หลอกลวงฝากเข้ารับราชการ|หลอกลวงฝากเข้ารับราชการ

หลอกลวงฝากเข้ารับราชการ

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

หลอกลวงฝากเข้ารับราชการ

ช่วงนี้มีข่าวข้าราชการทั้งทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน

บทความวันที่ 8 ต.ค. 2558, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 8693 ครั้ง


หลอกลวงฝากเข้ารับราชการ

             ช่วงนี้มีข่าวข้าราชการทั้งทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เข้าไปเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชน โดยอ้างว่าสามารถวิ่งเต้นฝากลูกหลานชาวบ้านเข้ารับราชการได้โดยไม่ต้องผ่านการสอบ เช่น คดีล่าสุด กองปราบได้จับกุมอดีตข้าราชการซี 5 เรียกเงิน 10 ล้านจากชาวบ้าน อ้างว่าสามารถฝากเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบลได้ มีชาวบ้านหลงเชื่อถูกหลอกลวงไปหลายราย เสียเงินไปคนละหลายแสนบาท เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่สามารถที่จะฝากเข้ารับราชการได้ โดยอ้างว่าสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันไม่ปกติ อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การวิ่งเต้นกับหน่วยงานราชการเป็นเรื่องยาก ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวนั้นเป็นความเท็จทั้งสิ้น การหลอกลวงประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการฝากเข้าทำงาน ทั้งราชการและเอกชนนั้นมีมานานแล้ว แต่ก็ยังมีคนหลงเชื่อและยอมเสียเงิน เสียทองจำนวนมากให้กับมิจฉาชีพเหล่านี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
           1. มีความเชื่อว่าถ้าลูกหลานได้เข้ารับราชการจะมีเกียรติมีศักดิ์ศรี อาชีพรับราชการเป็นอาชีพที่มั่นคง มีสวัสดิการ เป็นอย่างดีจนถึงเกษียณอายุราชการ โอกาสที่จะถูกเลิกจ้างมีน้อยมากเนื่องจากการที่จะไล่ออกจากราชการนั้นมีขั้นตอนกระบวนการที่คุ้มครองข้าราชการเป็นอย่างดี
            2. การสอบเข้ารับราชการนั้นมีผู้สมัครสอบจำนวนมาก แต่รับจำนวนน้อยมาก เช่น อัตราส่วน 1: 1,000, 1:2,000 โอกาสที่จะผ่านการสอบข้อเขียนเป็นเรื่องยาก เนื่องจากลูกหลานตัวเองนั้นเรียนหนังสือไม่เก่งเหมือนกับคนอื่น ถึงแม้จะไปสมัครสอบก็คงไม่มีโอกาสผ่านข้อเขียนไปได้ จึงหลงเชื่อพวกมิจฉาชีพที่มาหลอกลวง
           3. มิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชนเรียกเงินจากชาวบ้านนั้นส่วนใหญ่เป็นคนในหมู่บ้านที่รู้จักกันดี อาศัยความไว้วางใจที่ชาวบ้านมีต่อตัวเองและมีความเชื่อว่าไม่น่าจะหลอกลวงเพราะคนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน หรือถ้าไม่ใช่คนที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันก็จะเป็นกรณีที่มีคนที่รู้จักกันเป็นอย่างดีเป็นคนแนะนำ บางคนเรียกว่านายหน้า บางคนเรียกว่าหน้าม้า ทำงานในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ ช่วยกันหลอกลวงผู้เสียหาย เมื่อได้เงินได้ทองจากการหลอกลวงก็จะนำเงินมาแบ่งกัน ทำกันเป็นขบวนการ
           4. ขบวนการหลอกลวงฝากเข้าทำงานเท่าที่ปรากฏในปัจจุบันที่มาร้องเรียนที่ทนายคลายทุกข์มีหลายคดีส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือใกล้ชิดกับผู้หลักผู้ใหญ่ของหน่วยราชการนั้น เช่น เป็นคนขับรถของผู้บัญชาการ หรือเป็นเลขา หรือเป็นหน้าห้อง หรือทำงานใกล้ชิดผู้บังคับบัญชา เวลาหลอกลวงก็จะแต่งเครื่องแบบเต็มยศ หรือมีภาพถ่ายประกอบทำให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น บางรายก็จะนัดหมายไปพบกันที่หน่วยงานราชการ ยิ่งทำให้ผู้เสียหายเชื่อได้ง่ายขึ้นเพราะทั้งการแต่งกายลีลาการพูดของมิจฉาชีพ สถานที่ ช่างสอดคล้องน่าเชื่อถือ จึงยอมส่งมอบทรัพย์สินให้
            5. มีการปลอมเอกสารมาประกอบกับการหลอกลวง เช่น ทำเอกสารอ้างเบื้องสูงหรือทำเอกสารมีตราครุฑและมีตราประทับว่าด่วนที่สุด บางรายประทับตราว่าลับ บางรายมีการใช้ลายเซ็นปลอมของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รัฐมนตรี แต่ส่วนใหญ่มักจะทำเป็นสำเนาไม่ใช่ต้นฉบับ เช่น อ้างว่าเป็นสำเนาที่ส่งโทรสารด่วนจากต้นสังกัด การนำเอกสารปลอมเพื่อแสดงให้เห็นว่ามิจฉาชีพได้รับมอบหมายให้มีอำนาจในการหาคนมารับราชการ ประกอบกับลีลาการนำเสนอที่น่าเชื่อถือ ก็มีส่วนช่วยให้ผู้เสียหายยอมส่งมอบทรัพย์สินได้ง่ายขึ้น
           6. ความรักของพ่อแม่ ที่อยากให้ลูกหลานของตัวเองรับราชการ ทำให้ยอมทุกอย่างที่จะเป็นหนี้เป็นสิน ขายที่ดิน ขายนา ขายบ้าน กู้เงินนอกระบบ มาจ่ายให้กับกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ ดังนั้นคนที่เป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพื่อพบกับมิจฉาชีพเหล่านี้ก็ควรจะสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อนที่จะยอมเสียเงินเสียทองให้กับกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้
           ตัวอย่างคดีที่เกี่ยวกับการหลอกลวงเข้ารับราชการและเคยมีคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ทนายคลายทุกข์ได้ไปค้นคว้ามา มีดังต่อไปนี้
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1960/2534
            การที่ บ. และ ส. ตกลงให้เงินแก่จำเลยเพื่อนำไปมอบให้แก่คณะกรรมการสอบ หรือผู้สั่งบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ ในตำแหน่งเสมียนได้ เพื่อให้ช่วยเหลือบุตรของตนเข้าทำงาน ในกรมชลประทานโดยไม่ต้องสอบนั้น เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และระเบียบแบบแผนของทางราชการ ถือได้ว่า บ. และ ส. ใช้ให้จำเลยกระทำผิดนั่นเอง บ. และ ส. จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง แม้จะได้ร้องทุกข์และพนักงาน สอบสวนทำการสอบสวนมาแล้วก็ไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2440/2525
           จำเลยกับภริยาร่วมกันหลอกลวง ศ. ว่าสามารถนำบุตรของศ. เข้าเรียนเป็นผู้ช่วยพยาบาลในโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องสอบคัดเลือกเข้าเรียน และเรียกร้องเอาเงินจำนวนหนึ่ง ศ.ตกลงและมอบเงินให้ภริยาจำเลยไป ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าศ. ให้เงินไปเพื่อให้จำเลยหรือภริยานำไปให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการสอบคัดเลือกให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต พฤติการณ์น่าจะเป็นว่าจำเลยกับภริยาร่วมกันหลอกลวง ศ. เพื่อต้องการได้เงินจาก ศ.เท่านั้น.ถือไม่ได้ว่าศ. ได้ร่วมกับ จำเลยนำสินบนไปให้เจ้าพนักงานอันเป็นการใช้ให้จำเลย กระทำผิด ศ. ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย และมี สิทธิร้องทุกข์
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4744/2537
           จำเลยตกลงกับ ร.ว่าถ้าให้เงิน60,000บาทบุตรของ ร.จะเข้าโรงเรียนนายสิบทหารบกได้ ร. ได้ต่อรองเหลือ 50,000 บาทและ ร.ได้มอบเงินแก่จำเลยจนครบถ้วนแล้วแต่ต่อมาบุตรของร.สอบเข้าเรียนไม่ได้ เพราะจำเลยไม่สามารถช่วยให้เข้าเรียนได้ก็เป็นการหลอกลวง ร.ทั้งไม่ปรากฏว่า ร. ได้ให้เงินแก่จำเลยเพื่อให้จำเลยนำไปให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการสอบคัดเลือกให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต การที่จำเลยรับว่าจะช่วยบุตรของ ร.จึงเป็นการหลอกลวง ร. เพื่อต้องการได้เงินจาก ร.เท่านั้นไม่ถือว่า ร. ร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้เจ้าพนักงาน อันเป็นการใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดร. ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย และมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้ ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยว่า จำเลยหลอกลวงและได้รับเงินไปจากผู้เสียหายหรือไม่ เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่
           ทนายคลายทุกข์หวังว่าบทความนี้จะช่วยป้องกันมิให้ท่านตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพได้บ้างนะครับ
 

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 2

เกี่ยวกับการหลอกลวงเข้าเป็นลูกจ้างชั่วคราว. ถ้าแจ้ง. มีโอกาสได้ตังไหม

โดยคุณ นันทิวัน ชีพสุมนต์ 10 เม.ย. 2560, 15:44

ความคิดเห็นที่ 1

หมายความว่าถ้า ตกลงกับมิฉาชีพแล้วเราฟ้องศาลจะไม่รับฟ้องถูกต้องไหมครับ พอดีน้องผมถึงโดด เรียกว่าไร มันทาบทามมา 

โดยคุณ Visarut 9 เม.ย. 2560, 15:41

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก