หมิ่นประมาทผู้อื่น|หมิ่นประมาทผู้อื่น

หมิ่นประมาทผู้อื่น

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

หมิ่นประมาทผู้อื่น

เพื่อนๆ ถามมาว่า หมิ่นประมาท หมายถึงอะไร และพาดพิงบุคคลอื่นขนาดไหน

บทความวันที่ 5 ม.ค. 2557, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 21238 ครั้ง


หมิ่นประมาทผู้อื่น

              เพื่อนๆ ถามมาว่า หมิ่นประมาท หมายถึงอะไร และพาดพิงบุคคลอื่นขนาดไหนที่จะถือว่าหมิ่นประมาท อยากทราบเพื่อระมัดระวังคำพูดตัวเองในการแสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊ค,ทวิสเตอร์
1. การใส่ความ ข้อความที่กล่าวแม้จะเกิดจากการตอบคำถามของผู้อื่น ก็เป็นการใส่ความแล้ว ผิดฐานหมิ่นประมาทได้ (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2537)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2537
             โจทก์ร่วมซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ถูกร้องเรียนว่ายักยอกเงินโครงการอาหารกลางวันและอื่น ๆ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่อื่น จำเลยซึ่งรักษาการแทนโจทก์ร่วมทำหนังสือสั่งธนาคารระงับการจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ร่วม และได้พูดกับ พ.ผู้ช่วยสมุหบัญชีธนาคารว่า "ยักยอก ตามตัวไม่พบ" คำพูดดังกล่าวมีความหมายให้ พ. เข้าใจว่าโจทก์ร่วมยักยอกเงินของทางราชการแล้วหนีไป จึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจึงเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม จำเลยมีเจตนากล่าวถ้อยคำโดยเจตนาใส่ความโจทก์ร่วมทั้งถ้อยคำดังกล่าวก็เป็นความเท็จเพราะจำเลยทราบดีว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมอยู่ในระหว่างถูกผู้บังคับบัญชาตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและได้สั่งให้โจทก์ร่วมไปช่วยราชการที่อื่น หาใช่ว่าคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการเสร็จแล้วและลงความเห็นว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดวินัยและหลบหนีไปแต่อย่างใดไม่ การกล่าวถ้อยคำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต จำเลยกระทำความผิดก่อนวันใช้บังคับของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมิได้เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เดิม
2. การใส่ความ ต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง จะเป็นความจริงหรือความเท็จก็ได้ การกล่าวข้อความตามที่ได้รับบอกเล่ามา เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2503,2822/2515)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2503
            นางใยอาของโจทก์เล่าให้จำเลยฟังว่าโจทก์(เป็นนางสาว) กับนายอนันต์ซึ่งเป็นญาติของโจทก์ รักใคร่กันทางชู้สาวนอนกอดจูบกันและได้เสียกัน ต่อมานางสงวนมาถามจำเลยว่านางใยมาเล่าอะไรให้จำเลยฟังจำเลยก็เล่าข้อความตามที่นางใยเล่าแก่จำเลยให้นางสงวนฟังนางสงวนได้เอาข้อความนั้นไปเล่าให้โจทก์ฟังอีกชั้นหนึ่งเช่นนี้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าว เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์อย่างเห็นได้ชัด เมื่อจำเลยกล่าวออกไปแม้จะโดยถูกถามก็ดี จำเลยควรต้องสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลของการกระทำของจำเลย ถือได้ว่า จำเลยจงใจกล่าวข้อความยืนยันข้อเท็จจริงโดยเจตนาใส่ความโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2822/2515
             การที่จำเลยแสดงข้อความในจดหมายที่ได้รับจากผู้อื่นให้บุคคลที่สามทราบโดยรู้อยู่ว่าจดหมายนั้นมีข้อความหมิ่นประมาทผู้เสียหาย นับว่าจำเลยได้ใส่ความผู้เสียหาย แล้วไม่ต่างอะไรกับที่จำเลยได้กล่าวด้วยถ้อยคำวาจา และเมื่อบุคคลที่สามเข้าใจข้อความในจดหมายนั้นแล้วการกระทำของจำเลยก็ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำเลยจะได้กล่าวยืนยันข้อความนั้นว่าเป็นความจริงหรือไม่ ไม่เป็นข้อสำคัญ
3. เพียงแต่จำเลยเอาจดหมายที่มีข้อความหมิ่นประมาทให้ผู้อื่นอ่าน ก็ถือว่าเป็นการใส่ความต่อผู้อื่นแล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2541)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2541
            สิทธิส่วนบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารกล่าวข้อความว่า"โจทก์มีปัญหาในครอบครัว ทะเลาะเบาะแว้งกัน มีปัญหากับพนักงานในสาขาถึงได้ถูกย้ายไปสำนักงานใหญ่คงอยู่ไม่ได้นานต้องถูกไล่ออก" ต่อ อ. ลูกค้าของธนาคารย่อมเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ล่วงสิทธิส่วนบุคคลซึ่งข้อความดังกล่าววิญญูชนทั่วไปย่อมจะเข้าใจได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายสินเชื่อเป็นคนไม่ดีทะเลาะกับสามีมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานจนต้องถูกย้ายและกระทำความผิดร้ายแรงถึงขนาดจะถูกไล่ออกจากงานด้วย จึงเป็นข้อความที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หาใช่เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามีภริยาทะเลาะกันหรือเป็นคำติชมของผู้บังคับบัญชาหรือเป็นการกล่าวคาดคะเนแต่อย่างใดไม่ แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยกล่าวข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ต่อญาติของโจทก์เพียงคนเดียว และข้อความหมิ่นประมาทก็มิได้ทำให้ โจทก์เสียหายมากมายนัก นับว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะ ไม่ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกและรอการลงโทษนั้น หนักเกินไปควรให้ปรับจำเลย 5,000 บาท
4. ข้อความจะเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆ ไป มิใช่พิจารณาถึงความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2777/2545)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2777/2545
           วันนัดสืบพยานโจทก์ ระหว่างผู้พิพากษารออ่านรายงานกระบวนพิจารณา จำเลยได้พูดต่อหน้าผู้พิพากษา ทนายจำเลยและพยานว่า "ทนายความคนนี้ใช้ไม่ได้ ทั้งประเทศไทยมีทนายความแบบนี้อยู่คนเดียว ชอบหาเรื่องกลั่นแกล้งจำเลย ประเทศชาติอยู่ไม่ได้แน่ ถ้ายังมีทนายความประเภทนี้ อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล" และเมื่อผู้พิพากษาตักเตือน จำเลยยังพูดต่ออีกว่า "ท่านครับอย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล" เป็นการระบายความรู้สึกของจำเลยที่มีต่อโจทก์และเป็นการวิจารณ์การทำงานในหน้าที่ทนายความของโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยในความรู้สึกว่าจำเลยถูกกลั่นแกล้งมิใช่เป็นการใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ไม่เป็นหมิ่นประมาท
            ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแม้ศาลจะพิจารณาเพียงว่าคดีโจทก์พอมีมูลที่จะประทับฟ้องไว้หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดศาลก็ชอบที่จะวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องไปได้เลย ไม่จำเป็นต้องประทับฟ้องไว้แล้วพิจารณายกฟ้องในภายหลัง
5. ข้อความที่เป็นการคาดคะเน หรือเป็นคำขู่ ไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงไม่เป็นการใส่ความ ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2180/2531,2155/2531,1734/2503,1201/2505)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2180/2531
            การที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยยืนยันข้อเท็จจริงที่ใส่ความนั้นต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้นน่าจะทำให้ผู้อื่นที่ถูกใส่ความเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดังนั้น การที่จำเลยถาม ป. ว่ามีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์หรือไม่ จึงเป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันน่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังแต่ประการใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยกล่าววาจาต่อหน้าโจทก์ จึงไม่ใช่เป็นดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้า จำเลยไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2531
             จำเลยถาม ป. ว่า มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์จริงหรือไม่ถ้าจริงก็ให้เลิกเสีย ไม่ได้ยืนยันว่า ป. มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์ยังไม่เข้าลักษณะเป็นการใส่ความอันจะเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยกล่าวเช่นนั้นต่อหน้าโจทก์จึงมิใช่เป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้าอีกเช่นกัน.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734/2503
            มารดาถูกขว้างด้วยก้อนอิฐ บุตรไม่เห็นคนขว้างแต่ได้กล่าวต่อหน้าคนหลายคนว่า "ไม่มีใครนอกจากอ้ายแก้ว(โจทก์)อ้ายชาติหมา อ้ายฉิบหาย" ดังนี้พฤติการณ์ในคดีแสดงว่าไม่มีเจตนาใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
           ไปให้การเป็นพยานเท็จในชั้นสอบสวนว่าเห็นโจทก์เป็นผู้กระทำผิดอาญา โดยที่ความจริงไม่ได้เห็นเลยนั้นเป็นผิดฐานแจ้งความเท็จเพื่อแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 174 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 35/2503)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2505
             จำเลยซึ่งเป็นตำรวจไปจับแผ่นกระดาษจดหมายเลขสลากกินรวบที่นางพีเป็นผู้ขาย ก่อนจับได้ก็มีการยื้อแย่งกันและจับได้บนบ้านของโจทก์ จำเลยพูดกับโจทก์ว่า เดี๋ยวจับเป็นอันธพาลทั้งพ่อทั้งลูก(โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรสาวของโจทก์ที่ 1) ดังนี้ ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานใส่ความหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เพราะจำเลยมิได้กล่าวว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลอันธพาล เป็นคำขู่เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสองเข้าขัดขวางช่วยเหลือผู้กระทำผิดเท่านั้น
6. การกล่าวเปรียบเทียบที่เลื่อนลอย ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง ไม่เป็นการใส่ความ ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426-427/2520,10189/2546,481/2506)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426 - 427/2520
            ส่งข่าวไปลงหนังสือพิมพ์ว่า ส. เป็นนายทุนขูดรีดจนถึงขนาดถูกสอบสวนว่าเป็นภัยต่อสังคม เป็นคำกล่าวหมิ่นประมาทและไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ที่กล่าวว่าเป็น ส. ส. ขบวนการปลาทูเป็นการเปรียบเทียบเลื่อนลอยไม่ยืนยันข้อเท็จจริงไม่เป็นหมิ่นประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10189/2546
           ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า "โจทก์ร่วมเป็นบุคคลวิกลจริต ไม่สามารถทำงานได้ เป็นคนบ้าเหมือนหมาบ้า" นั้น เป็นถ้อยคำที่เลื่อนลอย ไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อประกอบข้อความตอนท้ายที่ว่า "และยังได้นำใบ ร.บ.(ระเบียบการศึกษา) ไปจำหน่ายให้กับนักเรียนด้วย" แล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มุ่งหวังในบุคคลอื่นเชื่อว่าโจทก์ร่วมเป็นบุคคลวิกลจริต ถ้อยคำดังกล่าวจึงไม่ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2506
            ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนว่าโจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี มีความรู้สึกต่ำโจทก์เป็นคนมีหนี้สินเป็นแสนๆ ยังใช้หนี้เขาไม่หมด อวดมั่งมีคาดเข็มขัดทองไม่เป็นถ้อยคำที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
7. กล่าวข้อความที่หยาบคาย หรือถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพหรือเป็นการเหยียดหยามให้อับอาย ไม่เป็นการใส่ความ ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2550,1142/2516,4425/2545,72/2525)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2550
             คำฟ้องโจทก์อ้างเหตุประการแรกว่า จำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ด้วยถ้อยคำว่า "โจทก์ยกที่ดินให้แล้ว ยังจะเอาคืน เสือกโง่เอง อย่าหวังว่าจะได้สมบัติคืนเลย" ข้อความนี้ เป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด ดังนั้นแม้หากจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กล่าวถ้อยคำตามคำฟ้องจริงก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเพิกถอนการให้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้กล่าวข้อความตามคำฟ้องหรือไม่
              โจทก์บรรยายฟ้องต่อมาความว่า หลังจากโจทก์ยกที่ดินให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ตัดโค่นไม้ยางพาราเสียและรับเงินราคาค่าไม้ยางทั้งหมดและจงใจทอดทิ้งโจทก์เสีย ไม่ยอมส่งอาหารหรือปัจจัยสี่แก่โจทก์เลย โจทก์พักอาศัยอยู่คนเดียว จำเลยที่ 1 จงใจประพฤติเนรคุณโจทก์ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2542 ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อาจได้รับอันตรายแก่ชีวิต ทั้งนี้จำเลยที่ 1 สามารถดูแลปรนนิบัติโจทก์ได้แต่จำเลยที่ 1 ละเลยทอดทิ้งเสียทั้งที่สามารถทำได้ ตามคำฟ้องของโจทก์และการนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่า โจทก์เคยขอและจำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์แต่อย่างใด กรณีจึงไม่เข้าเหตุที่โจทก์มีสิทธิถอนคืนการให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1142/2516
             การที่จำเลยพูดว่า "ตุ๊อย่าเอาไม้ไปแหย่ขี้เลย" ในขณะที่โจทก์กำลังโต้เถียงกับนายตุ๊สามีจำเลย เมื่อคณะผู้พิพากษาพร้อมด้วยโจทก์จำเลยในคดีแพ่งไปตรวจดูสถานที่พิพาทนั้นแม้คำว่า ขี้ จะหมายถึงตัวโจทก์ แต่ก็เป็นถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพเท่านั้น ยังไม่พอถือได้ว่าเป็นการใส่ความตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา326 จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์
             ส่วนเรื่องละเมิดอำนาจศาลนั้น เมื่อมีผู้กระทำผิด ก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะที่จะสั่งลงโทษผู้นั้นได้เองผู้อื่นหามีสิทธิที่จะเสนอคดีให้ศาลพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดในคดีเช่นนี้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4425/2545
             โจทก์มีอาชีพเป็นทนายความ ส่วนจำเลยเป็นภริยานักการเมืองโจทก์และจำเลยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในวันเกิดเหตุขณะที่โจทก์และภริยาเดินอยู่ที่หน้าหอประชุมอำเภอห้วยทับทันจำเลยชี้มือมาที่โจทก์แล้วพูดกับชาวบ้านที่เดินผ่านมาว่า ระวังทนายสกปรกจะเอาเรื่อง จากนั้นจำเลยก็เดินผ่านไป คำพูดของจำเลยดังกล่าวไม่มีข้อความประกอบให้เห็นว่าโจทก์ซึ่งมีอาชีพทนายความสกปรกในเรื่องอะไร แม้จะเป็นคำเสียดสีโจทก์ว่าเป็นคนน่ารังเกียจ แต่ไม่ถึงขนาดทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนคดโกงขาดความน่าเชื่อถือหรือน่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังโดยสภาพของถ้อยคำดังกล่าวไม่เป็นการหมิ่นประมาท แม้จำเลยจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็ไม่ทำให้ความหมายของถ้อยคำเปลี่ยนแปลงไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 72/2525
            ถ้อยคำพูดของจำเลยที่กล่าวถึงโจทก์ต่อบุคคลอื่นว่า 'บักคมเป็นตำรวจหมาๆบ่ฮู้จักอีหยัง ไปบอกมันแน่ถ้ามันเว้าอีกกูสิเอาเรื่อง'เป็นเพียงถ้อยคำพูดไม่สุภาพที่จำเลยกล่าวติเตียนการกระทำของโจทก์เท่านั้น ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าโจทก์เป็นตำรวจเลวหรือไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีลักษณะเป็นการใส่ความอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 3

 ดิฉันถูกคนเอาภาพมาวิพากวิจารณ์บนเฟสบุ๊ึ

คในทางที่เสื่อมเสีย เอาภาพดิฉันโพสว่าในทางที่เสียหาย

โดยคุณ สุภาพร 4 พ.ย. 2557, 17:21

ความคิดเห็นที่ 2

 ดิฉันถูกคนเอาภาพมาวิพากวิจารณ์บนเฟสบุ๊ึ

คในทางที่เสื่อมเสีย

โดยคุณ สุภาพร 4 พ.ย. 2557, 17:18

ความคิดเห็นที่ 1

 ถ้ามีคนที่ไม่ชอบเรา เขียนว่าเราลาตายสามารถแจ้งความได้หรือไม่

โดยคุณ สุนี 25 ส.ค. 2557, 11:29

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก