ฟ้องบุคคลอื่นโดยไม่ตรวจสอบ มีความผิดฐานละเมิด|ฟ้องบุคคลอื่นโดยไม่ตรวจสอบ มีความผิดฐานละเมิด

ฟ้องบุคคลอื่นโดยไม่ตรวจสอบ มีความผิดฐานละเมิด

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

ฟ้องบุคคลอื่นโดยไม่ตรวจสอบ มีความผิดฐานละเมิด

ปัจจุบันสถาบันการเงินมีการฟ้องร้องลูกหนี้เป็นจำนวนมาก บางครั้งอาจไม่รอบคอบ

บทความวันที่ 1 ก.ย. 2559, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 3867 ครั้ง


 ฟ้องบุคคลอื่นโดยไม่ตรวจสอบ มีความผิดฐานละเมิด

 

ปัจจุบันสถาบันการเงินมีการฟ้องร้องลูกหนี้เป็นจำนวนมาก บางครั้งอาจไม่รอบคอบ ไม่ตรวจสอบเกี่ยวกับลูกหนี้ที่จะฟ้องให้ชัดแจ้ง ทำให้ฟ้องผิดคน ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับลูกหนี้เจ้าหนี้ก่อนฟ้องบุคคลต้องตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ก่อน คือ
1.ชื่อ นามสกุล สะกดให้ถูกต้อง ชื่อเดิมและชื่อปัจจุบัน
2.เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักต้องตรงกัน
3.ควรตรวจสอบให้ตรงกับเอกสารการเป็นหนี้หรือขอสินเชื่อ
4.อายุและที่อยู่ของลูกหนี้ บิดา มารดาของลูกหนี้ ต้องมีการตรวจสอบจากทะเบียนราษฎร ก่อนฟ้องไม่เกิน 1 เดือน ว่าที่อยู่และอายุใกล้เคียงกับที่เคยขอสินเชื่อหรือไม่
5.เป็นบุคคลล้มละลายหรือถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือมีการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ 
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยตัดสินเกี่ยวกับการฟ้องผิดคน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2543
แม้โจทก์จะมีชื่อและนามสกุลอย่างเดียวกันกับลูกหนี้ของจำเลย แต่ก็มีภูมิลำเนาต่างกัน ทั้งลูกหนี้ของจำเลยไม่เคยย้ายภูมิลำเนา อีกทั้งเมื่อโจทก์ติดต่อทนายความจำเลยแจ้งว่ามิได้เป็นหนี้ ทนายความจำเลยหรือจำเลยกลับยืนยันว่าเป็นหนี้ ถ้าไม่ชำระหนี้จะฟ้องร้องต่อศาล ทำให้โจทก์เกิดความกลัว จึงได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นเหตุให้โจทก์ถูกหนังสือพิมพ์รายวันลงข่าวเผยแพร่ไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปสอบสวนหามูลเหตุของข่าวการเป็นหนี้จำเลย และลงความเห็นว่าถ้าข่าวดังกล่าวเป็นจริงโจทก์จะถูกลงโทษ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์ทางไกลติดต่อญาติพี่น้องเพื่อแจ้งความจริงให้ทราบ และได้ว่าจ้างทนายความให้ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ดังกล่าว ดังนี้ กรณีถือได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อหรือไม่ใยดีต่อผลแห่งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ในภายหลังโดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรทำการตรวจสอบเกี่ยวกับตัวลูกหนี้ของจำเลยเสียใหม่ตามที่โจทก์แจ้งให้ทนายความของจำเลยหรือจำเลยทราบแล้วว่าโจทก์มิใช่ลูกหนี้ของจำเลย รวมทั้งจำเลยยังได้ยืนยันที่จะฟ้องร้องโจทก์ต่อศาล จนเป็นเหตุให้โจทก์เกิดความกลัวและนำเรื่องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจนถูกหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับนำข่าวไปเผยแพร่ทั่วราชอาณาจักร อันเป็นการกระทำต่อโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย พฤติการณ์จึงถือได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์อันจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อการนั้นแล้วครบถ้วนด้วยองค์ประกอบแห่งความผิดเพื่อละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6040/2551
             ผู้ขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนการสื่อสารแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 ใช้ชื่อว่านางสาวรจนาถยื่นคำขอเช่าใช้บริการโดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านที่มีการปลอมแก้ไขชื่อจากนงค์ลักษณ์เป็นรจนาถ ซึ่งเป็นคนละคนกับโจทก์ และก่อนฟ้องจำเลยที่ 2 สามารถที่จะตรวจความถูกต้องได้ แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้กระทำ กลับฟ้องโจทก์ให้ชดใช้ค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อหรือไม่ใยดีต่อผลแห่งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร พฤติการณ์จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพื่อการละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
องค์ประกอบของความผิดฐานละเมิด
มาตรา 420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
 
การกล่าวหรือไขข่าวให้บุคคลอื่นเสียชื่อเสียง
มาตรา 423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
              ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
 
ค่าสินไหมทดแทนในคดีละเมิด
มาตรา 438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
             อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
 
การทำให้ชื่อเสียงกลับคืนมา
มาตรา 447  บุคคลใดทำให้เขาต้องเสียหายแก่ชื่อเสียง เมื่อผู้ต้องเสียหายร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นจัดการตามควรเพื่อทำให้ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดีแทนให้ใช้ค่าเสียหาย หรือทั้งให้ใช้ค่าเสียหายด้วยก็ได้
 
อายุความในการฟ้องร้องคดีละเมิด
มาตรา 448  สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด
              แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ
 

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก