สิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง|สิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง

สิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

สิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง

วันนี้ได้นำเรื่องที่เกี่ยวกับสมาชิกมาฝากครับ คือเรื่องสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

บทความวันที่ 27 ส.ค. 2549, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 56264 ครั้ง


สิทธิและหน้าที่ นายจ้างและลูกจ้าง

                                  สิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง

                         ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

  1. เวลาทำงาน

-          วันหนึ่งต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมง และสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง

-          เว้นแต่เป็นงานอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงจะมีเวลาทำงานปกติวันหนึ่งต้องไม่เกิน 7 ชั่วโมง และสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 42 ชั่วโมง

  1. เวลาพัก

-          ในวันที่มีการทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานวันหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หลังจากที่ลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชั่วโมงติดต่อกัน

-          นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักครั้งหนึ่งน้อยกว่า 1 ชั่วโมง ได้แต่เมื่อรวมกันแล้ววันหนึ่งต้องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง

-          ข้อความดังกล่าวข้างต้นมิให้บังคับแก่กรณีที่ลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือเป็นงานฉุกเฉิน

  1. วันหยุดประจำสัปดาห์

-          ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า 1 วัน โดยมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน

-          ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ (ยกเว้นลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่าย)

-          นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้า กำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้

-          ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้า สะสมวันหยุดประจำสัปดาห์และเลื่อน ไปหยุดเมื่อใดก็ได้แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาสี่สัปดาห์ติดต่อกัน

-          กรณีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่แน่นอน ให้นายจ้างประกาศวันหยุดให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน และแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานตรวจแรงงานทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่ประกาศกำหนด

  1. วันหยุดตามประเพณี

-          ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วยในกรณีที่วันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไปและลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี

  1. วันหยุดพักผ่อนประจำปี

-          ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 6 วันทำงานและมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี

-          ให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน

-          สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบ 1 ปี นายจ้างอาจกำหนด วันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้

-          นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้

  1. การลาป่วย

-          ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยมีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วันทำงาน

  1. การลาคลอด

-          ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน โดยให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วยและให้นายจ้าง จ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง ซึ่งลาคลอดเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน

  1. การลาเพื่อทำหมัน

-          ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อทำหมันได้และสิทธิลาเนื่องจากการทำหมันตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนด และออกใบรับรองให้โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลานั้นด้วย

  1. การลากิจ

-          ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

  1. การลาเพื่อรับราชการทหาร

-          ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารโดยลาได้เท่ากับจำนวนวันที่ทางการทหารเรียก และได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 60 วันต่อปี

  1. การลาเพื่อฝึกอบรม

-          ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถตามหลักเกณฑ์และวิธีที่กำหนดในกฎกระทรวง

  1. ค่าจ้าง

-          เป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน ตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุด และวันเวลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่มีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

-          ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด

-          ถ้าไม่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่ใด ให้ถือว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานเป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของท้องที่นั้น (อัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐาน หมายถึง อัตราค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้าง กำหนดเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ)

  1. การหักค่าจ้าง

-          ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงหน้า ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดเว้นแต่เป็นการหักเพื่อ

(1)          ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้

(2)          ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน

(3)          ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง

(4)          เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

(5)          เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม

ซึ่งการหักตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบ และจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา 70 เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

  1. ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด

-          ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

-          ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุดให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วย ในวันทำงานตามจำนวนผลงาน ที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

-          ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดให้แก่ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

สำหรับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย        

แต่งานบางประเภทถึงแม้ว่าลูกจ้างจะได้ทำงานล่วงเวลาในวันทำงานหรือทำงานล่วงเวลาในวันหยุดลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดเช่น

1.           ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ การลดค่าจ้างหรือการเลิกจ้าง

2.           งานขบวนการจัดงานรถไฟ ซึ่งได้แก่งานที่ทำบนขบวนรถและงานอำนวยความสะดวกแก่การเดินรถ

3.           งานเปิดปิดประตูน้ำหรือประตูระบายน้ำ

4.           งานอ่านระดับน้ำและวัดปริมาณน้ำ

5.           งานดับเพลิงหรืองานป้องกันอันตรายสาธารณะ

6.           งานที่มีลักษณะหรือสภาพที่ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้

7.           งานอยู่เวรเฝ้าดูสถานที่หรือทรัพย์สินอันมิใช่หน้าที่การทำงานตามปกติของลูกจ้าง

8.           งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

                        ทั้งนี้ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างแต่ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานตาม ข้อ 2,3,4,5,6,7,8 มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ

  1. การทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด

-          ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น

-          นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้สำหรับกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และเพื่อประโยชน์แก่การผลิต การจำหน่าย และการบริการนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานนอกจากที่กำหนดข้างต้นเท่าที่จำเป็นโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป

-          ในกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักไม่น้อยกว่ายี่สิบนาทีก่อนที่ลูกจ้างเริ่มทำงานล่วงเวลา (ยกเว้นงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือเป็นงานฉุกเฉิน)

  1. การจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

-          สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอน เมื่อครบกำหนดเวลาในสัญญาจ้าง สัญญาจ้างย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงโดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

-          สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาจ้างไว้เมื่อนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างอาจบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ลูกจ้างทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน แต่นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานในทันทีได้และให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างดังกล่าวเป็นการจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย

                                    แต่ในกรณีที่ลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของนายจ้าง ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร กระทำความผิดร้ายแรงฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในเรื่องสำคัญ กระทำการไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องและสุจริตและเหตุอื่นตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 เป็นต้น นายจ้างอาจเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบ

  1. ค่าชดเชย

-          ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

1.   ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วันแต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

2.   ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 90 วัน สุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานคำนวณเป็นหน่วย

3.   ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

4.   ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

5.   ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี ขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วัน สุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

-          ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่ายหรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง นายจ้างต้องปฏิบัติดังนี้

1.   ให้นายจ้างแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานและลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง

2.   ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาหกสิบวัน นอกจากจะต้องจ่ายค่าชดเชยแล้วนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

                                    ในกรณีที่มีการจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ.ด้วย

 

                        นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติดังต่อไปนี้

1.   ลูกจ้างทำงานติดต่อกันเกินหกปีขึ้นไปให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่ม่ขึ้นจากค่าชดเชยปกติซึ่งลูกจ้างนั้นมีสิทธิได้รับอยู่แล้วไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทำงานครบหนึ่งปีหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทำงานครบหนึ่งปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

2.   ค่าชดเชยพิเศษนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงานสามร้อยหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

3.   เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษกรณีระยะเวลาทำงานไม่ครบหนึ่งปี ถ้าเศษของระยะเวลาทำงานมากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทำงานครบหนึ่งปี

-          ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบ สำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว

-          นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วยให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามปกติ

-          ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบการย้ายสถานประกอบกิจการล่วงหน้าให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันหรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

            ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำขอให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการว่าเป็นกรณีที่นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษหรือไม่

            คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานให้เป็นที่สุด เว้นแต่นายจ้างหรือลูกจ้าง จะอุทธรณ์คำวินิจต่อศาลภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย

           

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 94

 อยาทราบว่าในกรณีหยุดงานเกินกำหนดเขตมีสิทหักเงินจากเงินตกเบิกไมค่ะคือโดนหักไปประมานวันละ370บาทอะค่ะแล้วเดือนต่อมามีการหักเงินเดือนไว้ก่อนล่วงหน้าคือหยุด3วัยโดนหักไว้8วันอะค่ะในกรณีนี้ถูกต้องไมค่ะช่วยแนะนำด้วยค่ะ

โดยคุณ เอ๊ะ 30 ก.ย. 2559, 13:24

ความคิดเห็นที่ 93

 ผมทำงานอยู่บริษัท1....วันหยุดประจำปี13วันก็ไม่ได้...สองแรงทั้งที่มาทำ..โอทีก็ไม่มีให้....รายการหักก็ไม่ยอมแจ้งในใบสลิป....ผมเป็นพนังงานขับรถส่งของ...

โดยคุณ 25 พ.ค. 2559, 22:13

ความคิดเห็นที่ 92

 เรียนสอบถาม ดิฉัน ลาคลอด 60 วัน เมื่อถึงการประเมินสิ้นปี นายจ้างไม่ขึ้นเงินเดือนให้ โดนอ้างว่า ดิฉันได้ทำงานไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด และอ้างที่ดิฉันลาคลอดมาพิจารณาด้วย ไม่ทราบว่าสามารถฟ้องร้องได้หรือไม่

โดยคุณ หนู 21 พ.ย. 2558, 06:25

ตอบความคิดเห็นที่ 92

กรณีมีคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ท่านซึ่งเป็นลูกจ้างจึงมีสิทธิฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวก็ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1)(2)

โดยคุณ ทีมงานทนายคลายทุกข์ (สมาชิก) 24 ธ.ค. 2558, 10:15

ความคิดเห็นที่ 91

กรณีมีคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ท่านซึ่งเป็นลูกจ้างจึงมีสิทธิฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวก็ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1)(2)

โดยคุณ ทีมงานทนายคลายทุกข์ (สมาชิก) 24 ธ.ค. 2558, 10:15

ความคิดเห็นที่ 90

 แล้วถ้าทำงานแบบติดต่อกัน11ชั่วโมงโดยไม่มีพักแล้วยังไม่มีโอทีผมครวนทำยังงัยคัฟเพื่อรักษาประโยชของผม

โดยคุณ 13 ก.ย. 2558, 22:15

ความคิดเห็นที่ 89

อยากจะสอบถามว่าถ้าลูกจ้างทำงานไม่เต็มที่ เฉื่อยแฉะ ไม่สนใจว่างานจะเสร็จตามเป้าหรือไม่ และลูกจ้างคอยแต่พูดกระทบกระทั้งเพื่อนร่วมงานคนอื่น (เช่นพนักงานออฟฟิต) ว่าทำไมพนักงานออฟฟิตไม่มาช่วยพวกเขาทำงาาน (ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นหน้าที่ของเขา) การกระทำของลูกจ้างเหล่านี้ทำให้เพื่อนร่วมงานทำงานไม่มีความสุข เพราะเขามาคอยจับจ้องว่าพนักงานออฟฟิตทำอะไร ทำไมลางานบ่อย 

มีอยู่ครั้งหนึ่งหัวหน้างานของเขาเรียกมาประชุมก่อนเวลาเลิกงาน ครึ่งชั่วโมงแต่พอดีว่าเราประชุมไม่เสร็จภายในครึ่งชั่วโมง ซึ่งมันถึงเวลาเลิกงานแล้ว แต่มีลูกจ้างหนึ่งคนที่เดินออกไปจากที่ประชุมโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ แล้วบอกว่าไม่สนหรอกจะกลัับแล้ว ลูกจ้างที่กล่าวมานี้ไม่ได้ให้ความเคารพกับหัวหน้างานเลย 

ดิฉันอยากทราบว่าจะทำยังไงได้บ้างค่ะ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นนี้ เพื่อที่จะไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก และทำให้ลูกจ้างให้เคารพต่อหัวหน้างาน ไม่พูดส่อเสียด หรือทำให้เพือนร่วมงานอึดอัด หรือมีวิธีไหนบ้างค่ะ ที่บริษัทสามารถเลิกจ้างเขาได้ เพื่อตัดปัญหานี้ทิ้งไป 

บริษัทเป็นบริษัทเล็กๆ ค่ะ อยู่กันแบบครอบครัว แต่รู้สึกจะเป็นกันเองเกินไปจนไม่มีความยำเกรงหรือความเคารพ ให้กับเพือนร่วมงานและหัวหน้างานเลยค่ะ

โดยคุณ เบิร์ด 5 พ.ค. 2558, 16:48

ความคิดเห็นที่ 88

สวัสดีค่ะ หนูลาคลอด 90วัน บริษัทจ่าย 45 วัน ประกันสังคมจ่าย 45 วัน

แต่หนูมีรายได้อื่นๆจากบริษัท(ค่าครองชีพ) ซึ่งปรกติจะเป็นรายได้ฟิตประจำทุกเดือนอยู่แล้ว

แต่ระหว่างที่ลาคลอดไป หนูจะต้องยังได้รับรายได้ตรงนี้อยู่มั้ย (ถ้าได้ ได้เต็มหรือเปล่าคะ)

โดยคุณ วัล 20 ก.พ. 2558, 08:22

ความคิดเห็นที่ 87

 ปกติห้างร้านบริษัทตามกฎหมายจะต้องมีวันพักร้อนให้กับพนักงานหรือไม่  ถ้ามีให้มีกี่วันต่อปีและเราสามารถเรียกร้องได้หรือเปล่า และถ้าห้างร้านบริษัทนั้นไม่มีวันพักร้อนให้พนักงานผิดกฎหมายหรือไม่

อยากทราบจริงๆๆครับ  เพราะผมทำงานมา 13 ปีไม่เคยมีวันพักร้อนเลยแล้วโบนัสก็ไม่เคยมี

โดยคุณ 5 ก.พ. 2558, 18:21

ตอบความคิดเห็นที่ 87

สิทธิการหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นสิทธิตามกฎหมายของลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานโดยกฎหมายบังคับให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541

โดยคุณ ทีมงานทนายคลายทุกข์ (สมาชิก) 11 มี.ค. 2558, 10:05

ความคิดเห็นที่ 86

สิทธิการหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นสิทธิตามกฎหมายของลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานโดยกฎหมายบังคับให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541

โดยคุณ ทีมงานทนายคลายทุกข์ (สมาชิก) 11 มี.ค. 2558, 10:05

ความคิดเห็นที่ 85

อยากทราบว่าบริษัทมีสิทธิ์บังคับให้ใช้วันหยุดพักร้อนไหมทั้งที่ตรงกับเทศกาลปีใหม่ซึ่งรัฐบาลให้หยุด5วัน ส่วนคนที่ยังทำงานไม่ถึง1ปียังไม่มีพักร้อนทางบริษัทก็หักค่าแรงทั้งที่บริษัทก็หยุด

โดยคุณ 14435 22 ธ.ค. 2557, 13:27

ความคิดเห็นที่ 84

 ดิฉันทำงานโรงพยาบาลสัตว์  แต่ที่นี้ไม่มีสวัสดิการอะไรนอกจากประกันสังคม  แล้วก็วันหยุดตามประเพณีตามที่กรมแรงงานกำหนด  ก็ไม่ได้หยุดกัน  หากทำงานในวันหยุดตามประเพณีที่กรมแรงงานกำหนด  ทางดิฉันจะได้ค่าจ้างกี่แรงค่ะ

แล้วมันผิดกฎหมายไหมค่ะ  ทางโรงพยาบาลไม่มีวันหยุดตามแรงงานกำหนด

แต่โรงพยาบาลต้องเป็นให้บริการทุกวันเหมือนโรงพยาบาลคนทั่วไป

มีวิธีแก้ไขไหมค่ะ  

โดยคุณ ทีมงานคลายทุกข์ 3 พ.ย. 2557, 10:21

ความคิดเห็นที่ 83

 บริษัทไฟไหม้ แล้วนายจ้างโอนย้ายมาทำงานบริษัทในเครือแต่เราไม่สมัครใจ มีสิทธิ์เรียกค่าชดเชยมั้ยคะ

โดยคุณ อ้อ 23 ต.ค. 2557, 13:59

ตอบความคิดเห็นที่ 83

กรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวที่ลูกจ้างจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้หากไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วยโดยได้รับค่าชดเชยพิเศษตามความมาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541

โดยคุณ ทีมงานทนายคลายทุกข์ (สมาชิก) 21 พ.ย. 2557, 16:30

ความคิดเห็นที่ 82

กรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวที่ลูกจ้างจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้หากไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วยโดยได้รับค่าชดเชยพิเศษตามความมาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541

โดยคุณ ทีมงานทนายคลายทุกข์ (สมาชิก) 21 พ.ย. 2557, 16:30

ความคิดเห็นที่ 81

 สวัสดิ์ครับ

ผมเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง คือว่าผมทำงานมา3ปีแต่ทางบริษัทให้พนักงานลาพักร้อน3วันอีก3วันทางบริษัทจะเป็นคนกำหนดเองอยาอทราบว่าทางบริษัทมีสิทธิ์หรือป่าวครับ

โดยคุณ ต้อม 26 ก.ค. 2557, 16:48

ตอบความคิดเห็นที่ 81

หากปีหนึ่งนายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน กฎหมายให้สิทธินายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าได้โดยชอบตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 30

โดยคุณ ทีมงานทนายคลายทุกข์ (สมาชิก) 3 ก.ย. 2557, 10:56

ความคิดเห็นที่ 80

หากปีหนึ่งนายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน กฎหมายให้สิทธินายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าได้โดยชอบตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 30

โดยคุณ ทีมงานทนายคลายทุกข์ (สมาชิก) 3 ก.ย. 2557, 10:56

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก