ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง|ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

มีท่านผู้อ่านสอบถามมาเกี่ยวกับคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

บทความวันที่ 19 พ.ย. 2558, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 13575 ครั้ง


ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

          มีท่านผู้อ่านสอบถามมาเกี่ยวกับคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกดำเนินคดีจำนำข้าว และอาจต้องรับผิดทางละเมิดในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ได้กระทำการไปด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คดีนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน มีหลายคนสอบถามมายังทนายคลายทุกข์ว่า การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมีความหมายอย่างไร และผู้บังคับบัญชาจะต้องรับผิดหรือไม่อย่างไรในกรณีที่มีข้าราชการทุจริต กฎเกณฑ์ที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องรับผิดทางละเมิดร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชา กฎหมายได้บัญญัติไว้อย่างไร ก่อนอื่นผมขอออกตัวก่อนนะครับว่าไม่ได้ชี้ผิดชี้ถูกในคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะคดียังอยู่ในชั้นศาล ผมได้ไปศึกษาค้นคว้าคำพิพากษาของศาลฎีกาและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ศึกษาจากหนังสือรวมคำพิพากษาแพ่งพิสดาร พ.ศ. 2558 และตำราทางกฎหมายของหลายอาจารย์ โดยเฉพาะหนังสือของดร.ชูชาติ อัศวโรจน์ ที่ได้รวบรวมเกี่ยวกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคำพิพากษาของศาลฎีกาและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไว้อย่างน่าสนใจ จึงนำมาเสนอท่านผู้อ่านในวันนี้เพื่อให้ความรู้กับประชาชนในความหมายของคำว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
            ประเด็นแรก ในกรณีมีข้าราชการทุจริต ผู้บังคับบัญชาของข้าราชการนั้นจะต้องร่วมรับผิดกับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยหรือไม่อย่างไรนั้น จะต้องพิจารณาก่อนว่า ผู้บังคับบัญชาคนนั้น ได้มีการกระทำใดๆอันเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการทุจริต หรือไม่ตามหลักเกณฑ์ในเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ถ้ามิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ไม่ต้องรับผิด (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 4879/2537 และฎีกาที่ 3656/2531)
           ประเด็นที่สอง กรณีที่ถือว่าผู้บังคับบัญชาร่วมกระทำละเมิดด้วย ตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ผ่านมา เช่น ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการ หรือไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการ หรือไม่ควบคุมดูแลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการ จนเป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชายักยอกเงินทางราชการไป หรือรู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ แต่ผู้บังคับบัญชาก็มิได้รายงานเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือตนขึ้นไปทราบเสียในทันที กลับปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุจริตเงินของทางราชการ เป็นการกระทำโดยละเมิด (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 362/2538)
          ประเด็นที่สาม ความหมายของคำว่ากระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
          อาจารย์ ดร.ชูชาติ อัศวโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้ให้ความหมายไว้อย่างเข้าใจได้ง่ายและสมบูรณ์แบบว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติถึงคำประมาทเลินเล่อ มิได้บัญญัติถึงคำว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไว้ แต่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงคำว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไว้ มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” ดังนี้ ถ้าเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกด้วยความประมาทเลินเล่อ (มิใช่กระทำละเมิดด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง) หน่วยงานของรัฐไม่มีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ดังนั้น คำว่า “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” จึงมีความสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจ ปัญหามีว่าอย่างไรเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
        กรณีจะเป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจะต้องเป็นประมาทเลินเล่อเสียก่อนโดย “จะเป็นส่วนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างจงใจกับประมาทเลินเล่อธรรมดา” คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตอบข้อหารือกรมบัญชีกลางว่า การที่จะพิจารณาว่ากรณีใดจะเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบทุกคน จนถึงคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์หรือศาล ส่วนอย่างไรเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแต่ละกรณีไปความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจะมีลักษณะไปในทางที่บุคคลนั้นได้กระทำไปโดยขาดความระมัดระวังที่เบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์มาตรฐานอย่างมาก เช่น คาดเห็นได้ว่าความเสียหายอาจเกิดขึ้นได้หรือหากใช้ความระมัดระวังสักเล็กน้อย ก็คงได้คาดเห็นการอาจเกิดความเสียหายนั้น เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1788-1780/2518 กรณีโรงงานของจำเลย(กระทรวงการคลัง) เผาเศษปอ ทำให้มีควันดำปกคลุมถนนจนมองไม่เห็นทางข้างหน้าเป็นเหตุให้มีรถขับมาชนท้ายรถโจทก์ซึ่งจอดอยู่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดมาแล้ว 2-3 ครั้ง แต่ก็ปล่อยปละละเลยไม่เปลี่ยนวิธีการเผาเศษปอจนเป็นกรณีที่จำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
           คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.10/2552 อธิบายถึงการกระทำที่ถือว่าเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ว่าหมายถึงการกระทำโดยมิได้เจตนา แต่เป็นการกระทำซึ่งบุคคลพึงคาดหมายได้ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น และหากใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจป้องกันมิให้เกิดความเสียหายได้แต่กลับมิได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นเลย
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2614/2522 เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ไม่นำแผงมาปิดกั้นถนนในขณะที่ขบวนรถไฟจะแล่นผ่าน เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จะอ้างว่าวันเกิดเหตุพนักงานรถไฟนัดหยุดงาน ไม่สามารถหาคนมาปฏิบัติงานให้ทันท่วงทีได้เป็นเหตุสุดวิสัยหาได้ไม่ การรถไฟฯ ต้องร่วมรับผิด
           ดังนั้น ถ้าใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อยก็ป้องกันความเสียหายได้แต่กลับมิได้ใช้ความระมัดระวัง ถือว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420
  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาอ้างอิง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3656/2531

            ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในทางแพ่ง อันเนื่องมาจากการทุจริตของผู้ใต้บังคับบัญชานั้น หาใช่เพราะเหตุของการเป็นผู้บังคับบัญชาไม่ ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในทางแพ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเรื่องละเมิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งได้แก่การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 5 ดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจภูธรมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับทางด้านการเงินของกองกำกับการตำรวจภูธร เป็นผู้ตรวจสอบแบบรายงานการเดินทางไปราชการของเจ้าพนักงานตำรวจลงนามเป็นผู้เบิกเงินในบัญชีหน้างบใบสำคัญและลงนามเป็นผู้มอบฉันทะตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกันปลอมเอกสารดังกล่าวขึ้นโดยไม่ปรากฏว่ามีระเบียบให้จำเลยที่ 5ต้องตรวจสอบก่อนว่ามีหนังสือหรือคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปปฏิบัติราชการหรือไม่ ทั้งไม่มีระเบียบว่าก่อนลงนามอนุมัติจะต้องปฏิบัติอย่างไร การเบิกเงินแต่ละครั้งมิได้มีเฉพาะรายที่ถูกปลอมลายมือชื่อเท่านั้น หากแต่มีผู้เบิกคราวละ 20-30 ราย ลายมือชื่อผู้กำกับการตำรวจภูธรที่สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปราชการที่แท้จริงและที่ถูกปลอมก็คล้ายคลึงกัน ก่อนลงนามจำเลยที่ 5 ได้ตรวจว่ามีลายมือชื่อผู้ช่วยสมุห์บัญชี และสมุห์บัญชีลงนามรับรองความถูกต้องแล้ว ทั้งได้ตรวจว่าลายมือชื่อผู้กำกับการตำรวจภูธรผู้มีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปปฏิบัติราชการแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 5 ได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิได้ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4879/2537
         ความรับผิดในทางแพ่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาอันเนื่องมาจากการทุจริตของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชานั้นหาใช่เพราะเหตุของการเป็นผู้บังคับบัญชาไม่ หากแต่จะต้องเป็นไปตามหลักเรื่องละเมิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362/2538
         จำเลยที่2เป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่1มีหน้าที่ตรวจสอบรายงานเงินคงเหลือประจำทุกวันแต่กลับไม่ตรวจสอบไม่ลงลายมือชื่อเป็นกรรมการรักษาเงินในรายงานเงินคงเหลือประจำวันและไม่กวดขันให้กรรมการรักษาเงินคนอื่นตรวจสอบหลักฐานการรับเงินและตัวเงินสดและลงลายมือชื่อในรายงานเงินคงเหลือประจำวันเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของโจทก์ไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของโจทก์เมื่อผลของการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยที่1ยักยอกเงินของโจทก์ไปการกระทำของจำเลยที่2จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่2มีตำแหน่งเป็นเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานมีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบบังคับบัญชากิจการต่างๆของสำนักงานปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลรับผิดชอบบังคับบัญชาจำเลยที่1และที่3ให้ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของโจทก์จำเลยที่2จึงต้องรับผิดมากกว่าจำเลยที่3 จำเลยที่3ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่1และที่2ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของโจทก์อาจจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ขึ้นได้แต่จำเลยที่3ก็มิได้รายงานเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือจำเลยที่2ขึ้นไปทราบเสียในทันทีเพื่อจะได้สั่งการแก้ไขการที่จำเลยที่3ปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้นจำเลยที่3ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของจำเลยที่1จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดโจทก์ลงนามรับทราบเรื่องในวันใดถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าวอายุความละเมิดเริ่มนับแต่วันนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2614/2522
          จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ปิดกั้นแผงกั้นถนนเมื่อมีขบวนรถไฟวิ่งผ่านตรงที่ทางรถไฟตัดผ่านถนน ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ละทิ้งหน้าที่ไป ตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงพระพุทธศักราช 2464 มาตรา 72 บัญญัติว่าเมื่อทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญเสมอระดับ ให้ทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 3 ต้องป้องกันภัยในการที่จะเดินรถไฟตัดผ่านถนนการที่จำเลยที่ 2 ไม่นำแผงมาปิดกั้นถนนขณะที่ขบวนรถไฟจะแล่นผ่านจึงเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ถือได้ว่าเป็นการประมาทอย่างร้ายแรงถ้าหากปิดแผงกั้นถนนแล้ว รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ก็ไม่อาจขับผ่านเข้าไปถึงทางรถไฟจนเกิดเหตุชนกันได้ จำเลยที่ 2 มีส่วนประมาทมากกว่าโจทก์ที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าวันเกิดเหตุพนักงานรถไฟบางส่วนนัดหยุดงาน ไม่สามารถหาคนมาปฏิบัติงานให้ทันท่วงทีได้นั้น จะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้ จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิด
           โจทก์มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลที่ต้องรักษาต่อที่บ้าน ค่าทำศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า และค่าที่ต้องทนทุกข์เวทนาที่ได้รับจากการละเมิดของจำเลยได้
 

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก