ดอกเบี้ยผิดกฎหมายต้องนำมาชำระต้นเงินเท่านั้น|ดอกเบี้ยผิดกฎหมายต้องนำมาชำระต้นเงินเท่านั้น

ดอกเบี้ยผิดกฎหมายต้องนำมาชำระต้นเงินเท่านั้น

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

ดอกเบี้ยผิดกฎหมายต้องนำมาชำระต้นเงินเท่านั้น

  • Defalut Image

นายทุนเงินกู้นับแต่นี้ไปหากินลำบาก โดยเฉพาะพวกที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

บทความวันที่ 1 ก.พ. 2561, 10:59

มีผู้อ่านทั้งหมด 1810 ครั้ง


ดอกเบี้ยผิดกฎหมายต้องนำมาชำระต้นเงินเท่านั้น

         นายทุนเงินกู้นับแต่นี้ไปหากินลำบาก โดยเฉพาะพวกที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หมายถึงเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยเป็นโมฆะทั้งสิ้น เหมือนกับไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ย คิดได้เฉพาะดอกเบี้ยผิดนัดเท่านั้น ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดังนั้นหากลูกหนี้กู้ยืมเงินจากนายทุนเงินกู้นอกระบบ และคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เงินที่ลูกหนี้ชำระไปทั้งหมด ต้องเอาไปหักจากต้นเงินที่กู้ยืม ทำให้หนี้ระงับเร็วขึ้น  ที่ผ่านมาศาลฎีกาเคยตัดสินทำนองว่าการชำระหนี้ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีหน้าที่ต้องชำระ เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจไม่สามารถนำไปหักจากต้นเงินได้ แต่ปัจจุบันไม่ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ จึงนำไปหักจากต้นเงินได้ ตัวอย่างคำพิพากษาแนวเดิมและแนวใหม่ ปรากฏตามตัวอย่างคำพิพากษาข้างล่างนี้
แนวคำพิพากษาแนวเดิม
1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11645/2554 
    โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยสัญญากู้ระบุว่า ดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่โจทก์นำสืบว่า ขั้นแรกตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือร้อยละ 3 ต่อเดือน จำนวนเงินที่จำเลยชำระมาแล้วเป็นการชำระดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย จำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ทั้งยังค้างชำระดอกเบี้ยอีกสามหมื่นบาทเศษ จึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้เต็มจำนวนกับดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญานับตั้งแต่วันกู้ ดังนี้เป็นการนำสืบเรื่องรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่ฟ้อง เมื่อได้ความว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ทั้งการรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ
    การที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิเรียกคืนจึงจะให้นำไปหักดอกเบี้ยตามกฎหมายหรือหักจากยอดต้นเงินไม่ได้
2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4738/2552
    จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 20,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน แต่ได้รับเงินกู้จากโจทก์เพียง 16,000 บาท เพราะโจทก์หักไว้เป็นค่าดอกเบี้ยล่วงหน้า 2 เดือน และโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เขียนสัญญากู้ยืมเงินว่ากู้เงินโจทก์จำนวน 160,000 บาท อันผิดไปจากความจริง อย่างไรก็ตามที่สัญญากู้ระบุจำนวนเงินกู้ไว้จำนวน 160,000 บาท แต่จำเลยต่อสู้และนำสืบหักล้างฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์เพียงจำนวน 20,000 บาท ก็เป็นเพียงการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์เท่านั้นหาใช่ทำให้เป็นสัญญากู้ปลอมแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงอาศัยสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมาฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมที่แท้จริงจำนวน 20,000 บาท ได้ จำเลยที่ 1 ผู้กู้และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ต้นเงินจำนวน 20,000 บาท ให้แก่โจทก์ ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธินำเงินจำนวน 4,000 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน รวม 2 เดือน ที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์หักไว้ขณะทำสัญญากู้ยืมเงินมาหักชำระหนี้ต้นเงินได้ เพราะเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 สำหรับข้อตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะทำสัญญาคู่สัญญามิได้มีเจตนาจะคิดดอกเบี้ยกันในอัตราดังกล่าวแต่ตกลงให้โจทก์คิดในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน อันเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียแล้ว โจทก์จึงไม่อาจคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ แต่เนื่องจากกรณีเป็นหนี้เงิน โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งคดีนี้สัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงให้ชำระเงินที่กู้ยืมคืนภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 อันเป็นกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และเมื่อความรับผิดของจำเลยทั้งสองเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 670/2549
แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเป็นโมฆะเพราะเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การชำระดอกเบี้ยจึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 ซึ่งจะนำมาหักชำระหนี้ต้นเงินไม่ได้
4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2654/2546    
    การชำระดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยความสมัครใจของลูกหนี้เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันต้องชำระ จึงไม่อาจนำมาหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับได้อีก ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246,247
แนวคำพิพากษาปัจจุบัน
อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560 
      โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด 
    นายทุนเงินกู้นอกระบบหากต้องการปล่อยเงินกู้และคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ต้องไปขออนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล มิฉะนั้นข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นโมฆะทั้งหมด และนอกจากนี้ยังมีความผิดตามพระราชบัญบัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ซึ่งมีโทษจำคุกสองปีและโทษปรับ 
 

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก