คำพิพากษาศาลฎีกา/การปิดอากรแสตมป์และการขีดฆ่า|คำพิพากษาศาลฎีกา/การปิดอากรแสตมป์และการขีดฆ่า

คำพิพากษาศาลฎีกา/การปิดอากรแสตมป์และการขีดฆ่า

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

คำพิพากษาศาลฎีกา/การปิดอากรแสตมป์และการขีดฆ่า

กรณีต้องปิดอากรแสตมป์

บทความวันที่ 10 พ.ย. 2554, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 47498 ครั้ง


คำพิพากษาศาลฎีกา/การปิดอากรแสตมป์และการขีดฆ่า
 


1. กรณีต้องปิดอากรแสตมป์
-  ใช้เฉพาะคดีแพ่งเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2545

          ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 กำหนดให้ตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือส่วนของตราสารเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น ใช้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานด้วย ดังนั้น เมื่อคดีอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา 4 ได้ความว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์โดยมีสัญญากู้ยืมเงินมาแสดง ก็ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว

-  ขีดฆ่าไม่ต้องลงวัน เดือน ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1178/2519 (ประชุมใหญ่)

          แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา 103 จะให้ความหมายของคำว่า "ขีดฆ่า" ว่า "การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับได้ลงลายมือชื่อหรือ ลงชื่อ ห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษ และลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย ฯลฯ" ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่า ความมุ่งหมายของคำว่า "ขีดฆ่า" นั้น ก็เพื่อจะให้แสตมป์ที่ปิดทับเอกสารนั้นใช้ไม่ได้ต่อไปเท่านั้น มาตรา 103 จึงให้ความหมายไว้ในตอนแรกว่า เป็นการ กระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก ส่วนข้อความตอนต่อไปนั้นเป็นเพียงการอธิบายเพิ่มเติมวิธีกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีกเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อได้กระทำการใด ๆ ให้แสตมป์นั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แม้จะมิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามข้อความที่อธิบายเพิ่มเติมไว้ก็ถือได้ว่าเป็นการขีดฆ่าตามความหมายของ มาตรา 103 ที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับคำว่า ขีดฆ่า นั้นแล้ว
          การขีดฆ่าอากรแสตมป์ที่ปิดบนเอกสารสัญญากู้ด้วยหมึกเพื่อมิให้อากรแสตมป์นั้นใช้ได้อีกต่อไป เป็นการขีดฆ่าที่ชอบแล้ว แม้จะมิได้ลง วัน เดือน ปี ที่ขีดฆ่าก็ถือว่าสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องนี้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง
          แม้โจทก์จะไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำสัญญากู้เพราะดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นโมฆะก็ตาม แต่จำเลยต้องรับผิดใช้ ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินกู้ให้โจทก์ในระหว่างที่จำเลย ผิดนัดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 224 และเมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีได้ มีการผิดนัด จำเลยจึงต้องชดใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป


-  ต้องปิดก่อนศาลชั้นต้นตัดสิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3775/2546

          การขอขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้เงิน หรือขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ที่ขีดฆ่าอากรแสตมป์ดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะกระทำเสียก่อนหรือในขณะที่ได้นำเอกสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง หรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี การที่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลฎีกาหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปแล้ว โดยศาลอุทธรณ์ปฏิเสธที่จะรับฟังหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไข ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งไม่อนุญาต
          จำเลยกู้เงินโจทก์โดยทำสัญญาจำนองเป็นประกันไว้ และจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้ที่ดินที่จำนองเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับภริยาและจำเลยทำสัญญาจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาก็ตาม คงมีผลเพียงว่าภริยาจำเลยอาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 แต่ตราบใดสัญญาจำนองยังไม่ถูกศาลเพิกถอน ย่อมยังคงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
          โจทก์เป็นผู้อ้างเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินเป็นพยาน ย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการให้เอกสารดังกล่าวสมบูรณ์ถูกต้องสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลรัษฎากร มิใช่หน้าที่ของจำเลย
          สัญญากู้เงินและสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมคนละประเภทที่สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน และปรากฏว่าสัญญากู้เงินที่ทำขึ้นไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ย่อมไม่อาจนำเอาอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาจำนองมาบังคับการกู้เงินได้

2.  ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์
- ไม่ถือเป็นตราสาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2547/2544

          หนังสือที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อโจทก์เพื่อค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ว่า หากจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายจะยอมชดใช้หนี้สินหรือค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2ผู้ค้ำประกันเท่านั้น ไม่มีลายมือชื่อของโจทก์อยู่ด้วย หนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานในการค้ำประกันเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง เท่านั้นมิใช่สัญญาค้ำประกัน แม้จะมีข้อความว่าสัญญาค้ำประกันก็ตาม เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 104 และบัญชีอากรแสตมป์ลักษณะ 17ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้

-  สำเนาเอกสาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 750/2541

          โจทก์ส่งต้นฉบับสัญญาเช่าที่ดินต่างตอบแทนระหว่างบริษัท น. กับโจทก์และต้นฉบับสัญญาซื้อขายอาคารและสิ่งปลูกสร้างระหว่างบริษัท น. กับโจทก์ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อตรวจสอบการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของบริษัทในเครือ  โจทก์ไม่สามารถนำต้นฉบับสัญญาดังกล่าวส่งศาลชั้นต้น  แต่ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกเอกสารดังกล่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย  ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวโดยรับรองสำเนาถูกต้อง  การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้โจทก์นำสำเนาเอกสารมาสืบได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93(2)  ส่วนการรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับเอกสารตาม ป.วิ.พ.มาตรา 93(2)  นั้นมิใช่เป็นการรับฟังต้นฉบับเอกสารเป็นพยานหลักฐานอันจะต้องปิดอากรแสตมป์ที่ต้นฉบับนั้นแต่ประการใด ทั้งสำเนาเอกสารดังกล่าวก็มิใช่ต้นฉบับหรือคู่ฉบับหรือคู่ฉีก  จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร  ดังนั้น  สำเนาสัญญาเช่าที่ดินต่างตอบแทนและสำเนาสัญญาซื้อขายอาคารและสิ่งปลูกสร้างจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

-  สำเนาหนังสือมอบอำานาจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3628/2536

           การนำสืบถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวการกับตัวแทน เพื่อให้ทราบถึงความจริงเกี่ยวกับการทำสัญญาเป็นมาอย่างไร ไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข) ภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจเป็นสำเนาเอกสารไม่ใช่คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร และไม่ต้องห้ามในการที่ศาลจะรับฟังเอกสารนั้นเป็นพยาน คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าเกิน 6 เดือนและไม่ชำระภาษีโรงเรือนตามเงื่อนไขในสัญญาเช่า จำเลยให้การว่าที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ชำระค่าภาษีโรงเรือนและค่าเช่าจำเลยขอปฏิเสธว่าไม่เคยผิดเงื่อนไขในสัญญาเช่า รายละเอียดจะได้เสนอศาลในชั้นพิจารณาต่อไป คำให้การของจำเลยจึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดปฏิเสธว่าจำเลยไม่ผิดสัญญาตามฟ้อง คดีมีประเด็นว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าหรือไม่ จำเลยมีสิทธินำพยานเข้าสืบตามประเด็นดังกล่าวได้ ไม่เป็นการนำสืบนอกคำให้การ

- จำเลยยอมรับแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1392/2545

          ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ทราบว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทต่อกันไว้ก่อนแล้วการที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
          จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำไว้กับโจทก์จริงจึงไม่ต้องนำสัญญาจะซื้อขายมาแสดงฉะนั้นแม้หนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกันไว้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2552
          หนังสือสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยระบุว่าทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างกับบริษัทโจทก์ผู้รับจ้าง แม้ ด. กรรมการของโจทก์คนหนึ่งจะลงลายมือชื่อในสัญญาว่าจ้างดังกล่าวโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ตามข้อบังคับที่จดทะเบียนไว้ซึ่งอาจไม่สมบูรณ์ในฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ แต่โจทก์ได้รับเอางานจ้างดังกล่าวมาทำอันแสดงว่าโจทก์ยอมรับหนังสือสัญญาว่าจ้างดังกล่าว และเมื่อมีเหตุผิดสัญญาโจทก์ก็ได้ฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา จึงถือได้ว่า ด. ทำสัญญาว่าจ้างในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานการแต่งตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ เนื่องจากสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนี้ สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยจึงมีผลผูกพันโจทก์
          สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งจะต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร แต่จำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยตามฟ้องกับโจทก์ตามฟ้องจริง มิได้ปฏิเสธถึงความถูกต้องของข้อความในสัญญา เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดเพราะจำเลยที่ 2 ลงลายชื่อในสัญญาว่าจ้างดังกล่าวโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายหรือแต่งตั้งให้กระทำการแทนเท่านั้น จึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยกับโจทก์ได้ไม่จำเป็นต้องอาศัยหนังสือสัญญาว่าจ้างเป็นหลักฐานในคดี ฉะนั้น แม้สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ไม่ต้องห้ามรับฟังตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118
          สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยระบุว่าทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างกับโจทก์ผู้รับจ้าง ทั้งหลังจากทำสัญญาว่าจ้างแล้วจำเลยที่ 1 ก็ได้รับเอางานที่โจทก์รับจ้างทำทั้งหมด และได้จ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาบางส่วนให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ก็ได้ทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์เอง พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดให้จำเลยที่ 2 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนในการเข้าทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821

-  ขึ้นเงินจำนอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 41/2541

          หนังสือสัญญาจำนองที่ดินและบันทึกข้อตกลงเรื่องขึ้น เงินจำนองถูกอ้างในฐานะเป็นเพียงหลักฐานในการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 อย่างหนึ่งเท่านั้นมิใช่เป็นลักษณะแห่งตราสารการกู้ยืมเงินอันจะพึงต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แต่อย่างใดศาลจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ จำนวนเงินค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นดุลพินิจของแต่ละศาลซึ่งจะกำหนดให้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้คดีหรือดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่งโดยศาลต้องกำหนดค่าทนายความระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อจำเลยทั้งสองอุทธรณ์มาหลายข้อซึ่งส่วนมากฟังไม่ขึ้น คงฟังขึ้นเพียงข้อเดียวซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นบางส่วนเฉพาะที่ให้ยกคำขอที่ว่าหากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบเท่านั้น นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งหมด ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,500 บาท แทนโจทก์จึงเป็นการสมควรแล้ว

-  ไม่ได้อ้างว่าเป็นใบรับเงิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2889/2553

          ขณะโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ทราบว่ามีข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินพิพาท นิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระราคาที่ดินที่เหลือแก่จำเลยที่ 1 อีก การที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเพราะต้องการที่ดินพิพาทโดยไม่รู้มาก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายที่กำหนดข้อห้ามโอนไว้ กรณีดังกล่าวไม่ใช่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระหรือกระทำการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินที่ค่าที่ดินที่ได้ชำระมาแล้วให้แก่โจทก์
          โจทก์อ้างหนังสือสัญญาซื้อขายเพื่อแสดงข้อเท็จจริงต่อศาลว่าได้มีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้อ้างเพื่อแสดงข้อเท็จจริงว่าเป็นใบรับ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์และไม่ต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118

 

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 6

ลูกหนี้ล้มละลาย ข้าพเจ้าได้เข้าไปขอเฉลี่ย ยื่นคำร้องไม่ได้ติดแสตมป์ (ไม่ทราบจริง)เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้ให้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ข้าพเจ้าจะขออุทรได้หรือไม่

โดยคุณ นายสำราญ เกิดเนตร 3 เม.ย. 2561, 02:55

ความคิดเห็นที่ 5

ถ้าผมให้คนยืมเงิน 100,000 บาท ผมต้องติดอากรเท่าไรครับ

โดยคุณ ม.ล.สกุลทอง ทองใหญ่ 22 ธ.ค. 2559, 14:26

ความคิดเห็นที่ 4

ขอปรึกษาครับ สัญญากู้หลักติดอากรในอัตราสูงสุด คือ 10,000 บาท แล้ว ต่อมามีการเพิ่มเติมวงเงินกู้อีก 
ประเด็น คือ ต้องติดอากรเพิ่มในส่วนของวงเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นไหมครับ

โดยคุณ ชัย 2 มี.ค. 2558, 13:32

ความคิดเห็นที่ 3

ภรรยา   ทำสัญญาจ้างเหมาสร้างบ้านระหว่างบุคคลธรรมดา กับ  บุคคลธรรมดา   จำนวน  1.7  บาท  ภายหลังเกิดปัญหาระหว่างสามีภรรยา  ต้องเลิกกันเป็นเรื่องต้องฟ้องศาลโดย  ภรรยาใช้เอกสารสัญญาจ้างเหมาเป็นพยานศาล   ถามว่า

-  สัญญาจ้างเหมาดังกล่าง  ต้องติดอากรหรือไม่

-  หากต้องติดต้องติดเท่าไหร่  อย่างไร

-  หากสัญญาฯไม่ได้ติดไว้แต่ต้น  จะสามารถติดภายหลังได้หรือไม่

-  สามารถให้เป็นพยานศาลแพ่งได้หรือไม่(ฟ้องแบ่งทรัพย์สินที่ทำมาหาร่วมกัน)

ขอบคุณค่ะ

โดยคุณ เกด 14 ธ.ค. 2555, 10:37

ความคิดเห็นที่ 2

ขอบพระคุณมากค่ะ จะสอบเรื่องนี้พอดี

โดยคุณ 1 ต.ค. 2555, 15:32

ความคิดเห็นที่ 1

มีประโยชน์ มากครับ จะได้เอาไว้ระวังตัว เพื่อไม่ให้ต้องสูญเสียเงิน โดยใช่เหตุ

ผมไม่ใช่นักปล่อยเงินกู้ แต่ การที่ต้องยอมให้คนอื่นกู้ ก็ ด้วยเห็นแก่หน้าค่าตา ฯลฯ

โดยคุณ ชุติธร วรรณวิทย์ 20 ก.ค. 2555, 21:47

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก