ประกันภัยรับประกันสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า ต้องจ่ายค่าสินไหม    |ประกันภัยรับประกันสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า ต้องจ่ายค่าสินไหม    

ประกันภัยรับประกันสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า ต้องจ่ายค่าสินไหม    

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

ประกันภัยรับประกันสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า ต้องจ่ายค่าสินไหม    

  • Defalut Image

บริษัทประกันรับประกันภัยสต็อคสินค้า โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าในสต็อคสินค้ามีสินค้าที่ผิดกฎหมายอยู่ด้วย

บทความวันที่ 16 ก.ค. 2561, 12:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 936 ครั้ง


ประกันภัยรับประกันสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า ต้องจ่ายค่าสินไหม    

                บริษัทประกันรับประกันภัยสต็อคสินค้า โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าในสต็อคสินค้ามีสินค้าที่ผิดกฎหมายอยู่ด้วย ไม่ทำให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆะ ผู้รับประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย
    
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8265/2559
             การทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 นั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องร่วมรู้หรือมีความมุ่งหมายในการนั้น การทำสัญญาประกันอัคคีภัย ผู้ร้องไม่ทราบว่าสินค้าที่เอาประกันภัยเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์หรือละเมิดเครื่องหมายการค้าซึ่งถือเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ตัวแทนของผู้ร้องเพียงแต่ถ่ายภาพสินค้าในตู้โชว์สินค้าไว้เพียงภาพเดียว ผู้คัดค้านไม่เคยแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวให้ทราบว่าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่และผู้ร้องไม่เคยทราบหรือล่วงรู้ว่าสินค้าที่เอาประกันภัยไว้เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายเช่นนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องรู้รายละเอียดยี่ห้อนาฬิกาข้อมือ ระดับราคาหรือแหล่งที่มาของนาฬิกาที่ผู้คัดค้านนำมาขายย่อมเห็นได้ว่าผู้ร้องคงมีเจตนารับประกันภัยสินค้านาฬิกาข้อมือที่ผู้คัดค้านมีไว้เพื่อขายโดยทั่วไปเท่านั้น สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่านาฬิกาข้อมือดังกล่าวอาจจะมีลักษณะเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่นั้นผู้ร้องมิได้รู้เห็นด้วย สัญญาประกันอัคคีภัยในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือจึงทำขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านกรณีเกิดอัคคีภัยหรือภัยเพิ่มเติมที่ตกลงทำประกันภัย ซึ่งเมื่อผู้คัดค้านเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีไว้เพื่อขาย หากนาฬิกาข้อมือได้รับความเสียหายจากอัคคีภัยหรือภัยที่ระบุไว้ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านสูญเสียตัวทรัพย์หรือผลประโยชน์ที่จะได้จากทรัพย์สินนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านหาได้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ผู้ร้องและผู้คัดค้านจึงมีความผูกพันกันตามเงื่อนไขข้อตกลงและความรับผิดในการรับประกันอัคคีภัยที่มีผลบังคับโดยสมบูรณ์
          ผู้ร้องอ้างว่า นาฬิกาข้อมือที่ผู้คัดค้านเอาประกันอัคคีภัยสต็อกสินค้าไว้กับผู้ร้องเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่นนั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ผู้คัดค้านถูกดำเนินคดีอาญาฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น ซึ่งหากศาลในคดีอาญาลงโทษผู้คัดค้านโดยให้ริบสินค้านาฬิกาข้อมือปลอม ผู้คัดค้านก็จะไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินส่วนนั้นอีกต่อไป แต่ตราบใดที่ผู้คัดค้านยังคงยึดถือและครอบครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีไว้เพื่อขายในฐานะเจ้าของสินค้าเหล่านั้นโดยผู้คัดค้านไม่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับสินค้านาฬิกาข้อมือดังกล่าว ต้องถือว่าไม่มีบุคคลใดมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นดีกว่าผู้คัดค้าน หากถือตามที่ผู้ร้องอ้างว่า สัญญาประกันอัคคีภัยกรณีนี้ไม่ให้ความคุ้มครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น และผู้ร้องไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือที่ผิดกฎหมาย ก็จะเป็นการระงับสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งที่ไม่มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้คัดค้านในความผิดตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง จึงเสมือนกับผู้ร้องสามารถอ้างเอาว่าการกระทำใดๆ ของผู้คัดค้านเป็นความผิดในทางอาญาก็ได้ ซึ่งไม่น่าจะชอบด้วยเหตุผล การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือให้แก่ผู้คัดค้าน ก็เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประกันอัคคีภัยซึ่งมีผลผูกพันคู่สัญญาโดยชอบ คำชี้ขาดในส่วนนี้เป็นการบังคับตามสัญญาเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น มิได้มีผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวมแต่อย่างใด การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือ 2,012,446.75 บาท จึงหาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
          การชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย การกำหนดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น เมื่อตามสัญญาประกันอัคคีภัยมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องรับผิดในดอกเบี้ยในกรณีที่ผู้ร้องผิดนัดชำระค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อไปได้ ผู้คัดค้านก็ไม่มีเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ได้ทั้งการที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น เห็นว่า เป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการใช้อำนาจกำหนดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่ผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องหรือวันอื่นหลังจากนั้นโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (6) เมื่อข้อต่อสู้ที่ผู้ร้องยกขึ้นต่อสู้ว่าสินค้าที่นำมาเอาประกันภัยเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย สัญญาประกันภัยไม่คุ้มครอง ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นโดยตรงและเป็นสาระแก่คดี กรณีจึงไม่มีเหตุให้อนุญาโตตุลาการที่จะกำหนดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังนี้ การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในส่วนที่ให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ตามมาตรา 40 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545

ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 150
 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา 224  หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
               ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด
               การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้
มาตรา 1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 142
 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่
               (6) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยซึ่งมิได้มีข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ เมื่อศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องหรือวันอื่นหลังจากนั้นก็ได้

พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
มาตรา 40
 การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้
             คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด หรือถ้าเป็นกรณีมีการขอให้คณะอนุญาโตตุลาการแก้ไขหรือตีความคำชี้ขาด หรือชี้ขาดเพิ่มเติม นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขหรือตีความคำชี้ขาดหรือทำคำชี้ขาดเพิ่มเติมแล้ว
        ให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(2) มีกรณีปรากฏต่อศาลว่า
             (ข) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
              ในการพิจารณาคำร้องให้เพิกถอนคำชี้ขาด ถ้าคู่พิพาทยื่นคำร้องและศาลพิจารณาเห็นว่ามีเหตุผลสมควร ศาลอาจเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปตามที่เห็นสมควร เพื่อให้คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งที่คณะอนุญาโตตุลาการเห็นสมควร เพื่อให้เหตุแห่งการเพิกถอนนั้นหมดสิ้นไป

ปรึกษาข้อกฎหมายกับทีมทนายความ ทนายคลายทุกข์ โทร.02-9485700, 081-6161425

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก