อยากย้ายออกจากหอ แต่ติดสัญญาเงินค้ำประกัน|อยากย้ายออกจากหอ แต่ติดสัญญาเงินค้ำประกัน

อยากย้ายออกจากหอ แต่ติดสัญญาเงินค้ำประกัน

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

อยากย้ายออกจากหอ แต่ติดสัญญาเงินค้ำประกัน

ผมเพิ่งย้ายเข้าหอใหม่มาได้ 2 เดือน แต่พบปัญหามากมายเลยอยากย้ายออก

บทความวันที่ 23 ส.ค. 2553, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 5808 ครั้ง


อยากย้ายออกจากหอ แต่ติดสัญญาเงินค้ำประกัน

          ผมเพิ่งย้ายเข้าหอใหม่มาได้ 2 เดือน แต่พบปัญหามากมายเลยอยากย้ายออก  แต่ติดปัญหาเรื่องสัญญา  เขาบอกไว้ว่าจะหักค่าประกันครึ่งนึง อยากทราบว่าเคสของผมจะได้เงินค่าประกันคืนทั้งหมดไหมครับ  ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาได้พบปัญหาหลักๆ ดังนี้ คือ
          1. น้ำหยดในห้องน้ำจนฝ้าทะลุเป็นรู จนทุกวันนี้ก็ยังหยดอยู่ (สกปรกมาก หยดใส่อ่างจนอ่างเป็นคราบดำๆ เต็มอ่าง) หยดตลอดเวลาทุกๆ 10-15 วิ
แจ้งไปตั้งแต่วันแรก จนวันนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข
          2. น้ำไหลออกมาจากท่อที่ระเบียง แต่จะไหลแรงกว่าในห้องน้ำ + มีฟองออกมาด้วย  สันนิษฐานว่าเป็นน้ำซักผ้ารั่วออกมา ซึ่งมาโดนเสื้อผ้าที่ตากไว้
อันนี้ 2 เดือน โดนมา 2 ครั้ง ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
         3. ในเดือนแรก น้ำไม่ไหลไป 2 ครั้ง (น้ำหมดแทงค์) ห้องผมได้รับการแก้ไขช้าที่สุด ห้องอื่นน้ำมาหมดแล้ว เหลือห้องผม พอผมแจ้งไปก็ได้รับการแก้ไขปัญหาช้ามาก การแก้ปัญหาคือ บอกให้ผมไปอาบน้ำในห้องชั้น 8 (ซึ่งยังไม่มีคนอยู่) ก่อน  ในการเกิดปัญหาแต่ละครั้ง ใช้เวลา 3-4 วันกว่าน้ำจะไหล ในอนาคตถ้าน้ำหมดแทงค์ไม่รู้จะพบปัญหานี้อีกรึเปล่า
         4. เรื่องค่าไฟ ผมอยู่ห้องเก่า ห้องใหญ่กว่านี้เท่าตัว เครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนกันหมด  พฤติกรรมการใช้ไฟก็เหมือนกันทุกอย่างยกเว้นการใช้แอร์  หอเก่าผมเปิดแอร์วันนึง 12-16 ชั่วโมง ค่าไฟเดือนละประมาณ 2000  หอใหม่นี้ผมเปิดแอร์วันนึงประมาณ 6 ชั่วโมง ค่าไฟเดือนล่าสุด 2300 (ที่ผมใช้ประหยัดกว่าหอเก่าเพราะ เดือนแรกที่เข้ามา อยู่แค่ 8 วัน ค่าไฟ 581 บาท ซึ่งเยอะผิดปกติมาก ต่อมาเลยลองใช้ประหยัดขึ้น) ทำให้ผมคิดว่ามันผิดปกติ เลยแจ้งคนดูแลหอ
เถียงกันไปมาจนเค้าบอกว่า จะเปลี่ยนมิเตอร์ไฟให้   แต่ถ้าเปลี่ยนแล้วปรากฎว่ากินไฟเหมือนเดิม ให้ผมออกค่ามิเตอร์ไฟที่เอามาใหม่เอง !!!
          ค่าไฟยูนิตละ 7 บาท  ค่าน้ำเหมาจ่ายคนละ 150 ผมอยู่ 2 คนเดือนละ 300 (อยู่ที่เก่าขั้นต่ำ 100 ใช้ไม่เคยเกินเลย)  หลักๆ ก็มีเท่านี้ครับ โดนเฉพาะข้อ 4 ที่ทำให้ผมไม่พอใจสุดๆ  ผมเลยอยากย้ายออกครับ แต่ติดสัญญา ไม่ทราบว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างครับ  ผมมีสัญญาเช่ามาให้ดู เอาเฉพาะข้อสำคัญๆนะครับ
          ข้อ 4. อัตราค่าเช่าและระยะเวลาการเช่า คู่สัญญาตกลงเช่าทรัพย์ตามข้อ 1. มีกำหนดเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 12 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2553 ถึงวันที่ 16 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2554 โดยอัตราค่าเช่าเดือนละ 4,800 บาท และผู้เช่าตกลงชำระค่าเช่าล่วงหน้าของเดือนสุดท้ายให้ไว้แก่ผู้เช่าเป็นเงินจำนวน 4,800 บาท ในสัญญานี้แล้ว และผู้ให้เช่าได้รับเงินดังกล่าวไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับค่าเช่าปกตินั้น ผู้เช่าตกลงชำระให้แก่ผู้เช่าตั้งแต่วันที่ 20 ถึงวันสิ้นเดือนของทุกเดือน
          ข้อ 6. เงินประกันการเช่า ในวันที่ทำสัญญานี้ ผู้เช่าได้วางเงินประกันจำนวน 13,000 บาท ให้แก่ผู้เช่า เงินประกันดังกล่าว เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงไปไม่ว่ากรณีใดๆ หากผู้เช่าไม่ได้ติดค้างค่าเช่า หรือก่อความเสียหายใดๆแก่ผู้เช่า ผู้ให้เช่าคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เช่า แต่หากผู้เช่ายังค้างค่าเช่า หรือก่อความเสียหายใดๆแก้ผู้ให้เช่า ผู้เช่ายินยอมให้ผู้ให้เช่านำค่าเช่าที่ค้างชำระหรือค่าเสียหายมาหักจากเงินประกันดังกล่าวได้
          ข้อ 14. การเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าโดยผู้เช่า ในกระณีที่ผู้เช่าประสงค์จะยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตาม ข้อ 4. ผู้เช่าจะต้องมีคำบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้ให้เช่าทราบไม่น้อยกว่า 1 เดือน และผู้เช่าตกลงที่จะจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้เช่าเป็นเงินจำนวนร้อยละห้าสิบของเงินค่าอายุสัญญาเช่าที่เหลือ เพื่อเป็นค่าตอบแทนความเสียหายในการที่ผู้เช่ายกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด แล้วก็จะมีกฎระเบียบแนบมาในสัญญาเช่าด้วย ซึ่งบางข้อผมอยากถามว่า มันผิดกฎหมายรึเปล่าครับ เช่นข้อนี้
          ข้อ 17. ในกรณีผู้เช่าชำระค่าเช่าเกินกำหนดระยะเวลาตามที่กำหนดในสัญญาเช่า ผู้เช่าตกลงยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ผู้เช่าดังนี้ เกินกำหนด 3 วันแรก เสียวันละ 100 บาท วันที่ 4-6 เสียวันละ 200 บาท และวันที่ 7-10 เสียวันละ 250 บาท (การผิดนัดชําระหนี้กฎหมายให้เรียกค่าเสียหายได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น)
          ข้อ 18. เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้เช่าตกลงยินยอมเสียค่าทำความสะอาดห้องพัก เป็นเงินจำนวน 500 บาท และค่าทาสีห้องพักอีกเป็นเงินจำนวน 1,500 บาทให้แก่ผู้ให้เช่า (ถ้าผมย้ายออกต้องเสียส่วนนี้ไหมครับ แล้วถ้าต้องเสียผมสามารถเรียกร้องให้ทางผู้ให้เช่าลดราคาลงได้หรือไม่ครับ เพราะมันแพงเกินจริงมาก)

คำแนะนำทนายคลายทุกข์
           1. เมื่อมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นแก่ห้องเช่าของท่าน  ซึ่งถือเป็นความบกพร่องอันเกิดแก่ทรัพย์สินที่เช่านั้น  และตามกฎหมายย่อมไม่เป็นเหตุถึงแก่ท่านผู้เช่าจะต้องปราศจากการใช้และประโยชน์  และผู้ให้เช่ายังสามารถแก้ไขปัญหาแห่งการชำรุดบกพร่องนั้นก่อนแล้ว  แต่ผู้ให้เช่าไม่จัดการแก้ไขทำให้คืนดีภายในเวลาอันสมควร  ดังนั้น ท่านในฐานะที่เป็นผู้เช่า  ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่ารายนี้เสียได้  เมื่อความชำรุดบกพร่องแห่งห้องที่เช่านั้นร้ายแรงถึงสมควร  ตามความแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 551  ดังนั้น  เหตุแห่งการบอกเลิกสัญญาเช่านั้น  ย่อมถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่เป็นความผิดของผู้ให้เช่าเอง  อันเป็นการผิดสัญญาเช่า  ท่านย่อมใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดระยะเวลาเช่าได้   โดยต้องคืนเงินประกันความเสียหายให้แก่ท่านทั้งหมด
          2.  และการที่สัญญาเช่าได้มีระเบียบกรณีที่ผู้เช่าผิดนัดชำระค่าเช่าเกินกำหนดไว้  อันเป็นการเรียกค่าปรับหรือเบี้ยปรับจากผู้เช่า  ย่อมเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า  ซึ่งทางผู้ให้เช่าย่อมมีสิทธิเรียกจากผู้เช่าได้ตามกฎหมาย  หากผู้เช่าผิดนัดชำระค่าเช่านั้น  แต่ถ้าค่าปรับที่กำหนดไว้เป็นจำนวนที่สูงเกินส่วน  หากคดีมาสู่ศาล  ศาลย่อมมีอำนาจลดเบี้ยปรับหรือค่าปรับเป็นจำนวนพอสมควรได้  ตามความแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 383
          3. ส่วนข้อสัญญาที่ผู้เช่าตกลงยินยอมชำระค่าทำความสะอาดห้องเช่าและค่าทาสี  กรณีที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงนั้น  ข้อสัญญาดังกล่าว  ย่อมเป็นข้อสัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ให้เช่าเรียกร้อง หรือ กำหนดให้ผู้เช่า  ต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญาเช่า  จึงย่อมเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่า  ทำให้ผู้ให้เช่าได้เปรียบแต่เพียงผู้เช่าอันเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง  ข้อสัญญานี้ย่อมเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  จึงไม่มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540  มาตรา 4 วรรค 3(5) ดังนั้น เมื่อท่านย้ายออก  ท่านย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้เช่าลดราคาลงเพียงจำนวนเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรก็ได้  หากผู้ให้เช่าไม่ยินยอม  ท่านก็ต้องฟ้องคดีต่อศาลต่อไปตามสิทธิ

ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 383
  ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป
นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา 379 และ 382 ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับ ในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย

มาตรา 551  ถ้าความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินที่เช่านั้นไม่เป็นเหตุถึงแก่ผู้เช่าจะต้องปราศจากการใช้และประโยชน์ และผู้ให้เช่ายังแก้ไขได้ไซร้ ผู้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้ให้เช่าให้จัดการแก้ไขความชำรุดบกพร่องนั้นก่อน ถ้าและผู้ให้เช่าไม่จัดทำให้คืนดีภายในเวลาอันสมควรผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ หากว่าความชำรุดบกพร่องนั้นร้ายแรงถึงสมควรจะทำเช่นนั้น

พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 
มาตรา 4 
ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความสัญญาสำเร็จรูปไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น
ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น
(1)  ข้อตกลงยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญา
(2)  ข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
(3)  ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ
(4)  ข้อตกลงให้สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือปฏิบัติตามสัญญาในระยะเวลาที่ล่าช้าได้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(5)  ข้อตกลงให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเรียกร้องหรือกำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา
(6)  ข้อตกลงในสัญญาขายฝากที่ผู้ซื้อฝากกำหนดราคาสินไถ่สูงกว่าราคาขายบวกอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปี
(7)  ข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดราคาค่าเช่าซื้อ หรือกำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร
(8)  ข้อตกลงในสัญญาบัตรเครดิตที่กำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าใช้จ่ายหรือประโยชน์อื่นใดสูงเกินกว่าที่ควรในกรณีที่ผิดนัดหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการผิดนัดชำระหนี้
(9)  ข้อตกลงที่กำหนดวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นที่ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร
ในการพิจารณาข้อตกลงที่ทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามวรรคสาม จะเป็นการได้เปรียบเกินสมควรหรือไม่ ให้นำมาตรา 10 มาใช้โดยอนุโลม

 

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1

 โดนเหมือนกันค่ะ เพิ่งย้ายออกจากหอแต่ถูกปรับค่าทำประตูตู้เย็นเป็นรอย ซึ่งเกิดจากความร้อนจากที่หนีบผมไปโดนทำให้ขอบตู้เย็นละลายยาวประมาณ2-3ซม. แต่เค้าให้เราจ่าย 4,800 บาท เพราะต้องซื้อใหม่ ทั้งที่ตู้เย็นอันนี้ก็สามารถใช้งานได้ดีไม่มีอะไรเสียหาย เพราะเราทำความสะอาดบ่อย ซึ่ง4,800นี้ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟที่ต้องจ่าย ซึ่งทั้งหมดจะถูกหักจากเงินค่ามัดจำ 7,000 บาท ซึ่งมันเกินไปค่ะที่มาขูดรีดกันแบบนี้ ซึ่งพอจะมีทางไหนช่วยแก้ปัญหานี้ได้บ้างค่ะ

โดยคุณ Supitcha 30 ธ.ค. 2557, 06:53

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก