ข้อกฎหมายเกี่ยวกับข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน|ข้อกฎหมายเกี่ยวกับข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

ข้อกฎหมายเกี่ยวกับข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

ข้อกฎหมายเกี่ยวกับข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

  • Defalut Image

กรณีพันตำรวจโทสันธนะถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 136 ตามที่เป็นข่าว

บทความวันที่ 6 พ.ค. 2561, 14:42

มีผู้อ่านทั้งหมด 793 ครั้ง


ข้อกฎหมายเกี่ยวกับข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

       กรณีพันตำรวจโทสันธนะถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 136 ตามที่เป็นข่าว  ทนายคลายทุกข์ ขอให้ความรู้เกี่ยวกับข้อหาดังกล่าว ดังนี้
             1. การดูหมิ่น หมายถึง ดูถูก เหยียดหยาม สบประมาทด่าทอ กระทำในทางที่ลดคุณค่าของผู้อื่น อ้างอิงฎีกาที่ 8919/2552
             2. คำพูดจาท้าทายเปรียบเปรยประชดประชันตัดพ้อ คำพูดที่ไม่สุภาพ ไม่เป็นการดูหมิ่น อ้างอิงฎีกาที่ 4327/2540 ฎีกาที่ 786/2532 ฎีกาที่ 860/2521  บรรทัดฐานของศาลฎีกาที่ผ่านมา ไม่ได้พิจารณาคำพูดอย่างเดียวต้องดูข้อเท็จจริงแวดล้อม เช่น ความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานประกอบด้วย เช่น การที่จำเลยกล่าวเพื่อปกป้องตนเองมิให้ตำรวจกระทำการดังกล่าว ไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ฎีกาที่ 3231/2531
            3. การดูหมิ่นเจ้าพนักงานหมายถึง ดูหมิ่น ขณะเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ เช่น ขณะตรวจค้น ฎีกาที่ 5479/2536  จากการติดตามข่าว  ผมเห็นว่าพฤติกรรมของพันตำรวจโทสันธนะ ไม่น่าจะเข้าข่ายข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 136  เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ (ยกเว้นพนักงานสอบสวนมีพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิด มากกว่าที่เห็นจากสื่อมวลชน)

ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายอาญา

             มาตรา 136  ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คำพิพากษาฎีกาอ้างอิง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8919/2552

            การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว หรือทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า "ตอแหล" ว่า เป็นการด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393
           โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ไม่ได้บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และเป็นการป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือไม่ จึงมิใช่ประเด็นแห่งคดี การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาท และเป็นการป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมอันเป็นเหตุยกเว้นความผิดของจำเลย จึงมิใช่การอุทธรณ์ในประเด็นแห่งคดีและโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
            การกระทำที่จะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 68 นั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ ผู้นั้นจำต้องกระทำการนั้นเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำเนื่องจากเชื่อโดยสุจริตว่าถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้ง จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น แม้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 200 บาท ต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 194 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยแต่เพียงว่า เหตุที่จำเลยด่าว่าผู้เสียหาย เนื่องจากเข้าใจว่าถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้งในเรื่องการขอสำเนาเอกสาร กับถูกผู้เสียหายกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกาย มิใช่เกิดเนื่องจากการที่ผู้เสียหายได้กระทำการตามหน้าที่ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะที่จำเลยกล่าวถ้อยคำตามฟ้องต่อผู้เสียหายนั้น มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า จำเลยพยายามแก้ไขความเข้าใจผิดและป้องกันชื่อเสียงของตนที่ถูกใส่ร้าย การตกอยู่ในวงล้อมของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และมีการตามเจ้าหน้าที่อื่นๆ ให้เข้ามาอีก ทำให้จำเลยอยู่ในสภาวะคับขันนั้น อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา เพื่อจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4327/2540
            การกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 คือ "ดูหมิ่น" ซึ่งหมายถึงการด่า ดูถูกเหยียดหยามหรือสบประมาทให้อับอายถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อ ข. เจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ว่า "แน่จริงมึงถอดเสื้อมาต่อยกับกูเลย" เป็นการกล่าวท้าทายให้ ข. ออกมาต่อสู้กับจำเลยเป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นที่พอจะให้เข้าใจว่าจำเลยมีความมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียดหยามหรือสบประมาทให้ ข. อับอายแต่อย่างใดการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2532
           จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่เกิดเหตุได้ พบกลุ่มเยาวชนกำลังขัดขวางการปฏิบัติการตาม หน้าที่ และข่มขืนใจเจ้าพนักงานสรรพสามิตให้ปล่อยตัว อ. ผู้ต้องหา ให้คืนสุราแช่ของกลาง ให้มอบบันทึกการจับกุม และการตรวจ ค้นยึดสุราแช่จำเลยที่ 1มิได้ทำการจับกุมในทันที ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิด เหตุการณ์รุนแรงขึ้นนั้น ยังถือ ไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ ละเว้นการปฏิบัติการตาม หน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยที่ 1 กล่าวแก่เจ้าพนักงานสรรพสามิตซึ่ง ทำการจับกุม อ.ผู้ต้องหาว่า "โคตรแม่มึงเวลาเขาลักขโมยควายไป 2-3 วัน ตาม หาไม่เจอเวลามีสุราทำไมจับเร็วนัก พวกคุณมาสร้างปัญหา คุณไม่ต้องมามองหน้าผมหรอก คุณเป็นหัวหน้าส่วนกระจอก ๆ ผมไม่กลัวคุณหรอก ใหญ่กว่านี้ผมก็ไม่กลัว" เป็นการพูดเปรย ขึ้นมาเพื่อประชดประชันว่า ทำไมเรื่องสุราจับเร็วนัก และเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพ มิใช่เป็นการสบประมาทเหยียดหยามดูหมิ่น เจ้าพนักงานผู้กระทำการตาม หน้าที่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 860/2521
             จำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดผู้หนึ่งได้ไปสอบถามผู้เสียหายซึ่งเป็นนายอำเภอ ถึงเรื่องที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่มีชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทางการปิดประกาศไว้ ผู้เสียหายให้ไปสอบถาม ป. ปลัดอำเภอซึ่งผู้เสียหายมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่เรื่องนี้ แต่จำเลยจะขอสอบถามผู้เสียหายเท่านั้น ผู้เสียหายก็ยืนกรานให้ไปถาม ป. จำเลยจึงพูดว่า "คุณเป็นนายอำเภอได้อย่างไรไม่รับผิดชอบ" ดังนี้เป็นการกล่าวถ้อยคำที่ไม่สุภาพต่อเจ้าพนักงานเท่านั้น ไม่ถึงกับเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 (ประชุมใหญ่ครั้งที่9/2521)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3231/2531
           เจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นรถของจำเลย ครั้งแรกจำเลยไม่ยอมให้ค้นเนื่องจากเกรงว่าตำรวจจะกลั่นแกล้งเพราะเหตุที่เคยมีสาเหตุกับตำรวจนั้นมาก่อนในที่สุดจำเลยยอมให้ค้นดังนี้ เห็นได้ว่าจำเลยขาดเจตนาต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา138
           การที่จำเลยว่าตำรวจจะเอาของผิดกฎหมายใส่รถจำเลย ตำรวจจะรุททำร้ายจำเลย ไม่แน่ใจว่าเป็นตำรวจ ตำรวจแต่งเครื่องแบบปล้นก็มี เป็นการกล่าวเพราะเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยถูกตำรวจกลั่นแกล้ง เนื่องจากตำรวจหาเหตุมาหยุดรถและค้นรถของจำเลยโดยเฉพาะ การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นจึงเป็นการปกป้องตนเอง มิให้ตำรวจกระทำการดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136
          ตำรวจรู้จักชื่อและที่อยู่จำเลยแล้วเพราะเคยไปค้นบ้านจำเลยมาก่อน ไม่มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องถามชื่อและที่อยู่จำเลยอีก การที่จำเลยมิได้แจ้งชื่อและที่อยู่ตามที่ตำรวจถาม จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 367.(ที่มา-ส่งเสริม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5479/2536
            เมื่อมีผู้ร้องเรียนว่าจำเลยมีพฤติการณ์น่าสงสัยโดยตอนกลางวันจะปิดบ้านและเก็บตัวอยู่ภายในบ้าน ตอนกลางคืนจึงออกจากบ้านไม่ยุ่งเกี่ยวกับเพื่อนบ้านและไม่ปรากฏว่าประกอบอาชีพอะไร สงสัยว่าภายในบ้านจะมีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุอันเป็นเหตุให้ออกหมายค้นได้ จำเลยใช้มือผลักหน้าอกของร้อยตำรวจโทป. ขณะเข้าตรวจค้นตามหมายค้นอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ การที่จำเลยชี้นิ้วและพูดด่าร้อยตำรวจโทป. กับพวกในขณะเข้าทำการตรวจค้นว่า "ไอ้พวกอันธพาลไอ้พวกฉิบหายไอ้มือปืน" และยังได้ร้องด่าอีกว่า "ตำรวจหัวควย" ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามจึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก