาจฟ้องธนาคารให้รับผิดชอบชดใช้เงินตามเช็ค
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2551

            โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 2 สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมของธนาคาร ท. ให้แก่ ส. หรือผู้ถือ แม้เป็นเช็คห้ามเปลี่ยนมือ แต่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นคือผู้รับเงินตามเช็ค มิใช่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค โจทก์ทั้งสองก็มิได้เป็นผู้ทรงเช็ค จึงมิใช่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1000 ที่จะมีอำนาจฟ้องธนาคารจำเลยให้รับผิดชดใช้เงินตามเช็ค ทั้งการที่จำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคาร ท. ไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้อื่นเพื่อเรียกเก็บเงิน ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในอันที่จะทำให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายได้
           จัดทำโดย  อ.เดชา  กิตติวิทยานันท์  วิทยากรเกี่ยวกับกฎหมายเช็คทั้งทางแพ่งและทางอาญา
            ท่านใดมีปัญหาเกี่ยวกับคดีเช็คทั้งทางแพ่งและทางอาญา  ขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานทนายคลายทุกข์ โทร.02-9485700



 

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก