ผู้บริโภคควรรู้อะไรเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551|ผู้บริโภคควรรู้อะไรเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551

ผู้บริโภคควรรู้อะไรเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

ผู้บริโภคควรรู้อะไรเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551

ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2551 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความผู้บริโภค พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่ถือว่าก้าวหน้ามากที่สุดในยุคปัจจุบัน

บทความวันที่ 4 ก.ย. 2551, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 6833 ครั้ง


ผู้บริโภคควรรู้อะไรเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551

ผู้บริโภคควรรู้อะไรเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551

 

       ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2551 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความผู้บริโภค พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่ถือว่าก้าวหน้ามากที่สุดในยุคปัจจุบัน สามารถตอบสนองความต้องการและความทุกข์ยากของประชาชนเกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการหรือนายทุนมากที่สุด หลังจากที่ชาวบ้านผิดหวังกับการพึ่งพาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรีมานาน

      

       กฎหมายฉบับนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับคณะทำงานของศาลยุติธรรม ที่เล็งเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน เพราะเห็นว่าผู้บริโภคมักถูกเอารัดเอาเปรียบในสินค้าและบริการมาตลอดระยะเวลายาวนาน อันเนื่องมาจากคุณภาพของสินค้าและบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไม่เป็นไปตามการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่เป็นไปตามคำรับรอง หรือตราหรือโลโกหน่วยงานมาตรฐานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่รับรองไว้ จนต้องเกิดกรณีมีข้อพิพาทขึ้นมากมาย อีกทั้งกระบวนการเรียกร้องค่าเสียหายต้องใช้เวลานานและยุ่งยาก

      

       ดังนั้นศาลยุติธรรมจึงได้เสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนสามารถนำกฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้ช่วยเหลือชาวบ้านหรือผู้บริโภคได้ (แปลกใจไหมว่าเรามี ส.ส.กันมามากมายหลายยุคสมัย ทำไมไม่คิดเสนอกฎหมายประเภทนี้กันเลย) กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค จึงเป็นกฎหมายที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค และขณะเดียวกันจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ พร้อมหันมาพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้นโดยเร็วในอนาคตอันใกล้ เพราะหากยังคงใช้แนวคิดเดิม ๆ ในการทำธุรกิจค้าขายสินค้าและบริการ ที่เอาเปรียบผู้บริโภคทุกวิถีทาง ก็จะพบกับการลงโทษทางกฎหมายอย่างสูงสุด

      

       กฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีทางแพ่ง (เป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง) โดยเป็นกฎหมายเพื่อการเยียวยาด้วยความรวดเร็วให้แก่ผู้บริโภค เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติของการดำเนินคดีทางศาลจากระบบกล่าวหา คือ ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่หรือภาระในการนำสืบหรือพิสูจน์ให้ศาลเห็น มาเป็นระบบไต่สวน คือ ศาลมีอำนาจในการเรียกพยานหลักฐานทั้งฝ่ายกล่าวหาและผู้ถูกล่าวหามาให้ศาลพิจารณาได้ตามสมควร โดยผู้ที่เสียหายจากการบริโภคสินค้าและบริการ ไม่จำเป็นต้องไปเสาะแสวงหาทนายความมาช่วยดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายหรือสินไหมทดแทนให้ เหมือนในคดีความปกติก็ได้ (ถ้าจะมีก็ได้) เพราะสำนักงานศาลคดีผู้บริโภคที่เกิดขึ้นใหม่จะมีบุคลากรของศาลมาช่วยดำเนินการทางคดีให้กับผู้ร้องทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การไต่สวน รับคำร้องเรียนจะด้วยวาจาหรือเอกสารก็ได้ ทำคำฟ้องให้

      

       ถ้าเรื่องที่เดือดร้อนสามารถที่จะนำไปสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ เจ้าหน้าที่ของศาลก็จะดำเนินการให้ก่อนเป็นหลักก่อนๆ ที่จะส่งสำนวณคดีเข้าสู่กระบวนการสืบพยานโจทก์และจำเลยหากไม่สามารถตกลงกันได้ ดังนั้นคดีผู้บริโภคจำนวนมากคาดว่าจะสามารถยุติลง หรือจบลงด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ยในเบื้องต้นก่อนได้เป็นจำนวนมาก (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็ใช้วิธีการไกล่เกลี่ยเช่นนี้เช่นกัน แต่ก็มักเป็นกรณีเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเป็นกรณีใหญ่ๆ ก็ไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่ชัดเจนมาดำเนินการได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้) ที่สำคัญ การฟ้องคดีประเภทนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งปวง เว้นแต่หากปรากฏแก่ศาลว่า ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุอันควร มีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม ประวิงคดี ศาลอาจจะสั่งให้ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมได้ ถ้าไม่ชำระศาลก็จะสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้

      

       เมื่อกฎหมายนี้ เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมาก ก็อาจจะทำให้ผู้คนแห่แหนกันมาใช้บริการศาลคดีผู้บริโภคกันมาก บางครั้งอาจจะใช่หรือไม่ใช่คดีเกี่ยวกับผู้บริโภค ชาวบ้านก็อาจจะมาร้องกันเปรอะไปหมดหรือไม่ หากมีกรณีเช่นว่านี้ว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่นั้น ทางออกก็คือ ศาลอุทธรณ์จะเป็นผู้วินิจฉัย และคำวินิจฉัยของศาลจะเป็นที่สุด ส่วนในเรื่องอายุความนั้น ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้น และข้อเท็จจริงบางอย่างเป็นรายกรณี เช่น ถ้าเป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรือ อนามัย อายุความใช้สิทธิเรียกร้องกันนั้นกฎหมายจะระบุว่าเป็นภายใน 3 ปี หรือ 10 ปี แล้วแต่กรณี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย นอกจากนี้ หากมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันเกี่ยวกับค่าเสียหายที่พึงชดใช้กันก่อนได้ อายุความก็จะสะดุดหยุดอยู่ไม่นับต่อไป

      

       ในการฟ้องคดีต่อศาลคดีผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคที่เสียหายจากสินค้าหรือบริการ พึงต้องสังวรไว้ก่อนว่าตนเองต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นจริง ต้องมีข้อเท็จจริง มีพยานหลักฐานเพื่อนำเสนอต่อศาลให้เห็นหรือเข้าใจได้ และต้องระบุคำขอไว้ให้ชัดว่าจะให้ศาลบังคับคดีให้อย่างไร เริ่มจากต้องรู้ว่าเราจะฟ้องหรือกล่าวหาใคร ด้วยเรื่องอะไร มีพยานหลักฐานใดเก็บไว้บ้าง เช่น ทุกครั้งที่ซื้อสินค้าและบริการต้องเรียกร้องเอาใบเสร็จรับเงิน ใบเสร็จนั้นๆ จะต้องมีการเขียนข้อมูลที่ครบถ้วน มีชื่อ ที่อยู่ ของผู้ประกอบการของผู้ผลิต ผู้ขาย เพื่อที่จะใช้เป็นหลักฐานว่าได้ซื้อสินค้าและบริการมาจากใคร ที่ไหน เมื่อใด ราคาเท่าใด เพื่อที่จะฟ้องได้ถูกตัวนั่นเอง

      

       หากสินค้าและบริการนั้นๆ มีการพิมพ์โปสเตอร์ ใบปลิว แผ่นพับ หรือเอกสารโฆษณาใดๆ หรือแม้แต่ใบรับรองสินค้า ใบรับประกันสินค้า เพื่อประกอบการขายหรือบริการไว้ ก็ควรที่จะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย เพราะกฎหมายถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา สามารถใช้นำมาเป็นหลักฐานในการบังคับให้ผู้ประกอบการสินค้าและบริการรับผิดชอบได้ หากไม่สามารถหาได้ก็อาจจะใช้ภาพถ่ายที่มี หรือใบเสร็จที่เกิดขึ้นจากการซ่อมแซมสินค้า รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ ที่จำเป็น เช่น ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้สินค้านั้นๆ หรือถ้าไม่มีหลักฐานใดๆ ก็อาจจะต้องนำตัวอย่างสินค้าที่ใช้นั้นไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่โรงพัก แล้วขอคัดถ่ายสำเนาพร้อมให้ตำรวจรับรองสำเนา มาประกอบการร้องหรือฟ้องก็ได้

      

       กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคฝ่ายเดียวไม่ หากแต่ผู้ประกอบการต่างๆ กฎหมายก็รับรองสิทธิให้ด้วยอย่างเท่าเทียมกัน ผู้ประกอบการก็มิสิทธิฟ้องผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน อาทิ กรณีเป็นหนี้บัตรเครดิต กรณีหนี้จากการเช่าซื้อยานยนต์ ฯลฯ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิฟ้องร้องไล่เบี้ยเอากับผู้บริโภคได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นการไล่เบี้ยเอาด้วยความเป็นธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น ไม่ใช่จะขูดเข็ญเรียกเอาค่าเสียหาย ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยเท่าใดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องการฟ้องผู้บริโภคนั้น กฎหมายกำหนดให้ฟ้องได้เฉพาะผู้บริโภคเท่านั้น ถ้าเป็นประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบ หรือส่วนผสมของสินค้า การให้บริการ หรือการดำเนินการใดๆ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นเหล่านี้ จะตกแก่ผู้ประกอบธุรกิจ

      

       หากเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีผู้บริโภคใดแล้วต่อมาภายหลังปรากฏว่ามีการฟ้องกับผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวกันอีกโดยมีข้อเท็จจริงที่พิพากษาเป็นอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ศาลในคดีหลังอาจมีคำสั่งให้ถือว่าข้อเท็จจริงในประเด็นเป็นอันยุติไม่ต้องสืบพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งก็จะทำให้กรณีพิพาทเสร็จสิ้นเร็วขึ้น ไม่เป็นภาระต่อรูปคดีและศาล

      

       ในการดำเนินคดีผู้บริโภคนั้น ศาลท่านจะพิจารณาตรวจสอบถึงความสุจริตในการฟ้องร้องคดีที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ ผู้บริโภคที่มาร้องเรียนต่อศาล จะต้องมีความเดือดร้อนจริง เสียหายจริง อย่าคิดว่าฟ้องเล่น ๆ หรือกลั่นแกล้งเจ้าของสินค้าหรือบริการให้เสียหายเล่น ๆ เพราะอาจมีความผิดตามกฎหมายได้ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน...

ขอขอบคุณบทความจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

 

 

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 4

 อาจารย์ค่ะ ดิฉันยื่นฟ้องค่ายรถยนต์คดีผู้บริโภคสินค้าไม่ปลอดภัย..ศาลแจ้งว่าควรมีทนาย กำลังหาทนายอยู่ค่ะ ขอปรึกษาเพิ่มเติมค่ะ   เวลารถเกิดปัญหาเราไม่ได้บนทึกบันทึกถาพ หลักฐานไว้ พอโทรแจ้งcall centetเขาให้นำรถเข้าศูนย์ เข้าไปจูนเครืองใหม่  แล้วนำมาใช่ก่อน  เราจะพิสูจน์ปัญาที่เคยเกิดอันตรายได้อย่างไรคะ

โดยคุณ รวินดา 24 เม.ย. 2557, 00:23

ความคิดเห็นที่ 3

เมื่อเช้า นี้ ดิฉันไปศาลแขวงพระนครเหนือ ดิฉันซื้อคอมจากร้านคอมที่ไม่ได้เป็นศูนย์ของ hp ที่นนทบุรี แล้วใช้ในเขตหลักสี่กรุงเทพ พอมีเรื่องดิฉันจะฟ้อง hp ศูนย์ใหญ่ที่บางรัก เจ้าหน้าที่บอกว่าศาลแขวงพระนครเหนือไม่มีอำนาจ บอกให้ไปฟ้องที่นนทบุรีแทน ทำไมต้องไปฟ้องที่นนท์คะ ในเมื่อดิฉันไม่ได้ฟ้องร้านที่ขายให้ในจังหวัดนนท์ แต่บ้านดิฉันที่เอาคอมมาเล่นอยู่หลักสี่ ต้องฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือ เจ้าหน้าตอนแรกให้้ไปฟ้องที่นนท์ พอรู้ว่าดิฉันไม่ได้ฟ้องร้าน แต่ฟ้องศูยน์ hp ใหญ่ ที่บางรัก เลยแนะให้ไปฟ้องที่ศาลแขวงพระนครใต้แทน ซึ่งไกลบ้านดิฉันอีก แสดงว่าเจ้าหน้าที่ก็ไม่ชัวร์ในตรงนี้ แล้วยังเอาหนังสือกม. ป.ทวิ มาอ้างอีก หาว่าเราไม่รู้กม.เท่าเขา เสียเวลามากๆ จะบอกว่าไปศาลพระแขวงนครเหนือ มาสองครั้งแล้ว ครั้งแรกเจอเจ้าหน้าที่ ซีสี่ เขาก็เอาสำนวนเราไปอ่าน ก็ไม่เห็นว่าอะไร แต่ไปวันนี้เตรียมตัวไปส่งคำฟ้อง เจอซีสาม เรื่องมากจริงๆ แถมให้เราไปฟ้องที่อื่นอีก เลยอยากทราบว่าจริงๆ จะสามารถฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือได้ไหมคะขอความรู้ด้วยค่ะ แต่เวลาฟ้องคงไปที่พระนครใต้แทนค่ะ เนื่องจากไม่อยากเถียงกับเจ้าหน้าที่


โดยคุณ แอนดี้ 1 ก.ย. 2553, 12:16

ความคิดเห็นที่ 2

ขอความกรุณา  ที่พอจะมีฎีกาเกี่ยวกับคดีผู้บริโภค  คือหามาหลายที่แล้วแต่หาไม่ได้เลย  อยากที่เกี่ยวกับความรับผิด ทางแพ่ง อาญา และวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคน่ะคะ

โดยคุณ PIK 14 ก.พ. 2552, 23:01

ความคิดเห็นที่ 1

ทนายคลายทุกข์ขอนำกฎหมายพิจารณาคดีผู้บริโภคมานำเสนอให้ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธินำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากไม่ต้องเสียเงินเสียทอง ไม่ต้องจ้างทนาย การพิจารณาคดีทำได้ง่ายมีเจ้าพนักงานคดีของศาลช่วยเหลือโดยตลอด การสืบพยานก็เป็นเรื่องง่าย ระยะเวลาในการพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นชัดเจนไม่เกิน 30 วัน ฟ้องที่ไหนก็ได้ทั่วราชอาณาจักร ตามภูมิลำเนาของผู้บริโภค หวังผลทางกฎหมายได้เป็นอย่างดี ดีกว่าร้องเรียนตามศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐ ซึ่งไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย แต่ศาลคดีผู้บริโภคมีผลบังคับตามกฎหมายชัดเจนที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปฏิบัติตาม วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 กฎหมายกำหนดไว้ 66 มาตรา พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 3 กำหนดความหมายเกี่ยวกับคดีผู้บริโภค พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 หมวดที่ 1 บททั่วไป ตั้งแต่มาตรา 7 ถึงมาตรา 16 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 หมวดที่ 2 วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคในศาลชั้นต้น ตั้งแต่มาตรา 17 ถึงมาตรา 44 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 หมวดที่ 3 อุทธรณ์ ตั้งแต่มาตรา 45 ถึงมาตรา 50 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 หมวดที่ 4 ฎีกา ตั้งแต่มาตรา 51 ถึงมาตรา 55 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 หมวดที่ 5 วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ตั้งแต่มาตรา 56 ถึงมาตรา 63 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 หมวดที่ 6 การบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตั้งแต่มาตรา 64 ถึงมาตรา65 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 บทเฉพาะกาล มาตรา 66 รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ มนต์ชัย ชนินทรลีลา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 24 สิงหาคม 2551 โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้คือ ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ขาดความรู้ในเรื่องคุณภาพสินค้าหรือบริการ ตลอดจนเทคนิคการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งยังขาดอำนาจต่อรองในการเข้าทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ ทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ นอกจากนี้เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น กระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายต้องใช้เวลานานและสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้บริโภคที่จะต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งไม่อยู่ในความรู้เห็นของตนเอง อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสูง ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบจนบางครั้งนำไปสู่การใช้วิธีการที่รุนแรงและก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม (เช่น กรณีทุบรถประจาน) อันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ขณะเดียวกันเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น สำหรับตัวอย่างคดีผู้บริโภค เช่น คดีที่ผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจให้รับผิดตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (ส่วนใหญ่เป็นกรณีไม่ก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ไม่โอนกรรมสิทธิ์ ไม่จัดทำสาธารณูปโภค ฟ้องให้รับผิดในความชำรุดบกพร่อง), ฟ้องผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นโรงพยาบาล คลินิก หรือสถานเสริมความงามในเรื่องละเมิดที่เกี่ยวกับการให้บริการสาธารณสุข, ฟ้องผู้รับประกันภัยเกี่ยวกับสัญญาประกันวินาศภัย ประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ คดีที่ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อสินค้า บัตรเครดิต หรือให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล หรือกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฟ้องบังคับลูกค้าให้ชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ สัญญาบัตรเครดิต สัญญาให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล หรือสัญญากู้ยืมเงิน, คดีที่นิติบุคคลอาคารชุดหรือนิติบุคคลบ้านจัดสรรฟ้องบังคับเจ้าของอาคารชุดหรือบ้านจัดสรรให้รับผิดในค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง, คดีที่มีกฎหมายให้สิทธิผู้บริโภคหรือผู้ได้รับความเสียหายฟ้องร้องผู้ประกอบธุรกิจ เช่น ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบขายตรง พ.ศ.2545 มาตรา 33 หรือพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 มาตรา 40 คดีแพ่งเรื่องใดจะเป็นคดีผู้บริโภคหรือคดีแพ่งทั่วไปย่อมมีความสำคัญมากต่อระบบวิธีพิจารณาที่จะนำมาใช้และสิทธิหน้าที่ของคู่ความในคดี เพราะคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ได้บทบัญญัติให้คดีผู้บริโภคมีความสะดวก ประหยัด รวดเร็ว ไม่เป็นทางการ มีความยืดหยุ่นและแตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไปหลายประการ เนื่องมาจากการที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอยู่ในฐานะที่ไม่เท่าเทียมกัน ฉะนั้นหากเกิดกรณีที่มีปัญหาโต้แย้งว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ ภายในวันนัดพิจารณาหรือในวันชี้สองสถานหรือวันสืบพยาน คู่ความอาจขอหรือศาลอาจเห็นสมควรให้ส่งเอกสารที่จำเป็นไปยังศาลอุทธรณ์ทางโทรสาร หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือเจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นที่ได้รับมอบหมายนำส่งโดยสาร เพื่อขอให้ 'ประธานศาลอุทธรณ์' (กลาง) เป็นผู้วินิจฉัยและแจ้งผลไปยังศาลชั้นต้นโดยเร็ว โดยคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงกระบวนพิจารณาใดๆ ที่ได้กระทำไปก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยนั้น กระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภค ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 แต่ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคลเกี่ยวกับข้อความหรือข้อตกลงตามประกาศโฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งตกลงจะมอบให้หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของ บริการ หรือสาธารณูปโภค หรือที่จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ได้ ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย โดยผลของสารที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้บริโภค หรือเป็นกรณีที่ต้องใช้เวลาในการแสดงอาการผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคต้องใช้สิทธิเรียกร้องใน 3 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิด แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย ถ้ามีการเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหายที่พึงจ่ายระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ไม่นับในระหว่างนั้นจนกว่าจะได้บอกเลิกการเจรจา เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความร้องขอ ศาลมีอำนาจย่นหรือขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีผู้บริโภคมีลักษณะที่ไม่เคร่งครัดต่อระเบียบพิธีการดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป และเพื่อมิให้เอาชนะกันโดยอาศัยเทคนิคทางกฎหมาย ตามหลักไม่เป็นทางการในการดำเนินกระบวนพิจารณา การฟ้องคดีผู้บริโภค การยื่นคำฟ้องหรือคำให้การคู่ความอาจกระทำด้วยวาจาผ่าน 'เจ้าพนักงานคดี' ก็ได้ ให้เจ้าพนักงานคดีดำเนินการเพื่อให้มีการจดบันทึกรายละเอียดแห่งคำฟ้อง แล้วให้โจทก์ลงลายมือชื่อ ทั้งนี้ให้โจทก์เสนอพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเท่าที่ทำได้มาพร้อมกับคำฟ้อง สำหรับการฟ้องเป็นหนังสือ ให้เจ้าพนักงานคดีช่วยเหลือในการจัดทำคำฟ้องตามสมควรแก่กรณี รวมทั้งให้ตรวจสอบสถานะการเป็นนิติบุคคลหรือภูมิลำเนาของคู่ความ โดยให้ระบุสถานที่ที่สามารถติดต่อได้โดยสะดวกและหมายเลขโทรศัพท์ของคู่ความไว้ด้วย แต่ทั้งนี้ต้องไม่มีลักษณะเป็นการกำหนดรูปคดีทำนองเดียวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ ในกรณีที่โจทก์ยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือ หากคำฟ้องไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญในบางเรื่อง เจ้าพนักงานคดีอาจให้คำแนะนำโจทก์เพื่อจัดทำคำฟ้องให้ถูกต้องครบถ้วน และศาลก็อาจสั่งให้แก้ไขคำฟ้องให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจจะฟ้องผู้บริโภคเป็นคดีผู้บริโภค และผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลอื่นได้ด้วย (เช่น ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล) ให้ผู้ประกอบธุรกิจเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้เพียงแห่งเดียว ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค สามารถฟ้องคดีโดยได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด การนัดพิจารณา เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว ให้ศาลกำหนดวันนัดพิจารณาโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน แล้วออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาลตามกำหนดนัดเพื่อการไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานในวันเดียวกัน และสั่งให้โจทก์มาศาลในวันนัดพิจารณานั้นด้วย ผู้ประกอบธุรกิจมี 'ภาระการพิสูจน์' ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบ ส่วนผสม การให้บริการ หรือการดำเนินการใดๆ ที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ การสืบพยานหลักฐาน ก่อนสืบพยานให้ศาลแจ้งประเด็นข้อพิพาท ภาระการพิสูจน์ในแต่ละประเด็น และลำดับก่อนหลังให้คู่ความทราบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร โดยอาจสั่งให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานอันเป็นประเด็นแห่งคดี ตรวจสอบกระบวนการผลิต ตรวจพิสูจน์สินค้าหรือความเสียหายอันเกิดจากการบริโภค รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งประสานงานหรือเรียก สคบ.หน่วยงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลหรือส่งพยานหลักฐาน เพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาได้ โดยไม่ตัดสิทธิคู่ความที่จะทราบและโต้แย้งพยานหลักฐานดังกล่าว ในคดีที่ผู้บริโภคเป็นโจทก์ ถ้าโจทก์เรียกร้องจำนวนค่าเสียหายไม่ถูกต้อง หรือวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องหรือกำหนดวิธีการบังคับให้เหมาะสมได้ แม้จะเกินกว่าที่ปรากฏในคำขอบังคับของโจทก์ก็ตาม หากเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความยกขึ้นมาว่ากล่าวกันแล้วโดยชอบ ในกรณีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ร่างกาย สุขภาพหรืออนามัย และในเวลาที่พิพากษาคดีเป็นการพ้นวิสัยจะหยั่งรู้ได้แน่ว่าความเสียหายนั้นมีแท้จริงเพียงใด ศาลอาจกล่าวในคำพิพากษาหรือคำสั่งว่ายังสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ไม่เกิน 10 ปี ในกรณีที่ความชำรุดบกพร่องมีอยู่ในขณะส่งมอบสินค้า และไม่อาจแก้ไขให้กลับคืนสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติหรือถึงแม้จะแก้ไขแล้วแต่หากนำไปใช้แล้วอาจเกิดอันตรายแก่ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยของผู้บริโภค ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้ผู้บริโภค แทนการแก้ไขซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้นก็ได้ ถ้าผู้ประกอบธุรกิจเจตนาเอาเปรียบโดยไม่เป็นธรรม จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำการฝ่าฝืนต่อฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ศาลมีอำนาจพิพากษาสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ไม่เกิน 2 เท่า จากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริง หรือ 5 เท่า ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงไม่เกิน 50,000 บาท การอุทธรณ์และฎีกา ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีผู้บริโภคไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค ภายในกำหนด 1 เดือน แต่ห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีผู้บริโภคที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท, อนึ่ง ในกรณีที่เห็นว่าเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ฯ ไปพร้อมกับอุทธรณ์ก็ได้ หรือในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ ก็อาจยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ฯ ภายในกำหนด 15 วันก็ได้ (แต่จะอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ไม่ได้), ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์ฯต้องพิจารณาพิพากษาคดีผู้บริโภคให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ฯให้เป็นที่สุด คู่ความอาจยื่นฎีกาไปพร้อมกับคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่มีทุนทรัพย์เกิน 200,000 บาท หรือในปัญหาข้อกฎหมายภายในกำหนด 1 เดือน โดยศาลฎีกาจะพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อเห็นว่าเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะหรือเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย
โดยคุณ อ.เดชา กิตติวิทยานันท์ 30 พ.ย. 542, 00:00

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก